วันศุกร์, เมษายน 27, 2561

การเมืองไทย ในกะลา.... ผบ.เหล่าทัพหนุน 'บิ๊กตู่' เล่นการเมือง ไม่หวั่นเป็นเครื่องมือ (วันเลือกตั้ง ประชาชน จะสั่งสอนพวกคุณ)




เมื่อวันที่ 26 เม.ย.61 ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผบ.ทหารสูงสุด กล่าวถึงการดูแลสถานการณ์เหตุการณ์บ้านเมืองภายหลังจะมีการชุมนุมในเดือน พ.ค.ว่า คงจะดูแลตามขอบเขตและอำนาจหน้าที่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวหน่วยงานต่างๆ ได้เตรียมแผนการรองรับไว้แล้ว ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการปักหลักค้างคืนในช่วงครบรอบ 4 ปี การยึดอำนาจของ คสช. เราคงใช้กฎหมายเป็นหลัก พร้อมพูดจาหารือทำความเข้าใจถึงขั้นตอนในการดำเนินการ ทั้งนี้คิดว่าที่ผ่านมาคงได้มีการพูดคุยกันไว้บ้างแล้ว

เมื่อถามถึงบทบาทของกองทัพ หลังนายกรัฐมนตรีมีท่าทีจะเล่นการเมือง พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวว่า แน่นอนทางกองทัพก็ยังเป็นเครื่องมือของรัฐบาลอยู่แล้ว การสนับสนุนรัฐบาลเป็นหน้าที่หลักของกองทัพ

เมื่อถามว่า บทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เริ่มชัดเจนในการลงเล่นการเมือง กองทัพยังสนับสนุนอยู่หรือไม่ พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวว่า เรายังสนับสนุนรัฐบาลและผู้นำรัฐบาลอยู่

เมื่อถามว่า หลังเกษียณจะเห็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ ร่วมพรรคทหารหรือไม่ พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องของอนาคต แต่ในความคิดส่วนตัวคงไม่เกี่ยว ซึ่งตนก็คงจะมีหน้าที่บทบาทในเรื่องของ สนช.เท่านั้น

เมื่อถามว่า กองทัพต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง จะรักษาจุดนี้ไว้อย่างไร พล.อ.ธารไชยยันต์ กล่าวว่า การปฏิบัติงานของทหารสนับสนุนงานตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งปกติจะมีแผนล่วงหน้าที่ชัดเจนเราก็จะดำเนินการไป ส่วนนโยบายที่เพิ่มเติมหรือปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การช่วยเหลือประชาชนหรือสิ่งที่เกิดขึ้นทันทีทันใดเราก็มีแผนงาน แผนเผชิญเหตุรองรับ ซึ่งภาพรวมใหญ่ๆ กองทัพปฏิบัติตามแผนและนโยบายที่วางไว้ ส่วนที่ฝ่ายการเมืองมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้กองทัพเป็นเครื่องมือในการหาเสียงนั้น คิดว่าแล้วแต่คนมอง ซึ่งปกติตั้งแต่ดำเนินการมาตนก็ทำอย่างนี้มาโดยตลอด ส่วนใครจะคิดอย่างไรเป็นเรื่องของมุมมองของแต่ละคน.

(https://www.thairath.co.th/content/1265879)

ooo





ปิยะบุตร’ โพสต์ไทยเดินมาถึงห้วงเวลา ‘ชี้ขาด’ ต้องการ ‘การเมืองแบบใหม่’ หรือ ‘แบบเก่า’

ผศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ หนึ่งในแกนนำจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Piyabutr Saengkanokkul เปรียบเทียบการเมืองแบบเก่าและการเมืองแบบใหม่ พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ ใช้วิธี “ดูด” หรือ “บีบบังคับ” อดีต สส มาเป็นแผง เป็นมุ้ง เพียงเพื่อหวังจะให้เป็นฐานในการเดินไปสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคแบบนี้ไม่มีทางที่จะทำการเมืองแบบใหม่ได้ มันเป็นได้เพียง พรรคชื่อใหม่ พรรคเกิดใหม่ ที่เป็น ”เสื้อผ้าอาภรณ์” ห่อหุ้ม “การเมืองแบบเก่า” เท่านั้น โดยระบุว่า

1.

การเมืองแบบใหม่ - การเมืองที่สร้างสรรค์ มุ่งเสนอนโยบายเพื่อพัฒนาประเทศ ถกเถียงอภิปรายด้วยเหตุด้วยผล มองฝ่ายตรงข้ามเป็นคู่แข่งทางการเมืองว่าฝ่ายใดจะเอาชนะใจประชาชนได้ มิใช่ ศัตรูที่ต้องทำลายล้าง

การเมืองแบบเก่า - การเมืองที่จ้องทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม สาดโคลน มุ่งโค่นล้มฝ่ายตรงข้ามโดยไม่เสนออะไรใหม่ และไม่คำนึงถึงวิธีการ ใช้ทุกวิธีในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามออกไป

2.

การเมืองแบบใหม่ - การเมืองที่พรรคการเมืองต้องการคะแนนเสียงผ่านการรณรงค์ การทำงานอย่างหนัก โน้มน้าวนำเสนอให้ประชาชนเลือก ผ่านนโยบาย คุณค่าอุดมการณ์ของพรรค และคุณสมบัติของผู้สมัคร

การเมืองแบบเก่า - การเมืองที่พรรคการเมืองต้องการที่นั่งในสภา โดยการ “ดูด” ตัวนักการเมือง อดีต ส.ส. ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

3.

การเมืองแบบใหม่ - การเมืองที่พรรคการเมืองไม่มีใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของแต่เพียงลำพัง แต่สมาชิกทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

การเมืองแบบเก่า - การเมืองที่พรรคการเมืองมีเจ้าของ อำนาจการตัดสินใจผูกขาดอยู่ที่คนไม่กี่คน

4.

การเมืองแบบใหม่ - การเมืองที่พรรคการเมืองได้เงินทุนมาใช้ในการรณรงค์ผ่านการระดมทุนและรับบริจาคทั่วประเทศ หรือ crowdfunding

ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพรรค ไม่ใช่เป็นเรื่องผู้ขอ-ผู้ให้ ประชาชนไม่ใช่ผู้ยื่นมือขอความช่วยเหลือ ขอเงินจากพรรค แต่ประชาชนคือหุ้นส่วนความเป็นเจ้าของพรรค เมื่อประชาชนเห็นว่าพรรคการเมืองใดมีแนวนโยบายที่ดี นิยมชมชอบ และน่าจะทำประโยชน์ให้เขาได้ ก็ต้องสนับสนุนพรรคนั้น ผ่านการบริจาค เข้าไปมีส่วนร่วม เสนอความคิด สนับสนุนพรรคนั้น มิใช่ นั่งเฉยๆรอเงินหรือความช่วยเหลือจากพรรค

การเมืองจะมิใช่เรื่องสงเคราะห์ แบบประชาชนผู้รับเงิน - พรรคผู้ให้เงิน หรือ ประชาชนผู้ให้คะแนน - พรรคผู้รับคะแนน อีกต่อไป

แต่การเมืองจะเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วม การเข้ามาผูกพันกันเพื่อผลักดันให้พรรคก้าวต่อไปข้างหน้า

การเมืองแบบเก่า - การเมืองที่พรรคการเมืองนำเงินทุนมาจากสมาชิกไม่กี่คน และสมาชิกเหล่านั้นก็กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในพรรค เสมือนพรรคการเมืองเป็นบริษัท ที่ต้องฟังผู้ถือหุ้นนักลงทุนรายใหญ่

ส่วนสมาชิกคนอื่นๆจะมีบทบาทใด พรรคการเมืองจะไปในทิศทางใด ก็ขึ้นกับบรรดา “ผู้ถือหุ้นใหญ่” ในพรรคนั้น เกิดการสร้าง “มุ้ง” ในพรรค โดยกระจายกันไปตามสัดส่วนเงินที่นำมาลงในพรรค หรือจ่ายให้สมาชิกพรรค

ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพรรค อยู่บนความสัมพันธ์ “ผู้ขอ-ผู้ให้” มิใช่ร่วมกันด้วยอุดมการณ์ หรือมีส่วนในการกำหนดแนวทาง

5.

การเมืองแบบใหม่ - การเมืองที่ได้คะแนนจากการทำงานในพื้นที่อย่างหนัก ผ่านเครือข่ายและคนในพื้นที่

ผู้สมัครคือผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากเครือข่ายในพื้นที่ มิใช่ ผู้มีอิทธิพลในพรรคจัดส่งมาให้จากส่วนกลาง โดยที่เครือข่ายในพื้นที่ไม่รู้จัก ไม่มีส่วนในการกำหนด

การเมืองแบบเก่า - การเมืองที่หวังคะแนนจากหัวคะแนน เงิน ประโยชน์ต่างตอบแทน อำนาจอิทธิพล

ผู้สมัคร คือ ผู้ที่มีอิทธิพลในพรรคเคาะส่งมาให้ โดยไม่ทำงานในพื้นที่กับเครือข่ายเลย

6.

การเมืองแบบใหม่ - การเมืองที่พรรคการเมืองมีอุดมการณ์ คุณค่าพื้นฐานของพรรค มี identity ของพรรค สามารถจัดประเภทได้ว่าเป็นพรรคซ้าย-ขวา ตามเฉดสเปคตรัมอุดมการณ์ทางการเมือง

การเมืองแบบเก่า - การเมืองที่พรรคการเมืองไม่มีอุดมการณ์พื้นฐาน ตั้งขึ้นมาเพื่อหวัง “เสียบ” เป็นรัฐบาล สร้างอำนาจต่อรองในการเข้าร่วมรัฐบาล โดยไม่คำนึงถึงอุดมการณ์หรือนโยบาย มุ่งต่อรองจำนวนเก้าอี้ รมต แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน พรรคการเมืองเหล่านี้ไม่อาจจัดประเภททางอุดมการณ์ได้ เพราะ อะไรก็ได้ขอให้ได้เป็นรัฐบาล

7.

การเมืองแบบใหม่ - การเมืองที่พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมในระยะยาว มิใช่ตั้งมาเฉพาะกิจ ชั่วคราว พอไม่ได้เป็นรัฐบาล ไม่มีที่นั่งในสภา ก็เลิก

พรรคการเมืองแบบใหม่ตั้งมาเพื่อทำกิจกรรมหลากหลาย มิใช่มีแต่การเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องวิชาการ การทำนโยบาย การทดลองนโยบาย งานวัฒนธรรม งานเยาวชน ฯลฯ ชีวิตของพรรคผูกพันกับสังคมตลอดเวลา มิใช่มามีชีวิตเมื่อคราวเลือกตั้งเท่านั้น

การเมืองแบบเก่า - การเมืองที่พรรคการเมืองตั้งมาเพื่อหวังลงสนามเลือกตั้ง เฉพาะกิจ เฉพาะกาล สนใจดำเนินกิจกรรมแต่เรื่องเลือกตั้ง

8.

การเมืองแบบใหม่ - การเมืองที่พรรคการเมืองมิใช่เป็นพรรคจังหวัด พรรคท้องถิ่น พรรคระดับประเทศ เท่านั้น แต่เป็นพรรคระดับนานาชาติ ระดับสากลด้วย

พรรคการเมืองติดต่อสื่อสารกับพรรคการเมืองอื่นจากต่างประเทศหรือองค์กรเอกชนจากต่างประเทศที่มีแนวทางใกล้กัน รณรงค์ในเรื่องสากลควบคู่กับเรื่องในประเทศ

การเมืองแบบเก่า - การเมืองที่พรรคการเมืองแสดงบทบาทอยู่แค่ระดับจังหวัด ทัองถิ่น ไม่สนใจดำเนินกิจกรรมในเรื่องสากล หรือรู้จักติดต่อกับพรรคจากประเทศอื่น

9.

การเมืองแบบใหม่ - การเมืองที่พรรคการเมืองเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคทุกคนเข้ามามีบทบาท มีโอกาสไต่เต้าขึ้นมารับตำแหน่งและมีบทบาทสำคัญตามความรู้ความสามารถ

การเมืองแบบเก่า - การเมืองที่พรรคการเมืองไม่เปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนได้ไต่เต้าเข้ามามีบทบาทตามความสามารถ แต่ผูกขาดไว้กับสมาชิกไม่กี่คน

...

การเมืองไทยเดินทางมาถึงห้วงเวลาแห่งการชี้ขาดระหว่างการเมืองแบบใหม่กับการเมืองแบบเก่า

การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง คือ โอกาสอันสำคัญที่ประชาชนจะได้ชี้ขาดว่า ต้องการการเมืองแบบใหม่หรือแบบเก่า

เราจำเป็นต้องขีดเส้นแบ่งให้ชัดว่า อะไร คือการเมืองแบบเก่า อะไร คือการเมืองแบบใหม่

พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ ใช้วิธี “ดูด” หรือ “บีบบังคับ” อดีต สส มาเป็นแผง เป็นมุ้ง เพียงเพื่อหวังจะให้เป็นฐานในการเดินไปสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคแบบนี้ไม่มีทางที่จะทำการเมืองแบบใหม่ได้ มันเป็นได้เพียง พรรคชื่อใหม่ พรรคเกิดใหม่ ที่เป็น ”เสื้อผ้าอาภรณ์” ห่อหุ้ม “การเมืองแบบเก่า” เท่านั้น

ถึงเวลาที่ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดชี้ชะตาว่า ต้องการการเมืองแบบใหม่ หรือการเมืองแบบเก่า

นี่คือโอกาสในการ disrupt แวดวงการเมืองเสียใหม่

ยิ่งทำการเมืองแบบเก่าเท่าไร ก็ยิ่งช่วยขีดเส้นแบ่ง “ใหม่” และ “เก่า” ออกจากกันให้ชัดขึ้นเท่านั้น

Facebook : Piyabutr Saengkanokkul
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10155407320445848&id=508260847


ที่มา FB

การเมืองไทย ในกะลา