วันอังคาร, มิถุนายน 02, 2563

ที่มาของการประท้วงด้วยการ “คุกเข่า” ✊🏽✊🏾✊🏿




#BlackLivesMatter กับเหตุผลที่ผู้คนต่างประท้วงด้วยการ “คุกเข่า” ✊🏽✊🏾✊🏿
.
หลังจากเหตุการณ์ที่ตำรวจมินนิอาโปลิส ได้เข้าทำการตรวจค้น #จอร์จฟลอยด์ โดยได้ใช้เข่ากดทับที่คอนายฟลอยด์เป็นเวลาหลายนาที ซึ่งเขาร้องขอชีวิตแล้วก่อนจะหมดสติและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับพลเมืองสหรัฐและนำไปสู่การชุมนุมประท้วงไปมากกว่า 30 เมืองใหญ่ในสหรัฐฯ
.
เราต่างได้เห็นว่าผู้คนมากมาย เริ่มกลับมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในประเด็นความรุนแรงของตำรวจต่อคนผิวสีในสหรัฐฯ ด้วยการ “คุกเข่า” เราจึงขอชวนมาย้อนดูว่าเหตุผลของที่ผู้คนต่างประท้วงด้วยวิธีการนี้เป็นมาอย่างไร?
.
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 "โคลิน เคเปอร์นิก" เป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงมากขึ้น ในช่วงก่อนฤดูกาลของการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลในลีกระดับชาติ (American National Football League) ปี 2016 โคลินคุกเข่าลงระหว่างการเปิดเพลงชาติสหรัฐฯ เป็นการแสดงท่าทีอย่างเคารพเพื่อเรียกร้องให้ประเทศนี้คุ้มครองและปกป้องสิทธิของคนทั้งปวง การกระทำที่กล้าหาญเช่นนี้เป็นการตอบโต้กับการสังหารคนผิวดำจำนวนมากโดยตำรวจ กระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างไม่ใช้ความรุนแรงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์
.
“การคุกเข่าเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ทางกายภาพ ผมต้องการท้าทายว่ายังมีการกีดกันและละทิ้งคนออกจากแนวคิดที่สนับสนุนเสรีภาพ อิสรภาพ และความยุติธรรมที่มีสำหรับทุกคน การประท้วงเช่นนี้มีรากเหง้ามาจากการหลอมรวมระหว่างความเชื่อทางศีลธรรมและความรักในเพื่อนมนุษย์ของผม” โคลินกล่าว
.
ต่อมา เขาก็ได้กลายเป็นกระแสโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อแบรนด์กีฬาชั้นนำอย่าง Nike ปล่อยโฆษณาคอนเซ็ปต์จัดจ้านโดยมีคำโปรยว่า "จงเชื่อมั่นในบางสิ่ง แม้จะต้องเสียสละซึ่งทุกสิ่ง" (Believe in something. Even if it means sacrificing everything) โดยใช้พรีเซ็นเตอร์อย่าง "โคลิน เคเปอร์นิก" นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลชาวสหรัฐ ก่อให้เกิดทั้งเสียงสนับสนุนจากแฟนๆ รวมทั้งนักกีฬาอย่าง “เซเลน่า วิลเลียม” และผู้ต่อต้านมากมายที่ต่างพากันเผาและทำลายสินค้าไนกี้จน #NikeBoycott กลายเป็น Trending บน Twitter รวมไปถึงมีผู้ต่อต้านที่ออกมาแสดงจุดยืนอย่างประธานาธิบดีทรัมป์
.
คอนเซ็ปต์ของโฆษณาในกี้ชิ้นนี้ไม่ใช่แค่เพียงคำกล่าวลอยๆ ว่า "จงเชื่อมั่นในบางสิ่ง แม้จะต้องเสียสละซึ่งทุกสิ่ง” เพราะหลังจากที่โคลิน เคเปอร์นิก ได้แสดงจุดยืนดังกล่าวจนกลายเป็นกระแสที่ทำตามกันในหมู่นักกีฬามากมาย กลับกลายเป็นว่าเขาต้องต่อสู้กับการหาโอกาสลงเล่นอเมริกันฟุตบอล เพราะเขากลายเป็นคนว่างงานตั้งแต่ต้นปี 2017 หลังเริ่มต้นคุกเข่าเพื่อแสดงจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับความไม่ยุติธรรมในสังคมสหรัฐฯ โดยเฉพาะกับสังคมผิวสี
.
แม้จะต้องเสียสละทั้งอนาคตและอาชีพการงาน แต่เขาก็ยังคงเคลื่อนไหวต่อ โดยโคลินได้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อต่อสู้กับการกดขี่ทุกรูปแบบทั่วโลก ด้วยการศึกษาและกิจกรรมทางสังคม และสนับสนุนทุนในแคมเปญ “Know Your Rights Camp” ซึ่งเปิดให้เยาวชนได้เข้าร่วมฟรี โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนผิวสีเห็นความสำคัญของการศึกษา เห็นคุณค่าของตัวเอง และแนะนำวิธีการต่อสู้ในทางกฎหมายหากถูกเลือกปฏิบัติ
.
ในต้นปี 2561 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้มอบรางวัล Ambassador of Conscience award หรือ “รางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก” ให้กับโคลิน เคเปอร์นิก (Colin Kaepernick) นักกีฬาและนักกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก และโคลิน เคเปอร์นิก กล่าวในการรับรางวัลครั้งนี้ว่า
.
“ผมขอขอบคุณแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสำหรับรางวัลนี้ แต่ความจริงแล้ว ผมควรได้รับรางวัลนี้พร้อมกับคนอีกจำนวนมากทั่วโลก ที่ช่วยกันต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากน้ำมือของตำรวจ และการใช้กำลังปราบปรามจนเกินกว่าเหตุ ผมอยากอ้างคำพูดของมัลคอม เอ็กซ์ (Malcolm X) ซึ่งเคยบอกไว้ว่า เขา ‘พร้อมจะเข้าร่วมกับทุกคน ไม่ว่าจะมีสีผิวใด ตราบที่คนเหล่านั้นต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพที่เลวร้ายซึ่งดำรงอยู่ในโลก’ ผมขอร่วมมือกับทุกท่านในการต่อสู้กับความรุนแรงจากการกระทำของตำรวจ”
.
สุดท้ายแล้ว แม้ว่าการเลือกแสดงออกจุดยืนอย่างชัดเจนของ โคลิน เคเปอร์นิค ในครั้งนั้นต้องยอมแลกด้วยอนาคตและความก้าวหน้าในสายอาชีพเพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่หลายคนอาจกล่าวหาว่า “บ้า” แต่เขาอาจตอบเรากลับด้วยคำพูดในตอบจบของโฆษณา Nike ว่า “จงถามตัวเองว่าบ้าพอหรือยัง”
.
อ่านบทความ "นักกีฬา / เผาไนกี้ / สิทธิมนุษยชน : เมื่อ Just Do It ไม่ใช่แค่คำเก๋ๆ" https://buff.ly/2Xjz8Qj
.
แถลงการณ์แอมเนสตี้ สหรัฐฯ กรณีการชุมนุมประท้วงจากการณีการเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์" https://buff.ly/2ZT8nE2
.
ภาพ © Thearon W. Henderson/Getty Images
....