วันพฤหัสบดี, เมษายน 19, 2561

ร่วมยินดีกับชาวสตูล... อุทยานธรณีสตูล ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจาก UNESCO เป็นอุทยานธรณีโลก แห่งแรกของประเทศไทย ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งธรณีของจังหวัดสตูล





ยูเนสโกยก 'สตูล' เป็น 'อุทยานธรณีโลก'


Apr 18, 2018
ที่มา Voice TV


อุทยานธรณีสตูลได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากองค์การยูเนสโก ขึ้นบัญชีเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลก หรือ Unesco Global Geopark แห่งแรกในประเทศไทย


ที่ประชุมสำนักเลขาธิการยูเนสโก ครั้งที่ 204 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส มีมติรับรอง 'อุทยานธรณีสตูล' เป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกแห่งแรกในประเทศไทย คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์ผ่านการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา และจะทำให้ไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยให้ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างยั่งยืน เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านการอนุรักษ์และเสริมสร้างความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติทั่วโลก

ทั้งนี้ ยูเนสโกนิยาม 'อุทยานธรณีโลก' ว่าเป็นขอบเขตพื้นที่ที่ประกอบด้วยแหล่งที่มีคุณค่าด้านธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม มีการบริหารจัดการแบบองค์รวมระหว่างการอนุรักษ์ การให้ความรู้ การศึกษาวิจัย และการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ตั้งแต่เริ่มต้น

ขณะที่ อุทยานธรณีสตูล ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ครอบคลุม 4 อำเภอของจังหวัดสตูล คือ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมือง รวมเป็นพื้นที่กว่า 2,597.21 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหินปูน มีเกาะน้อยใหญ่ และชายหาดที่สวยงาม มีความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน

ข้อมูลจากเว็บไซต์ อุทยานธรณีสตูล ระบุว่า "ผืนดินแห่งนี้ เป็นบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตยุคเก่า เกิดเป็นแหล่งสร้างออกซิเจนให้กับโลกในช่วงเวลานั้น ต่อมามีการยกตัวของเปลือกโลกก่อเกิดเป็นเทือกเขา และถ้ำ ซึ่งได้กลายเป็นบ้านหลังแรกของมนุษย์โบราณ ปัจจุบันผู้คนยังดำรงชีวิตโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของแผ่นดินนี้อยู่ และก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์"

ส่วนการพิจารณาสถานะอุทยานธรณีสตูลเป็นอุทยานธรณีโลก เป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2559 ที่เห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และมอบหมายให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ เสนอเรื่องต่อสำนักเลขาธิการยูเนสโก จนกระทั่งมีมติชี้ขาดที่ประชุมในครั้งนี้

ที่ผ่านมา ยูเนสโกประกาศรับรองอุทยานธรณีโลกเป็นจำนวนทั้งสิ้น 120 แห่ง ใน 33 ประเทศทั่วโลก โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก 4 แห่ง ใน 3 ประเทศ ในมาเลเซีย 1 แห่ง เวียดนาม 1 แห่ง และอินโดนีเซีย 2 แห่ง

Photo: Unesco/Satun Geopark

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ลาวเตรียมขอขึ้นทะเบียน "รำวง-สงกรานต์" เป็นมรดกโลก
ยูเนสโกยกย่อง 'กำพล วัชรพล' เป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์
ยูเนสโกเพิ่มมรดกโลกอีก 21 แห่ง

...



...

Springnews//อุทยานธรณีสตูล สู่อุทธยานธรณีระดับโลก



https://www.youtube.com/watch?v=-oMFxZTWk_0

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมเสนออุทธยานธรณีจังหวัดสตูล เป็นอุทยานธรณีระดับโลก เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวและเป็นสถานที่ศึกษาทางวิชาการสำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก

นับเป็นก้าวสำคัญอันยิ่งใหญ่ของประเทศไทยที่จะได้มีอุทยานธรณีโลก หลายคนคงคุ้นเคยกับอุทยานแห่งชาติ แต่กับคำว่าอุทยานธรณีนั้น คนไทยส่วนใหญ่อาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า คืออะไรและใช้หลักเกณฑ์ใดในการตัดสินจัดตั้งพื้นที่เป็นอุทยานธรณี 

และหากอธิบายตามหลักการที่ยูเนสโกตั้งไว้ อุทยานธรณีคือ พื้นที่ที่ประกอบไปด้วยแหล่งที่มีความสำคัญอย่างโดดเด่นทางด้านธรณีวิทยา รวมถึงคุณค่าทางด้านโบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม ที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ทั้งบนบกและทะเล 

กรมทรัพยกรธรณีได้ร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น ศึกษา วิจัย สำรวจและประเมินสภาพทรัพยากรธรณีในท้องถิ่นที่ยื่นเสนอขอจัดตั้งอุทยานธรณี โดยจะพิจาณาจากองค์ประกอบต่างๆ ที่ยูเนสโก เป็นผู้ กำหนด แล้วรัฐบาลจะยื่นเสนอต่อยูเนสโกพิจารณาประกาศเป็นอุทยานธรณีระดับโลก และสตูลกำลังถูกเสนอชื่อเป็นอุทยานธรณีแห่งใหม่ของโลก และแห่งแรกของไทย 

ขณะนี้กรมทรัพยากรธรณี ได้ศึกษาองค์ประกอบทางธรณีวิทยาในจังหวัดสตูล และจะผลักดันอุทยานธรณีสตูล ให้ขึ้นเป็นอุทยานธรณีระดับโลก 

ซึ่งราวเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน ยูเนสโก จะส่งเจ้าหน้าที่ มาสำรวจประเมินพื้นที่ และหากอุทยานธรณีสตูล ผ่านการพิจารณา // นอกจากจะเป็นอุทยานธรณีโลก แห่งแรกของไทย ยังจะเป็นอุทยานธรณีโลก แห่งล่าสุดของอาเซียน 

จะช่วยยกระดับการท่องเที่ยวของไทย เพิ่มคุณค่าแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาทางธรณีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย