วันพุธ, สิงหาคม 15, 2561

ไม่ต้องรอถึงกันยาก็รู้แล้ว อยู่หรือไป พอถึงตุลารู้ตัวนายกฯ ใหม่


พูดอย่างนี้ ไม่ต้องรอถึงกันยาก็รู้แล้ว อยู่หรือไป “เวลาผมไปทุกครั้งแล้วชาวบ้านดีใจ มันสะท้อนอกผมนะ ทำไมเขาต้องคาดหวังที่ผม ทำไมเขาไม่คาดหวังกับคนอื่น

ไอ้ที่เขาไม่อยากให้ไป รกหูรกตา ด่าส่งเสียอีก เคยได้ยินได้ฟังให้มันสะท้านสะเทือนอกบ้างไหม ไม่ต้องทำไขสือ “จะอยู่อย่างไรก็ต้องดูกฎหมายรัฐธรรมนูญ และต้องดูว่าจะอยู่เพื่ออะไร จำเป็นหรือไม่ แล้วจะไปอยู่พรรคไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง


ประโยคท้ายนั่นละบอกไม่ใบ้ไว้ชัดเจน จะเป็นแคนดิเดทหนึ่งในสามรายชื่อนายกฯ ของพรรคใดพรรคหนึ่ง แค่ยังอุบไว้ก่อน ไม่บอกชื่อ แต่ใครๆ ก็รู้ เดาได้ไม่ยาก พรรคที่อุ้มสมกันมา และออกอาการปกป้องจนนอกหน้า 

พี่ใหญ่ คสช. ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบฯ หลังจากประชุม ครม. วานนี้ (๑๔ ส.ค.) กรณีข้อครหา สามมิตร เดินสาย ดูดโจ๋งครึ่ม โดยมีแม่ทัพภาคให้ท้าย

สามมิตรเป็นใคร เป็นพรรคการเมืองหรือยัง ที่รู้ เขายังไม่ได้เป็นพรรค” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช. บุ้ยไปนั่น “ถ้าเป็นพรรคการเมือง หรือเป็นสมาชิกอยู่ในพรรคการเมืองไม่สามารถทำได้

ก็เลยถูกนักข่าวย้อนเกร็ดเอาว่า “ถ้ามีกลุ่มการเมืองที่ยังไม่สังกัดพรรคก็สามารถเคลื่อนไหวได้” ใช่ไหมเฮีย พี่ใหญ่เลยแถก “ก็เอาสิ ก็ไปทำ จะไปอยู่กลุ่มแปดมิตรก็ไป


เอาละ มาดูการอ่านเกมแบบบูรณาการในเรื่องนี้โดย Thanapol Eawsakul ดูสักนิด “ทำไมประยุทธ์ จันทรโอชา ถึงต้องบอกความชัดเจนทางการเมืองของตัวเองในเดือนกันยายน ๒๕๖๑” เขาว่า

หนึ่งเพราะเมื่อถึงตอนนั้น การแต่งตั้งโยกย้ายทหารได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ได้รู้กันแน่ว่าใครได้เป็น ผบ.ทบ. คนใหม่ ทั้งได้รู้ด้วยว่า “ตำแหน่งใหม่ของพลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท” ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน จะเป็นอะไร
  
ข้อสอง ในเดือนกันยายนนี้เอง เชื่อว่า “พรรคพลังประชารัฐคงจะลงตัวแล้ว ว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และใครเข้าร่วมบ้าง กลุ่มสามมิตรอยู่ตรงไหน รวมทั้งจะเสนอใครให้เป็นแคนดิเดต นายกรัฐมนตรี

สาม หากพรรคพลังประชารัฐใช้ทีมเทคโนแครทของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ใน ครม. ไปเป็นผู้บริหารพรรค ก็จะต้องมีการปรับ ครม.กัน แม้กระทั่งประยุทธ์ก็ต้องลาออกจากตำแหน่งถ้ารับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค

ข้อสี่นี่ธนาพลแสดงความเป็นห่วง ว่าถ้าประยุทธ์รับเป็นแคนดิเดตนายกฯ แล้ว เฉลิมชัย สิทธิสาท จะมีบทบาทอย่างไรหลังเกษียณ จะมีสถานะและที่ทางอะไรอยู่ตรงไหน

เขายังชี้แนะด้วยว่า พอถึงเดือนตุลาคม ๖๑ ก็จะรู้กันแล้วละว่า นายกฯ คนใหม่ ลำดับที่ ๓๐ ของประเทศไทยจะเป็นใครด้วย


สังเคราะห์ข้อมูลตามนั้นบ้างว่า ระหว่างนี้มีเวลาอีกสองเดือน ประยุทธ์ต้องเร่งรัดจัดฉากให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ใหม่ที่อยู่ระหว่างทางกำลังมา “ใครที่จะเข้าสู่การเมืองในอนาคตก็จะต้องปรับปรุงตัวเอง แต่สุดท้ายจะอยู่ที่ประชาชนเป็นผู้เลือก

การประชุม คสช. แบบด่วนแดกเมื่อวานนี้ (๑๔ ส.ค.) มีวาระ “การพูดคุยถึงเรื่องการแต่งตั้งที่ต้องได้บุคลากรที่มีประสิทธิภาพ ทำงานตามยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี” แม้จะได้คุยกันแค่ ๑๐ นาที และไม่มีรองฯ ฝ่ายกฎหมาย วิษณุ เครืองาม เข้าไปร่วมประชุมด้วย

การสั่งย้าย พล.ต.ต.รมย์สิทธ์ วิริยาสรร พ้นจากตําแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ทันใด ทั้งที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งจาก คสช. มายังไม่ถึงสองปี จึงเกิดกลิ่นตุๆ ว่ามีเงื่อนงำของการขัดแย้งกันภายใน

ข่าวว่าเกิดการงัดข้อระหว่างเลขาฯ และกรรมการบริหารที่มี พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เป็นประธาน ด้วยเหตุว่าแนวการทำงานสวนทางกัน ในเมื่อ “ฟากฝั่งฝ่ายบริหารต้องการให้ ‘ตรวจสอบโดยไม่มีข้อยกเว้น’ ทั้งกับนักการเมือง กลุ่มการเมือง พรรคการเมือง


แต่เลขาฯ คงจะพยายามผ่อนปรน ด้วยช่วงนี้เป็นระยะเปลี่ยนผ่านจากระบอบรัฐประหารเบ็ดเสร็จไปสู่ระบบเลือกตั้งที่ คสช. ยังคงเป็นพ่อทุกองค์กร และทหารผันตัวไปเป็นนักการเมือง คงจะมีรายการ คุณขอมา เยอะ

เป็นธรรมดาของการได้ตำแหน่งมาอย่างง่ายๆ โดย คสช.มอบให้ เมื่อถึงคราจำเป็น คสช.ก็ขอคืนอย่างง่ายๆ เช่นกัน