วันอังคาร, เมษายน 10, 2561

แนะนำพรรคสร้างประชาธิปไตยไทยด้วยไอที : (" ... ฝ่ายตาสีหัวคลอน ถามว่า 'ไอที' นั้นคืออะไร ... ? 😅 😅😅 " ผู้ใหญ่ตู่ลุกขึ้นตอบทันใด ว่าไอทีนั้นไซร้คือ... พรรคสตาร์ทอัพธรรมดา ๆ"



BBC THAI
สุขทวี สุวรรณชัยรบ และ ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว ผู้ก่อตั้งพรรคกลาง


พรรคกลาง : สร้างประชาธิปไตยไทยด้วยไอที


9 เมษายน 2018
ที่มา บีบีซีไทย


การเปิดให้จดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่เป็นไปอย่างคึกคัก ล่าสุดมีพรรคต่าง ๆ ไปยื่นความจำนงกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปแล้วถึง 98 พรรค ซึ่งเสนอแนวคิดต่าง ๆ กันไป นี่เป็นความพยายามอีกครั้งในการสร้างพรรคทางเลือกใหม่ภายใต้ชื่อ "พรรคกลาง" หรือ Moderate Party ในการเมืองไทย ท่ามกลางความต่างอย่างสุดขั้วระหว่างอุดมการณ์แบบก้าวหน้ากับอำนาจนิยม


แนวคิดหลักของพรรคกลางนอกจากนำเสนอทางเลือกให้กับผู้ที่ไม่ได้อยากเลือกสองอุดมการณ์สุดขั้วแล้ว ยังนำเสนอแนวคิดเทคโนโลยีไอทีเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ โดยพรรคนี้เชื่อว่าจะสามารถ " ผ่าทางตัน" แห่งความขัดแย้งของการเมืองไทยออกไปได้

บีบีซีไทยสนทนากับสองผู้แทนพรรคกลาง ซึ่งก็คือ ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว ซึ่งเป็นนักวิ่งอุลตร้ามาราธอนชื่อดัง และอดีตผู้บริหารของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.หรือ NECTEC) และสุขทวี สุวรรณชัยรบ ที่ผ่านงานในองค์กรพัฒนานานาชาติต่าง ๆ มานานปี



ข้อเสนอของพรรคที่แตกต่างจากพรรคอื่นอย่างมาก ก็คือ แอปพลิเคชันที่สามารถให้ประชาชนเข้ามีส่วนปกครองประเทศโดยตรง โดยผ่านอุปกรณ์สื่อสารอย่างเช่นสมาร์ทโฟน โดยมีรัฐทำหน้าที่รวบรวมคะแนนที่ประชาชนกดมาและทำตามผลการลงคะแนนนั้น


พรรคกลาง


ผู้ก่อตั้งพรรคกลางทั้งสองยืนยันหนักแน่นว่า แนวคิดนี้เป็นจริงและสามารถจะทำให้ไทยก้าวข้ามผ่านปัญหาความขัดแย้งที่วนเวียนและซ้ำซากเป็นสิบปีได้

"มันคือประชาธิปไตยโดยตรง ซึ่งตรงนี้มองข้ามความขัดแย้ง สามารถข้ามผ่านข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไปได้เลย" ดร.ชุมพลกล่าว

"แทนที่จะเอาอำนาจไปให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไปคิดแทนสี่ปี ประชาชนก็ตัดสินใจโดยตรงเลย ซึ่งเทคโนโลยีก็อย่างบล็อกเชนหรือแบบง่าย ๆ ที่มีความปลอดภัยในลักษณะที่คล้ายคลึงกับโมบายแบงก์กิ้งที่เราใช้กันในปัจจุบันก็ได้... เดี๋ยวนี้ เทคโนโลยีมันมาถึงแล้ว ทำให้เราสามารถเลือกได้ว่าจะเลือกตรง หรือเลือกผ่านตัวแทนก็ได้" สุขทวีกล่าวพร้อมกับยกตัวอย่างว่าระบบเหล่านี้ทำได้จริง และมีประเทศที่นำไปใช้แล้ว อย่างเช่น สวิตเซอร์แลนด์ที่มีประชาพิจารณ์ในเรื่องต่าง ๆ โดยผ่านระบบเทคโนโลยีตลอดทั้งปี

บล็อกเชนและประชาธิปไตยไทย

"บล็อกเชน" (Blockchain) ที่สุขทวีกล่าวถึง ก็คือเทคโนโลยีฐานข้อมูลซึ่งเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เข้าเป็นเครือข่ายอันไพศาล มีความสามารถในการยืนยันตัวตนผู้ใช้ รวมทั้งบันทึกและสืบสาวร่องรอยของผู้ใช้และการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดเวลา และบรรดาผู้เชี่ยวชาญก็เชื่อว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนนี้มีศักยภาพที่จะปฏิวัติสังคมในทุกด้านและทุกระดับได้ ความสามารถในการจัดการกับฐานข้อมูลเช่นนี้ จะทำให้หน่วยงานที่หน้าที่ "ตัวกลาง" เช่น ธนาคาร บริษัทนายหน้า หรือแม้แต่หน่วยงานราชการบางแห่งไม่จำเป็นจะต้องมีอยู่อีกต่อไป



AFP/GETTY IMAGES
บล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีฐานข้อมูลซึ่งเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เข้าเป็นเครือข่ายอันไพศาล ถูกนำมาใช้ในการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลหรือที่เรียกว่าบิทคอยน์


ดร.ชุมพล อธิบายว่า บล็อกเชนเป็นการเก็บข้อมูลกระจายไว้ตามที่ต่าง ๆ ต่างจากระบบการเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์แบบเดิมที่รวมศูนย์ "เท่ากับว่าตอนนี้เริ่มการกระจายความรับผิดชอบการเก็บข้อมูลไปให้กับทุกคน ผมมองว่าเทคโนโลยีนี้ใกล้เคียงกับคำว่าประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่มันรวมศูนย์ก็ค่อย ๆ กระจายออกไป..... แม้ผมก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเทคโนโลยีจะประกันปัญหาปลอมแปลงเจาะข้อมูลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า แต่ตอนนี้เทคโนโลยีมันเชื่อถือได้ระดับหนึ่งและมีการใช้ในวงการธนาคารแล้ว และใช้ได้จริงกับประชาชน"

เหนือสิ่งอื่นใดหากนำมาปรับใช้ทางการเมือง ก็จะสามารถจะข้ามผ่านระบบคนกลาง ให้ประชาชนมามีส่วนในการปกครองประเทศโดยตรง ตัดปัญหาเรื่องตัวแทนลง และยังสามารถแก้ไขเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย

"เมื่อเทคโนโลยีทำให้สามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น มีความโปร่งใส ก็จะทำให้คนที่ต้องการจะโกงเริ่มคิดว่ามันอาจจะไม่คุ้มอีกต่อไปที่จะแบบนี้" สุขทวีแจง

"การเข้าถึงของประชาชนน่าจะได้ทั่วทั้งประเทศ หากว่าไม่มีมือถือก็อาจไปใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในโรงเรียนหรือสถานที่ราชการได้ ประชาชนสามารถจะคะแนนเสียงตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างทันทีทันควัน (หรือเรียลไทม์) และมีต้นทุนที่ต่ำ"

เขายกตัวอย่างโครงการขุดคอคอดกระ แทนที่รัฐบาลและผู้แทนประชาชนจะตัดสินใจกันเองก็ถามกลับประชาชนโดยผ่านระบบเช่นนี้ ซึ่งจะส่งผลกลับมาอย่างรวดเร็ว

"เมื่อก่อนอาจจะทำโดยการประชาพิจารณ์เสียเงินเป็นพันล้าน ทีนี้เราสามารถทำได้บ่อย ๆ มีกฎหมายอะไรขึ้นมาก็สามารถถามประชาชนได้ทันที"

เมื่อบีบีซีไทยถามว่าแล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบสร้างระบบนี้ รวมทั้งแอปพลิเคชันการใช้งานต่าง ๆ ดร.ชุมพลก็บอกพรรคกลางจะเป็นผู้นำเสนอระบบนี้ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังมีการพัฒนากันอยู่ "เราต้องทำให้คนเห็นก่อน ทำให้คนเห็นเพื่อให้เขาสนใจว่าสามารถนำไปใช้จริงได้" และหากเป็นรูปเป็นร่างแล้ว พรรคอื่นสนใจ หรือแม้แต่หน่วยงานรัฐบาลสนใจจะนำไปใช้ ทางพรรคกลางก็ยินดีที่จะยกเทคโนโลยีนี้ให้นำไปใช้ได้

พรรคสตาร์ทอัพ?

เมื่อถามถึงแนวคิดในการทำพรรค ดร.ชุมพล ก็กล่าวว่าเขาเองก็คงจะเป็นแกนนำของพรรคไปก่อนแต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะเป็นตำแหน่งอะไรแน่นอน ผู้ร่วมก่อตั้งก็คือ 15 คนที่ไปลงนามในเอกสารที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และก็ยังมีกลุ่มนำที่เห็นพ้องต้องกันอยู่ราว 50 คน ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการหลายสาขา ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที นักบริหารระดับสูง

แต่พรรคก็ตอนนี้ยังไม่มีที่ทำการ และไม่มีคนทำงานเต็มเวลา "เราใช้วิธี Crowdfunding และ Crowdsourcing" ดร.ชุมพลกล่าว ซึ่งก็คือวิธีการระดมเงินทุนและคนโดยผ่านอินเทอร์เน็ต ให้คนที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้มาบริจาคหรืออาสามาทำงานให้


AFP/GETTY IMAGES
ข้อกำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดให้พรรคต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท พร้อมสมาชิกพรรค 500 คน และภายใน 1 ปี ต้องมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 5,000 คน


เมื่อบีบีซีไทยถามว่าอย่างนั้นก็คือ "พรรคสตาร์ทอัพ" หรืออย่างไร เพราะวิธีทั้งสองนี้ใช้กันมากในกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพเมื่อเริ่มต้นธุรกิจ ดร.ชุมพล อธิบายว่า "หลายคนอาจไม่เชื่อว่าพรรคแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ยังไง เราก็ต้องทำให้เห็นก่อน ผมตั้งใจที่จะ Crowdfunding และ Crowdsourcing ตอนนี้เราทำเฟซบุ๊กซึ่งเป็นกลุ่มปิด เพื่อไม่ให้ขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคนที่เห็นตรงกับเราราว 1,500 คนแล้ว เราดึงนักไอทีเข้ามาช่วยเรื่องพัฒนาระบบที่เพิ่งอธิบายไป เราต้องการแรงงานแต่เราไม่มีเงิน... ถ้าเราทำสำเร็จก็จะเป็นตัวอย่างที่จะดึงคนเข้ามา และเป็นคนมีคุณภาพเพราะเราไม่ได้ใช้เงินซื้อ เขาเห็นด้วยกับเราจริง ๆ"

แม้จะยังไม่มีที่ทำการพรรคและคนทำงานในพรรค ผู้ก่อตั้งพรรคกลางทั้งสองคนก็ยังมั่นใจว่าจะสามารถรวบรวมเงิน 1 ล้านบาท และสมาชิกให้ครบ 500 คน และตั้งเป็นพรรคได้ตามเงื่อนไขของพระราชบัญญํติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.ป.พรรคการเมือง) ได้ และยืนยันหนักแน่นที่จะส่งคนลงชิงชัยอย่างแน่นอน

"ตอนนี้ยังติดคำสั่ง คสช. เป็นหลักทำให้เรายังไม่สามารถระดมทุนได้ในขั้นต้น เราก็ยังลองดูก่อนว่าแบบอาสาสมัครใช้ได้ไหม เพราะเป็นสิ่งที่เราอยากจะทำ ถ้าเราทำไม่ได้ ต้องตั้งออฟฟิศและมีคนทำงานเต็มเวลา เราก็จะต้องหา "ผู้บริจาคเทวดา" ไม่ใช่ angle investor นะ เพราะแบบนั้นมันคือการลงทุนที่ต้องหวังอะไรตอบแทน" ดร. ชุมพลกล่าว

กระแส "พรรคเทค" กำลังมาแรง


จากการค้นข้อมูลของบีบีซีไทยก็พบว่ากระแสพรรคที่อิงไอทีและวิธีการระดมทุนเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก อย่างเช่น ในอิตาลีก็มีพรรค ชื่อว่า 10 Volte Meglio ที่แปลว่า ดีกว่า 10 เท่า เปิดตัวไปเมื่อเดือน พ.ย. เมื่อปีที่แล้ว พรรคประกอบด้วยผู้บริหารจากบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ และใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คเพื่อระดมคนและทุนเพื่อส่งสมัครรับเลือกตั้ง โดยมีนโยบายพัฒนาความเป็นอยู่ของคน และระบบการเมืองโดยผ่านนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ

แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง เมื่อปีที่แล้ว กลุ่มผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ก็รวมกันก่อตั้งขึ้นเป็นกลุ่มการเมืองที่ชื่อ "Win the Future" ที่ใช้ชื่อย่อว่า WTF เพราะความผิดหวังจากระบบการเมืองที่เป็นอยู่ และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการดำเนินการทางการเมืองอย่างที่ต้องการเห็น WTF ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นตัวระดมความคิดเห็นจากประชาชนและนำเสนอแนวคิดนั้นเพื่อบีบให้พรรคการเมืองเปลี่ยนแปลง โดยที่ มาร์ค พินคัส ผู้ก่อตั้งซิงก้า บริษัทออกแบบเกมและก็เป็นผู้ก่อตั้งร่วมของ WTF คิดว่ากระแสนี้น่าจะเติบโตเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ได้อีกมากอย่างพรรคการเมือง


AFP/GETTY IMAGES
การหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองหนึ่งในเลือกตั้งทั่วไปในปี 2548 ที่ จ.นครราชสีมา


เมื่อบีบีซีไทยสอบถามความคิดเห็นเรื่องแนวทางพรรคกลางไปยัง ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ในแวดวงใกล้เคียงและได้รับข่าวสารเรื่องพรรคกลางมาตลอด ก็ได้รับคำตอบว่า แนวคิดและวิธีการของพรรคกลางนั้นน่าจะได้ผลในโลกของอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย แต่ในโลกของการเมืองไทยอาจยังมีปัญหา

"ในโลกจริง มันต้องมีมวลชน มีฐานเสียง มีหัวคะแนน" ผศ.ดร. เจษฎาตอบคำถามมาผ่านทางโซเชียลมีเดีย "ก็น่าจะจัดตั้งได้อยู่ แต่จะได้ ส.ส.มั้ย คงยากอยู่"

ไม่เอานายกฯ คนนอก

สุขทวีบอกว่าในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองก็ต้องหวังจะได้เข้าบริหาร "พรรคเรามีมีเป้าที่ปฏิบัติได้จริง ถ้าได้เสียงปาร์ตี้ลิสต์ 5-8% เราจะเข้าไปร่วมรัฐบาล อยากจะเป็นรัฐมนตรีช่วยหรือตัวจริงสักกระทรวง ถ้าแค่รัฐมนตรีช่วยก็จะได้ดูแลอย่างน้อยก็หนึ่งกรม และเราจะเริ่มทำตามนโยบายพรรคเรา ก็คือการปรับปฏิรูปทุกอย่าง ระบบระเบียบต่าง ๆ โดยใช้ไอที แต่ท้ายที่สุดเราต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการคิดทั้งหมด"

ขณะที่ ดร.ชุมพล บอกว่า เขาก็ต้องการพิสูจน์ว่าแนวคิดนี้สามารถเป็นได้ในโลกแห่งความเป็นจริงของการเมืองไทย และเสริมด้วยว่าจุดยืนทางด้านการเมืองของพรรคก็คือ หากรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นมาก มีนายกรัฐมนตรีคนนอกก็จะไม่เข้าร่วมเป็นรัฐบาล เพราะเป้าหมายของพรรคคือการปฏิรูปเพื่อเป็นประชาธิปไตยทางตรง การมีนายกรัฐมนตรีคนนอกจะไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของพรรค



JIRAPORN KUHAKAN/BBC THAI
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ผศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สองผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่


ทั้งตัวของ ดร.ชุมพล และสุขทวีเองมีความสนิทสนมกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้จดแจ้งพรรคอนาคตใหม่อย่างมาก เพราะอยู่ในทีมที่มีแผนจะเดินเท้าเข้าสู่ขั้วโลกใต้ด้วยกัน เมื่อถามว่าแนวคิดมีความแตกต่างจากของธนาธรอย่างไร

สุขทวีบอกว่าได้คุยกันเรื่องการเมืองกับธนาธรมาตลอด ซึ่งมีแนวคิดเรื่องการพัฒนาที่เหมือนกัน แต่ต่างกันที่วิธีแก้ไขปัญหาเพียงอย่างเดียว ก็คือการนำมาซึ่งประชาธิปไตย

"เอก (ธนาธร) มองว่ายังไงก็ต้องได้ประชาธิปไตยมาก่อน แต่ผมมองว่าแนวทางนั้นปัญหาจะไม่จบ ยิ่งต่อต้านอำนาจ อำนาจยิ่งรวมตัว ต่อให้เขาชนะก็ยิ่งมีการต่อสู้กันต่อไปเรื่อย ๆ เราจึงเสนอตัวมาเป็นพรรคที่มีแนวคิดตรงกลาง ที่จะพาคนทั้งสองฝ่ายออกไปจากความขัดแย้งตรงนี้ให้ได้ก่อน โดยใช้เทคโนโลยี" สุขทวีสรุปความเป็นมาของพรรคกลางในประโยคเดียว