วันศุกร์, สิงหาคม 03, 2561

‘ภัยน้ำล้น’ ปีนี้ไม่เหมือนปีโน้น ปีนี้กรมชลฯ ตื่นรู้ เตือนภัยตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าน้ำมากขนาดไหน


กลางสิงหาคมนี่อันตราย ภัยน้ำล้นปริมาณมากกว่าปี ๕๔ แต่ปีนี้ไม่เหมือนปีโน้น เห็นท่าว่ารัฐบาลทหารจะ เอาอยู่ต่างกับสมัยยิ่งลักษณ์ตรงที่ปีนี้กรมชลฯ ตื่นรู้ เตือนภัยตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าน้ำมากขนาดไหน

ขณะที่ปีนั้นท่านขลึม ไม่กระโตกกระตาก รู้ว่าน้ำมากก็เร่งปล่อยระบายอย่างนิ่งๆ นุ่มๆ ทั้งจากยันฮีและป่าสักชลสิทธิ์ เจิ่งไปทางสุพรรณและชัยนาท ก่อนจะนองมาถึงอยุธยา ประทุม จนกระทั่งเข้าในพระนคร

วานนี้ (๒ สิงหา) “เลขาฯ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยอมรับ ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่บางแห่งมีมากกว่าในช่วงปี ๕๔ คาดน่าจะเอาอยู่ เตรียมเปิดศูนย์เฝ้าระวังใกล้ชิด ๒๔ ชั่วโมง” ข่าวมติชนว่า

วันนี้ ไทยรัฐเสริม “เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำในเขื่อน ๑๐๐% โดยมีความจุ ๕๒๐ ล้าน ลบ.ม. แต่กลับมีปริมาณน้ำ ๕๒๒ ล้าน ลบ.ม.” เป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ www.thaiwater.net ข่าวอ้าง

เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี มีความจุ ๑๗,๗๔๕ ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน ณ วันที่ ๒ สิงหา มีปริมาณน้ำแล้ว ๑๕,๒๕๘ ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ๘๖% กับเขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี ที่มีความจุ ,๘๖๐ ล้าน ลบ.ม. มีน้ำ ,๒๙๕ ล้าน ลบ.ม. เท่ากับ ๘๒%
 
นอกจากนี้ยังมีเขื่อนแก่งกระจาน ที่มีความจุ ๗๑๐ ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้มีน้ำแล้ว ๖๕๖ ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น ๙๒%” ล้วนแล้วแต่เกินเกณฑ์ เก็บกักน้ำหรือ Rule Curve ที่ “ห้วงเวลานี้ไม่ควรเกิน ๗๐-๘๐%” ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานเผย

ในหนึ่งสัปดาห์นี้ เราจึงต้องรีบเร่งระบายน้ำออก ก่อนที่จะมีฝนตกเติมน้ำเข้าไป ด้วยการใช้มาตรการเสริม ด้วยการติดตั้ง กาลักน้ำ ขนาดใหญ่ ซึ่งที่เกินในเกณฑ์ควบคุมทั้ง ๑๑ เขื่อนนั้น” ท่านอธิบดียังมีคำเตือนล่วงหน้า ว่า “ตอนนี้สิ่งที่น่าห่วง คือ ระดับน้ำโขงมีสูงขึ้นมาก

เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านเจอวิกฤติน้ำท่วม จึงทำให้มีการระบายน้ำลงไปในแม่น้ำโขง ทำให้แม่น้ำโขงที่ไหลผ่าน หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร และ อุบลราชธานี สูงขึ้น ทำให้เขื่อนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว สามารถระบายน้ำออกได้ช้า

ทั้งนี้ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาฯ สนง.ทรัพยากรน้ำบอกด้วยว่า “ยังมีเวลาเตรียมการ ๑-๒ สัปดาห์...และเราไม่ประมาท ตามที่มีพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่าพายุจะเข้ามาช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้” คือระหว่างวันที่ ๕-๘ สิงหาคม

ไม่เพียงเท่านั้น นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาชี้ว่า “ลุ่มแม่น้ำโขง ยังคงน่าห่วง...ปริมาณน้ำที่อยู่ในแม่น้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำสงคราม หรือ แม่น้ำก่ำ ไม่สามารถระบายออกได้ น้ำก็จะเอ่ออยู่ในลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดนครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ลงมา

พื้นที่ด้านในก็จะเป็น สกลนคร ร้อยเอ็ด ขอนแก่น หากเป็นซีกตะวันตก ก็จะมาจากพรมแดนไทย-เมียนมา เพราะเมียนมายังมีฝนตกอยู่...จังหวัดที่ต้องระวังเพราะน้ำไหลผ่านมายังแม่น้ำสาละวิน ได้แก่ ตาก กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์

ทั้งที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ คสช. มั่นใจว่า “สถานการณ์น้ำโดยรวมขณะนี้อยู่ในเกณฑ์สีเหลืองหรือในระดับเตรียมการเท่านั้น” แต่ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต อดีตผู้ว่าการประปาภูมิภาคแนะว่า

รัฐควรปรับเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากสภาพอากาศของโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไป “โดยเฉพาะความรุนแรงของสภาพอากาศ ไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ...

เราต้องรู้สภาพกายภาพของแต่ละพื้นที่ ก่อนจะมีการป้องกัน อย่างเช่นกรณีที่ จ.น่าน (เหตุดินถล่ม เสียชีวิต ศพ)...นี่ไม่ใช่ความผิดที่เขาเข้าไปอยู่ แต่ทำไมภาครัฐไม่ไปบอกเขาว่ามันมีความเสี่ยง..ว่าจะมีฝนตกหนัก ควรออกจากพื้นที่ก่อน เป็นต้น


ภาครัฐยุคนี้ รัฐบาลทหาร คสช.มีภารกิจเยอะแยะ ไหนจะคอยไล่จับพวกนักกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร ไหนจะต้องลุยงบประมาณทำเมกะโปรเจ็ควางฐานผลงานไว้ไปสานต่ออีกสี่ห้าปี เมื่อได้ครองอำนาจอีกหลังเลือกตั้ง

ไหนจะต้องบริหารจัดการเงิน งบฯ กลางตั้ง ๕ หมื่นกว่าล้าน ตอนนี้เลยแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไปก่อน (แต่ประยุทธ์บอกว่าเป็น มาตรการยั่งยืน ก็เออ) ด้วยการ “จัดหาพื้นที่ทำกินให้กับครอบครัวในพื้นที่เสี่ยง” เฉพาะกรณีจังหวัดน่านนี่มีประมาณ ๖๐ ครอบครัว
 
กรณีงบฯ กลางนั่นคณะรัฐมนตรีของประยุทธ์เพิ่งอนุมัติ ๔๖๘ ล้านให้กองทัพบกนำไปใช้ในการปรับปรุงแหล่งน้ำทั่วประเทศ ๔๗ แห่ง ในพื้นที่ ๙ จังหวัด ที่อ้างว่า “โครงการดังกล่าวจะไม่ทับซ้อนกับการดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”


ใครจะตั้งข้อกังขาว่าคลับคล้ายคลับคลากับที่เคยประเคนให้องค์การทหารผ่านศึก รับเหมาไปขุดลอกคลองทั่วกรุงเทพฯ แล้วเหลว หรือเปล่า คสช.ไม่สนเสียอย่าง ก็งบฯ กลางมันหอมหวล ควักง่ายจ่ายคล่อง ต้องใช้ให้สมกับที่ สนช. ชงให้

เรื่องนี้ iLaw รายงานไว้จะแจ้ง “สี่ปีซ้อน สนช. โอนเงินงบประมาณให้ คสช. ใช้อย่างอิสระ รวมแล้วกว่า ๕๓,๐๐๐ ล้านบาท” แล้วยังใช้วิธีการลัดวงจร ไม่ต้องอภิปรายอะไรมาก สนช.มักจะให้ความ “เห็นชอบกฎหมายดังกล่าวสามวาระรวดในวันเดียว”

ตั้งแต่ปี ๕๘ เรื่อยมาทุกๆ ปี สนช.จะทำการอนุมัติให้นำเงินงบประมาณตกค้างของปีก่อนหน้า มาเข้าเป็นงบฯ กลางปีต่อมา ไว้ “สำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น” ถึงปี ๖๑ เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๕๓,๘๕๕ ล้านบาท

เฉพาะปี ๖๑ นี่ฟาดไป ๑๒,๗๓๐ ล้านบาท โดย คสช.เก็บไว้ใช้ฉุกเฉิน ๑ หมื่น ๒ พัน ซึ่งไม่ต้อง “กำหนดรายละเอียดการใช้เงินให้ชัดเจน...อีก ๗ ร้อยกว่าล้านเอาไปใช้เป็นกองทุนประชารัฐ” ที่บอกว่า ไม่ใช่หว่านให้ชาวบ้านซื้อคะแนนนิยมนั่นละ