วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 18, 2563

เทปประชุมกมธ.กฎหมายฯ วาระพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีคุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกลักพาตัวหรือถูกบังคับสูญหายไประหว่างพำนักในประเทศกัมพูชา








[ผลการประชุม พิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีอุ้มหาย "วันเฉลิม"]
.
ช่วงเช้าวันนี้ (17 มิถุนายน 2563) คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณี คุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกลักพาตัวหรือถูกบังคับสูญหายไประหว่างพำนักในประเทศกัมพูชา
.
โดยมีผู้ที่มาชี้แจงทั้งหมด 8 ฝ่าย คือ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ, ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN OHCHR), ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม, ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด, ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ผู้แทนสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก, ผู้แทน Human Right Watch และผู้ร้อง
.
ส่วนเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ได้มีการประสานงานเข้ามาว่าไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้เนื่องจากติดภารกิจเร่งด่วน
.
โดยผมได้ถามต่อกระทรวงต่างประเทศถึงสถานการณ์ล่าสุดที่ได้รับรายงานจากทางฝั่งกัมพูชา ซึ่งมีการยืนยันว่าได้ประสานงานทางการทูตเพื่อติดตามเรื่องนี้แล้ว
.
ต่อประเด็นความคืบหน้าในการดำเนินการสืบสวนคดีของคุณวันเฉลิม ผู้แทนอัยการสูงสุด ได้มีการเสนอแนะว่าทางการไทยสามารถที่จะดำเนินคดีการหายตัวไปของคุณวันเฉลิมได้ โดยอาจริเริ่มจากผู้เสียหายไปแจ้งความกับตำรวจ และตำรวจทำสำนวนการสอบสวนมาเพื่อให้อัยการสูงสุดซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเป็นพนักงานสอบสวนในกรณีที่มูลคดีเกิดที่ต่างประเทศ
.
ในกรณีนี้เอง ประธานในที่ประชุมได้ขอมติที่ประชุมกรรมาธิการ เพื่อแจ้งให้พี่สาวของคุณวันเฉลิม ดำเนินการตามที่ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดได้นำเสนอแนวทางการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีนี้ เนื่องจากมีช่องทางทางกฎหมายให้ดำเนินการภายในประเทศได้ ซึ่งทางพี่สาวของคุณวันเฉลิมได้ปรึกษากับอธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศแล้ว และเตรียมจะดำเนินการตามคำเสนอแนะนั้น
.
ในส่วนของนโยบายและมาตรการของ OHCHR ต่อกรณีของคุณวันเฉลิม ซึ่งผู้แทน OHCHR มองว่าประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ โดยเฉพาะเรื่องการต่อต้านการทรมานและการป้องกันบุคคลไม่ให้สูญหาย และยินดีที่ได้เห็นเวทีแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการหายตัวไปของคุณวันเฉลิม ทั้งยังยินดีที่ได้รับทราบว่าจะมีการผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ…. เป็นกฎหมายภายในประเทศต่อไปในไม่ช้า ทั้งนี้องค์กรและกลไกระหว่างประเทศมีความห่วงใยเรื่องการเยียวยาแก่ญาติผู้สูญหาย และดำเนินการให้มีการนำผู้เกี่ยวข้องมาลงโทษ
.
ในช่วงท้าย ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกลไกในการคุ้มครองสิทธิของคนไทยในต่างประเทศ ซึ่ง ผอ.กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม บอกกับผมว่าคณะกรรมการป้องกันและการปราบปรามการทรมานปฏิบัติงานตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีและมีหน้าที่คัดกรองติดตามสืบสวนและเยียวยาตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี และมีการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่ว่ามานี้แล้วในระหว่างที่ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายยังไม่ผ่านสภา
.
โดยสรุปแล้วประเด็นแรก คณะกรรมาธิการเห็นด้วยให้ผู้ร้อง ใช้กระบวนการการร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายไปแจ้งความกับตำรวจและตำรวจทำสำนวนการสอบสวนมาเพื่อให้อัยการสูงสุดซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเป็นพนักงานสอบสวนในกรณีที่มูลคดีเกิดที่ต่างประเทศ
.
ประเด็นที่สอง คณะกรรมาธิการขอให้ทาง สตช. รายงานข้อเท็จจริงต่อกรรมาธิการ กรณีมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเยี่ยมบ้านคุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่จังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์อุ้มหาย คุณวันเฉลิม ที่ประเทศกัมพูชา
.
ประเด็นสุดท้าย คณะกรรมาธิการยืนยันที่จะให้มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฉบับที่ภาคประชาชนนำเสนอ โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ดำเนินการพิจารณาร่วมกับภาคประชาชนโดยเร็ว และให้นำเสนอเพื่อขอมติคณะกรรมาธิการส่งเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
.
รังสิมันต์ โรม
โฆษกกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน



[ความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย]
.
ช่วงบ่ายวันนี้ (17 มิถุนายน 2573) ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งวันนี้มีวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฉบับที่ภาคประชาชนนำเสนอ
.
โดยก่อนหน้านี้ผมได้นำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มาปรับปรุงร่วมกับฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา วันนี้จึงเป็นการพิจารณาร่วมกันกับภาคประชาชนโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
.
ในการประชุมครั้งนี้ อนุกรรมาธิการทุกคนในคณะอนุกรรมาธิการฯ มีความตั้งใจและมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะให้มีพระราชบัญญติฉบับนี้ออกมาอย่างยิ่ง โดยมีการวางหลักเกณฑ์ว่าจะเคารพเจตนารมณ์ ตามร่างพระราชบัญญัติฉบับภาคประชาชนให้มากที่สุด โดยในส่วนของกฎหมายที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการอุ้มหาย หรือ การซ้อมทรมาน ที่ภาคประชาชนให้ความสำคัญมากที่สุดจะยังคงมีอยู่ดังเดิม
.
และเนื่องจากเป็นพระราชบัญญัติที่มีเนื้อหาที่มีความละเอียดค่อนข้างมาก จึงต้องประชุมถกเถียงพิจารณาให้เกิดความชัดเจนและเห็นพ้องต้องกันมากที่สุด โดยคาดหมายว่าจะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้ เพื่อนำเสนอเพื่อพิจารณาต่อไปยังสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ซึ่งผมคิดว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นกฎหมายฉบับที่ได้รับฉันทามติร่วมจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ในสภาโดยพร้อมเพรียงกัน
.
คณะอนุกรรมาธิการฯ เราหวังกันเป็นอย่างยิ่งว่าหากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ สามารถบังคับใช้ได้ จะสามารถขจัดปัญหาการซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลสูญหายในประเทศไทยได้ดียิ่งกว่าที่ผ่านมา
.
คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ใช้เวลาในการประชุมตั้งแต่เวลา 13.30 - 19.00 น. โดยจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาต่ออีกครั้งในวันพรุ่งนี้ ซึ่งผมจะนำบรรยากาศและผลการพิจารณามาแจ้งให้ทราบอีกครั้งครับ ขอบคุณครับ
.
รังสิมันต์ โรม
17 มิถุนายน 2563
ooo