วันเสาร์, เมษายน 28, 2561

"อาลีบาบา" ได้อะไรจากไทย ไทยต้องเสียอะไร ให้ “อาลีบาบา”





ไทยต้องเสียอะไร ให้ “แจ็ค หม่า” มีโอกาส





26 เมษายน 2018

เขียนโดย อสรพิษ
Work Point News


ข่าวการมาถึงของ “แจ็ค หม่า” เพื่อร่วมมือกับรัฐบาลไทยถือเป็นข่าวใหญ่ แถมวันรุ่งขึ้นยังสร้างความตื่นตะลึงด้วยการขายทุเรียน 80,000 ลูกในไม่กี่นาทีผ่านทางเว็บไซต์ในเครืออาลีบาบา ทำให้เกิดการถกเถียงถึงข้อดีและข้อเสียของการรุกตลาดอีคอมเมิร์ซผ่านการจับมือเซ็น MOU กับรัฐบาลไทย

อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่ตลาดอีคอมเมิร์ซของจีน ที่มีผู้บริโภคจำนวนมหาศาลชาวจีนหนุนหลัง แน่นอนว่าฝั่งหนึ่งมองเป็นประโยชน์ แต่อีกฝั่งมองด้วยสายตาที่หวาดหวั่น เพราะเมื่อผู้เล่นรายใหญ่ลงมาเล่นกับตลาดไทยด้วยตัวเอง ผู้ผลิตจำนวนหนึ่งก็จะเห็นโอกาสในการขายของหารายได้ ส่วนคนขายของและอีคอมเมิร์ซรายย่อยย่อมมองเห็นลางร้ายไม่ต่างจากโชว์ห่วยมองเมกะสโตร์รุกเข้าสู่ชุมชนอย่างทำอะไรไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้เล่นรายใหญ่ที่มีรัฐบาลหนุนหลังอย่างเต็มตัว

แต่การปรากฏของข่าว “ทุเรียน 80,000 ลูก” อาจกำลังกลบประเด็นที่น่าสนใจอีกมุมหนึ่งที่ว่า

เรากำลังเสียอะไร เพื่อให้ “แจ็ค หม่า” เข้ามามีโอกาสในประเทศแห่งนี้

เรื่องอันว่าด้วยตลาดอีคอมเมิร์ซที่ถูกรุกคืบจากทุนยักษ์ต่างชาติอาจยังเป็นเรื่องถกเถียงกันได้ถึงข้อดีข้อเสีย เพราะบางคนอาจมองว่านี่คือการล่มสลายของทุนในประเทศ แต่หลายคนอาจมองว่านี่คือภาวะปกติของทุนนิยม โดยเฉพาะทุนอันว่าด้วยโลกออนไลน์ที่ไร้พรหมแดน ที่แม้เขาไม่เข้ามา แต่ประตูก็เปิดกว้างอยู่แล้ว

รวมไปถึงเรื่องที่ชาวสวนไทยจะได้อะไร เพราะเราแค่ผลิต แต่ส่วนต่างกำไรอันมหาศาลไปอยู่กับ “แจ็ค หม่า” ที่สถาปนาตัวเองเป็นพ่อค้าคนกลาง โดยไม่ต้องลงทุนลงแรง หรือกระทั่งมีคนบอกว่าคนส่งออกทุเรียนรายใหญ่จริงๆ แล้วก็เป็นคนจีนทั้งสิ้น

ทั้งยังมีเรื่องการซื้อขายสินค้าเกษตรของประเทศจีนที่ต้องถูกควบคุมโดย COFCO Corporation (คอฟโค คอร์เปอเรชั่น) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน ที่ทำหน้าที่ควบคุมการซื้อขายสินค้าเกษตรในประเทศจีน เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่ หากมีการทุ่มตลาดอาจกระทบกับตลาดโดยรวม ทำให้ต้องมีองค์กรนี้มาควบคุม ซึ่งอาจทำให้สุดท้ายคนไทยก็แทบจะเนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้รอง

แต่คำถามสำคัญกลับถูกกระแส “ทุเรียน” และ “อีคอมเมิร์ซ” พัดพาไป

“แจ็ค หม่า – ไทย” เซ็น MOU เรื่องอะไร

ต้องบอกว่าเรื่องที่เซ็น MOU นั้นมีสี่เรื่อง ได้แก่

1. ความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างสำนักงานอีอีซี และ Alibaba (China) Company Limited

2. ความร่วมมือด้านการลงทุน Smart Digital Hub ในพื้นที่ อีอีซี ระหว่างสำนักงานอีอีซี กรมศุลกากร และบริษัท Cainiao Smart Logistics Network

3. ความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรในด้านดิจิทัล และการส่งเสริมธุรกิจผ่านอีคอมเมิร์ซ ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ Alibaba Business School และ 4. ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวผ่านดิจิทัลและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองระหว่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัท Fliggy จัดทำ Thailand Tourism Platform สำหรับประเทศไทย เพื่อนำสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และแผนที่ท่องเที่ยว กระจายในระบบออนไลน์แพลทฟอร์มเชื่อมโยงกับนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับ Internet of Things (IOT) ที่เป็นเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการธุรกิจ นับเป็นความร่วมมือในการพัฒนาด้านต่างๆ นอกเหนือจากโครงการลงทุนนับแสนล้านบาท นอกจากนี้จะมีพิธีเปิดการซื้อขายข้าวไทยผ่าน tmall.com ด้วย

“แจ็ค หม่า” จะได้อะไร

จากการเปิดเผยของ “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลัง ชี้ให้เห็นว่าข้อสองของ MOU คือการลงทุน smart digital hub คือจะมีการสร้างฮับกระจายสินค้าในพื้นที่อีอีซี โดยจะดำเนินการภายใต้เขตปลอดอากรของกรมศุลกากร ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปเจรจากับบีโอไอ

ซึ่งเขตปลอดอากรจะหมายถึงสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ หากนำเข้ามาในพื้นที่เพื่อผลิตหรือส่งออก ก็จะไม่ต้องเสียภาษี แต่หากนำเข้ามาขายในประเทศก็ต้องเสียภาษี

กุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากรระบุว่า “กรมศุลกากรได้ลงนามความร่วมมือกับอาลีบาบา โดยจะออกแบบระบบให้เชื่อมโยงและตรวจสอบควบคุมด้วยระบบ QR Code และควบคุมการขอส่งสินค้าด้วยระบบ e-Lock กล่าวคือเมื่ออาลีบาบานำสินค้าเข้ามากรมศุลฯ จะทำ QR Code ติดที่ตัวสินค้า จากนั้นก็จะใช้ระบบ e-Lock ติดตามระหว่างการขนส่งจากสนามบินไปที่เขตปลอดอากรในอีอีซี”

อย่างไรก็ตามพื้นที่ที่จะมีการตั้ง Smart Digital Hub กลับไม่มีการระบุอย่างเป็นทางการ

ทำให้เข้าใจได้ว่า “แจ็ค หม่า” จะได้สร้างฮับกระจายสินค้า แต่คำถามใหญ่กว่านั้นคือทำไมถึงไม่เป็นเจ้าอื่น ทำไมต้องเป็น “อาลีบาบา” โครงการที่ใหญ่เช่นนี้ไม่มีบริษัทอื่นที่มีความพร้อมเลยหรือ และมีการเปิดประมูลอย่างถูกต้องหรือสมควรเพื่อให้ประเทศได้รับประโยชน์สูงสุดหรือไม่

นอกจากโครงการได้อะไรอีก

นอกจากโครงการยักษ์แล้ว ยังมีเรื่องสิทธิประโยชน์ในการลงทุน โดยสิทธิประโยชน์การลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในกิจการโลจิสติกส์ 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมายตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอ จะได้รับการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี และได้สิทธิลดหย่อนภาษี 50% ในปีที่ 9-13 หากมีการดำเนินการเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดด้านความร่วมมือ การวิจัยต่างๆ ทำให้ “อาลีบาบา” จะได้รับสิทธิประโยชน์เหล่านี้

นอกจากนี้ยังมีสิทธิ์การเช่าที่ดินราชพัสดุถึง 50 ปี และสามารถพิจารณา และต่ออายุอีก 49 ปี แปลว่ามีความเป็นไปได้ที่จะได้เช่าที่สูงสุด 99 ปี

ทั้งนี้มีการระบุด้วยว่า อาลีบาบายังได้เจรจาเรื่องเกณฑ์ขั้นต่ำในการผ่อนปรน เรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำหนดสินค้า (rules of origin) เป็นเกณฑ์ที่อนุโลมให้วัสดุที่ไม่ผ่านตามเกณฑ์การเปลี่ยนพิกัดอัตราศุลกากร ยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรได้ รวมทั้งขอให้รัฐบาลสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการค้าออนไลน์ ผ่านระบบอาลีเพย์ (Alipay) ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าอาลีเพย์จะสามารถเข้ามาให้บริการในประเทศไทย แต่ยังเป็นการให้บริการผ่านความร่วมมือกับสถาบันการเงินของไทย ที่ได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดังนั้นทางอาลีบาบาจึงต้องการที่จะให้อาลีเพย์เข้ามาเป็นผู้ให้บริการชำระเงินโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงินของไทย

เหล่านี้เป็นสิทธิประโยชน์ที่ไทยได้มอบให้กับ “อาลีบาบา” ซึ่งเมื่อมากมายขนาดนี้ มีเหตุผลอะไรที่ “อาลีบาบา” โดย “แจ็ค หม่า” จะไม่เข้ามาลงทุน เพราะไทยเองนอกจากจะมีสินค้าที่จีนอยากได้ อีกความต้องการของจีนคือการปล่อยของมายังประเทศไทย

ธรรมชาติของพ่อค้า ย่อมต้องการกำไร และธรรมชาติของรัฐบาลก็ควรจะรักษาประโยชน์ของประเทศ

แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครบอกตรงๆ เลยว่าได้มอบอะไรให้เขาไปบ้าง และที่สำคัญ เมื่อเป็นการเปิดประตูพิเศษเฉพาะ คนเปิดประตูจะได้อะไรกลับมาบ้างหรือไม่

เพราะก็เป็นธรรมชาติของประชาชนเช่นกันที่อยากรู้ว่า เราต้องเอาอะไรไปแลกและคุ้มค่าหรือไม่ รวมถึงผู้บริหารคนที่ยินยอมให้เขาเข้ามาโดยไม่ต้องแข่งขัน ได้อะไรตอบแทนไปบ้างหรือไม่

คำถามว่าที่ว่าทำไมต้องเป็น “อาลีบาบา” คำตอบยังอยู่ในสายลม มีเพียงคำโฆษณาที่ลอยมาว่า “เขารวยแล้ว เขามาช่วย”

บทความโดย อสรพิษ

..

คำถามสำคัญ