“การปราบปรามคนเสื้อแดงเมื่อปี’53 เกิดขึ้นเพราะชนชั้นนำไม่พอใจผู้ชุมนุม แต่เขาฆ่าได้เฉพาะชีวิตผู้คน แต่ฆ่าอุดมการณ์ ความคิด ความฝันของประชาชนไม่ได้” รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ ม.พะเยา
ซีรีส์ชุด “1 ทศวรรษ พฤษภาฯ เลือดปี’53” (32) – อำนาจอนุรักษ์นิยมล้างบางคนเสื้อแดง
11/06/2020
อติเทพ จันทร์เทศ เรื่องและภาพ
Isaan Record
ค่ำคืนของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 อันเป็นห้วงเวลาหลังคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ พรรคการเมืองที่มีเสียงคนรุ่นใหม่สนับสนุนกว่า 6 ล้านเสียง แต่วันนั้นเสียงของ 6 ล้านเสียงแทบไร้ความหมาย
ผมพบ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ ม.พะเยา และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้สนใจการเมืองตลอดชีวิตที่ร้านหนังสือแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นการนัดรวมตัวของนักวิชาการและนักศึกษา ทั้งไทย-ต่างชาติกว่า 20 ชีวิตที่อึดอัดกับคำตัดสินของศาลฯ จนต้องหาแหล่งรวมตัวเพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุย
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์อย่าง รศ.ดร.ไชยันต์ จึงเป็นหัวเรือใหญ่ที่อธิบายปรากฏการณ์นั้นให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นภาพการทำงานของฝ่ายอำมาตย์ที่ครอบงำสังคมไทยมานานและจะอยู่ต่อไปอีก 20 ปี
ไม่เพียงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทยเท่านั้น แต่เมื่อปี 2553 ผู้อาวุโสคนนี้ยังคลุกคลีกับการเมืองของคนรากหญ้าที่เรียกตัวเองว่า “คนเสื้อแดง” เพราะเชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องของประชาชนที่สามารถกำหนดอนาคตของตัวเอง
“ราชประสงค์ปี’53 ไม่ใช่เรื่องที่ลืมกันง่ายๆ อาจจะไม่ได้พูดถึงหรือถูกกดเอาไว้ เรื่องราวเหล่านั้นถูกเก็บเงียบมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา” ผู้อาวุโสในวงการรัฐศาสตร์เอ่ยเพื่ออธิบายปรากฏการณ์แห่งความทรงจำที่พยายามทำให้ลืม
ชนชั้นนำไม่คิดปราณี
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ในวัย 72 ปี เห็นโลกผ่านเกมการเมืองไทยและการเมืองต่างแดนมานานเกือบเท่าอายุ เขาจึงสรุปปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า
“หลังเหตุการณ์การเมืองไทยปี 2475 รูปแบบการเมืองของประเทศไทยมีตัวกระตุ้น รวมทั้งมีเงื่อนไขให้เกิดวงจรรัฐประหารอยู่เสมอ และตั้งแต่ปี 2553 ก็มีการใช้เครื่องมือ ใช้วิธีการปราบปราม ถึงขนาดที่ต้องฆ่าคนมากกว่า 94 ศพ นับว่าเป็นมาตรการขั้นสูงสุดทางการเมืองไทย นี่คือสูงสุดแล้ว”
เขาบอกว่า ประวัติศาสตร์การเมืองไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์ใดสังหารผู้คนได้มากขนาดนี้ แต่เหตุการณ์ปี 2553 เป็นการใช้มาตรการที่โหดร้ายเพื่อหวังผลทางการเมือง
“การปราบปรามคนเสื้อแดงเมื่อปี’53 เกิดขึ้นเพราะชนชั้นนำไม่พอใจผู้ชุมนุม แต่เขาฆ่าได้เฉพาะชีวิตผู้คน แต่ฆ่าอุดมการณ์ ความคิด ความฝันของประชาชนไม่ได้” รศ.ดร.ไชยันต์กล่าวยืนยันในอุดมการณ์ของคนรากหญ้าที่มีต่อประชาธิปไตย
แม้หลังรัฐประหารปี 2557 เขาจะเห็นว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จะยังถูกปราบปรามโดยฝ่ายความมั่นคง แต่ผู้คนเหล่านั้นก็ส่งเสียงออกมาผ่านการเลือกตั้งที่เห็นตรงกันข้ามกับฝ่ายทหาร
กำราบฝ่ายหัวก้าวหน้า
ในช่วงจังหวะเดียวกัน คือ หลังรัฐประหาร 2557 เขายังเห็นว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมความพยายามเตะตัดขาระบอบทักษิณที่มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้นำด้วยข้อหาคอร์รัปชั่นจากกรณีการจำนำข้าว ซึ่งต้องยอมรับว่าชนชั้นกลางเชื่อแบบปักใจว่าเป็นเรื่องจริง เพราะเป็นนโยบายที่คนรากหญ้าได้ผลประโยชน์
“ต่อมาก็พรรคอนาคตใหม่ เป็นการยุบพรรคที่ไม่มีเหตุ พูดตรงๆ คือ เป็นการกำราบฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายชนชั้นนำ เหตุผลการกำราบไม่คงเส้นคงวาอะไรเลย” รศ.ดร.ไชยันต์วิพากษ์การยุบพรรคที่เป็นชนวนเหตุให้คนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านทั้งประเทศ
โดยเขาวิเคราะห์ว่า กลไกทางกฎหมายถือเป็นมาตรการสำคัญที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมใช้กำราบผู้เห็นต่าง แต่การใช้มาตรการนี้ก็มีผู้สนับสนุนและรองรับการใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็น สื่อ ภาคประชาสังคม กำลังทหาร เป็นต้น
“ผมยังมองว่า ทหารคืออาวุธที่สูงสุดและร้ายแรงสุด หลังปี 2500 ฝ่ายทหารเป็นฝ่ายค้ำจุนชนชั้นนำ ทั้งสองกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญล้วนมาจากทหาร โดยเฉพาะการรัฐประหาร”
รัฐประหารอำนาจของชนชั้นนำ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำรัฐประหารแต่ละครั้งมักเป็นเรื่องกลุ่มชนชั้นนำถ่ายเดียว แต่เบื้องลึกเบื้องหลังแล้ว ยังมีผู้มีส่วนได้เสียอีกเป็นกุรุส เรื่องนี้ไชยันต์ให้ความเห็นว่า ตัวผู้นำไม่ใช่ทั้งหมดของการก่อรัฐประการ ผู้นำเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น
“เช่นเดียวกับการล้อมปราบคนเสื้อแดง ฝ่ายเขาก็ประเมินไว้แล้วแทบทั้งสิ้น ไม่ใช่เฉพาะตัวผู้นำฝ่ายเดียวที่ประเมิน เพราะผู้นำเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง” เขากล่าวพร้อมกับยกตัวอย่างการยุบพรรคอนาคตใหม่ว่า “การยุบอนาคตใหม่ก็ไม่ใช่ตัดสิทธิหัวหน้าพรรคฯ เลขาพรรคฯ หรือคนเด่นๆ ที่เราเห็นเท่านั้น แต่มันคือคน 6 ล้านที่เห็นด้วยและสนับสนุนแนวคิด นี่เป็นสิ่งที่ฝ่ายชนชั้นนำเกรงกลัวมาก”
“อย่าดูถูกสติปัญญาของมวลราษฎร คนชนชั้นนำอาจจะคิดว่า ราษฎรไม่รู้เรื่อง ถูกชักจูงง่าย โง่เขลา” ไชยันต์ รัชชกูล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ ม.พะเยา
ถอดบทเรียนปี’53
แม้หลายฝ่ายจะเรียกร้องให้ถอดบทเรียนเหตุการณ์ความรุนแรงปี 2553 ด้วยการใช้ประชาธิปไตยเปลี่ยนผ่านเพื่อนำสังคมไทยไปสู่ความเท่าเทียม แต่ รศ.ดร.ไชยันต์เห็นว่า สังคมไทยถอดบทเรียนกันมามากแล้ว ส่วนใหญ่เป็นการอิงกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในอดีตที่มักเกิดในลักษณะเดิม ทั้งที่ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
“หลังเหตุการณ์ความรุนแรงก็มีคนบอกว่า อย่าลงถนนอีก เพราะมันจะเกิดแบบพฤษภาปี’53 ทำแบบนี้ไม่ได้มันจะเกิดแบบ 6 ตุลาฯ 2519 ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว อาจจะไม่ใช่ ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ผมไม่เชื่อ” เป็นประสบการณ์จากการสังเกตการเคลื่อนไหวทางการเมืองของยุคต่างๆ ที่เขาเห็นว่าแต่ละยุคสมัยก็มีเงื่อนไขต่างกัน
เขาบอกว่า การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นชป.) นั้น ถือว่าเห็นเป็นรูปธรรมมาก เพราะพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนได้วางฐานมาเกือบ 10 ปี ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ตอนนั้นคนส่วนใหญ่เป็นชาวรากหญ้าและชาวบ้าน สนับสนุนและกลายเป็นขุมกำลังของฝ่ายของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหลายพื้นที่
“ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เขา (ฝ่ายอำนาจเก่า) ต้องกำราบ ไม่ใช่แค่การทำลายพรรคการเมือง ทำลายรัฐธรรมนูญหรือฆ่าคนเห็นต่างเท่านั้น แต่เขายังพยายามกำจัดขุมอำนาจของทักษิณและสับเปลี่ยนคนเข้ามาทำงานการเมืองในองค์กรต่างๆ เพื่อให้รับใช้พวกเขา”รศ.ดร.ไชยันต์ขมวดแนวคิดของกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่พยายามใช้อำนาจตัดระบอบทักษิณ
เขายังยกตัวอย่างองค์กรที่เป็นมือเป็นไม้ให้กับฝ่ายอนุรักษ์นิยม เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีเป้าหมายของการก่อตั้งองค์กรเพื่อดูแลไม่ให้ซื้อเสียง จัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม แต่องค์กรเหล่านี้กลับไปขึ้นอยู่กับอำนาจส่วนกลาง และอีกองค์กรที่มีปัญหา คือ ศาลรัฐธรรมนูญ
10 ปีผ่านมา ประชาชน ถูกทำให้ลืม
เหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2553 ผ่านมาแล้วกว่า 10 ปี แต่เมื่อถึงวันครบรอบก็มีเพียงคนกลุ่มเล็กๆ จัดงานเพื่อรำลึกถึงคนที่สูญเสียและผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่การสร้างอนุสาวรีย์ให้ผู้คน “รำลึก-จดจำ” ยังไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดใด ตรงกันข้ามกลับมีการไล่ล่าเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง “จำเป็นต้องลืมคนเสื้อแดง”
“เขาไม่ลืม เขาไม่อยากให้จดจำมากกว่า แต่เรื่องนี้ไม่มีในสื่อกระแสหลัก ไม่มีคนออกมาแสดงรำลึก มีแต่ญาติพี่น้องคนตาย ราชประสงค์เช่นกัน แต่ก็ไม่ใช่จะลืมกันได้ง่าย มันไม่ถูกพูดถึงมากกว่า มันถูกกดเอาไว้ แต่ความเป็นจริงที่โหดร้ายมันยังอยู่และไม่ได้หายไปตามกาลเวลาง่ายๆ” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์เน้นย้ำในประเด็นนี้
เขายังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ประชาชนไม่มีทางสู้อำนาจรัฐหรืออำนาจทหารหรืออำนาจทางกฎหมายได้ แต่อำนาจของประชาชนยังมีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย
“อย่าดูถูกสติปัญญาของมวลราษฎร คนชนชั้นนำอาจจะคิดว่า ราษฎรไม่รู้เรื่อง ถูกชักจูงง่าย โง่เขลา หรืออะไรก็ตาม ก็ดูละกัน มันไม่ใช่อย่างนั้น และราชประสงค์ปี’53 มันไม่ใช่เรื่องที่ลืมกันง่ายๆ อาจจะไม่ได้พูดถึงเพราะมีการถูกกดเอาไว้” ไชยันต์กล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
ดูบทสัมภาษณ์ฉบับวิดีโอได้ด้านล่างนี้
ooo
ฮีโร่ในประวัติศาสตร์ ก็อาจจะไม่ใช่ฮีโร่ในปัจจุบัน การทำลายรูปปั้นสัญลักษณ์ของฮีโร่ในอดีต ที่มีอยู่กันทั่วไปในยุโรป อังกฤษ และอเมริกา
คือการชำระประวัติศาสตร์ของคนรุ่นใหม่ของประเทศเหล่านั้น
ประเทศไทยยังไม่มีการชำระประวัติศาสตร์ในหลายเรื่อง และที่เลวร้ายเผด็จการไทยก็กำลังลบประวัติศาสตร์ของประชาชน และเหลือเฉพาะประวัติศาสตร์เจ้ากันอย่างน่าสะอิดสะเอียน
เมื่อถึงวันประชาชนเป็นใหญ่ ประเทศไทยคงมีการไล่ทุบทิ้งสัญลักษณ์ของฮีโร่ผู้กดขี่ประชาชนใต้ฝ่าเท้าในประเทศไทยกันยกใหญ่แน่ๆ
#รอวันประชาชนลุกขึ้นยืน
Junya Yimprasert