ทุกวันนี้จะพบว่าใครก็ตามที่ไปร่วมชุมนุมเรียกร้องสิทธิส่วนบุคคล สิทธิชุมชน และ/หรือแสดงออกโดดเด่นในการตำหนิ คัดค้านพฤติกรรม นโยบาย ของคณะทหาร คสช. มักจะถูก 'ทหารไปเยี่ยมบ้าน' กันเสมอ
ข้อนี้ iLaw ได้นำเอาข้อกฎหมายมาตีแผ่ให้เห็นว่าทหารไม่สามารถลุกล้ำไปเคาะประตูบ้านขอคุยกับผู้คนได้ตามอำเภอใจอย่างที่ทำอยู่
เราคัดมาเผยแพร่ในที่นี้โดยสังเขป
"ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารระดับปฏิบัติการ หลายครั้งพบว่าเจ้าหน้าที่ทหารยังสับสนในอำนาจหน้าที่ของตัวเอง โดยอ้างอิงอำนาจเพียงลอยๆ ว่าทหารมีอำนาจตาม 'มาตรา 44' ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้อง
เพราะผู้ที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ ไม่ใช่ทหารทุกคน แต่มีเพียงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเดียวเท่านั้น
ความไม่เข้าใจหรือการกล่าวอ้างอย่างลอยๆ เช่นนี้ สร้างความสับสนให้ประชาชน และทำให้ประชาชนเข้าใจไปโดยคลาดเคลื่อนว่า ทหารทุกคนมีอำนาจตรวจค้นและจับกุมประชาชนได้ด้วย 'มาตรา 44'...
ส่วนเมื่อทหารระดับปฏิบัติต้องการจะใช้อำนาจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.
ก็ต้องอ้างอิงอำนาจของตัวเองให้ถูกต้องว่ากำลังทำตามคำสั่งที่ 3/2558
หรือ 13/2559 ซึ่งคำสั่งสองฉบับนี้ก็ยังไม่ได้ให้ทหารมีอำนาจตรวจค้นจับกุมประชาชนได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด
แต่กลับมีเงื่อนไขการใช้อำนาจที่ชัดเจน อย่างน้อยดังนี้
1. ทหารที่จะใช้อำนาจพิเศษนี้ได้
ต้องมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ขึ้นไป
และต้องได้รับการแต่งตั้งเป็นการเฉพาะจากหัวหน้า คสช. ไม่ใช่ว่า
ทุกคนที่เป็นทหารจะมีอำนาจพิเศษทั้งหมด
2. ทหารจะใช้อำนาจพิเศษนี้ได้
ก็เพื่อปราบปรามการกระทำความผิดบางประการเท่านั้น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558
ให้อำนาจทหารเข้ามาปราบปรามผู้ต้องสงสัยในคดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์
ความผิดต่อความมั่นคง ความผิิดตามกฎหมายอาวุธปืน
และความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศและคำสั่ง คสช.
ส่วนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559
ให้อำนาจทหารเข้ามาในกรณีมีผู้ต้องสงสัยว่า
ดำรงชีพด้วยการทำผิดกฎหมาย
หรือได้ประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากการข่มขืนใจผู้อื่นให้กลัวอันตราย เท่านั้น
หากทหารสงสัยว่า บุคคลใดทำความผิดตามกฎหมายอื่น
จะอ้างอำนาจพิเศษเข้ามาจัดการไม่ได้ ต้องให้เป็นหน้าที่ตำรวจทำงานตามปกติ
3. การจับกุมตัว
ทหารจะจับได้เฉพาะกรณีที่ความผิดเกิดขึ้นต่อหน้าทหารเท่านั้น
หากไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า การจับกุมผู้ต้องสงสัยก็ต้องมีหมายจับที่ออกโดยศาล
เช่นเดียวกับกระบวนการปกติ
อย่างไรก็ดี คำสั่งหัวหน้า คสช.
ทั้งสองฉบับยังให้อำนาจพิเศษแก่ทหารอีกหนึ่งประการ คือ
ให้ทหารมีอำนาจเรียกตัวบุคคลที่ต้องสงสัยมาพบและกักตัวไว้เพื่อสอบถามข้อมูลได้ไม่เกิน
7 วัน โดยสามารถควบคุมตัวเอาไว้ในค่ายทหารได้
หากใครขัดขืน ไม่ยอมทำตามคำสั่งทหารมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 20,000
บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(https://ilaw.or.th/node/4797)