วันจันทร์, เมษายน 23, 2561

ชุมชนป้อมมหากาฬ จัดกิจกรรมอำลาชุมชนวันสุดท้าย ยุติมหากาพย์ 25 ปี



https://www.facebook.com/yvancohen/videos/10155279713537854/


A sad day. After two decades of fighting to preserve their community, their homes and the historic enclave they inhabited, the last families of Pom Mahakarn finally gave up the struggle. Amidst the ruins of their once vibrant community, their wooden homes destroyed, many shed bitter tears. Bangkok's municipal authorities will replace this historic treasure, which could have been a fascinating tourist attraction, with the manicured emptiness of a park.


ooo


ชุมชนป้อมมหากาฬ จัดกิจกรรมอำลาชุมชนวันสุดท้าย
.
ชาวชุมชน ‘ป้อมมหากาฬ’ จัดกิจกรรมอำลาครั้งสุดท้าย เพื่อร่วมบอกเล่าและบันทึกความทรงจำก่อนส่งพื้นที่ให้ กทม. ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้
.
บรรยากาศในวันนี้ ชาวชุมชนป้อมมหากาฬได้กล่าวขอบคุณและขออำลาพื้นที่แห่งชีวิตนี้เป็นครั้งสุดท้าย เป็นสัญญาณบอกว่านี่คือการจบมหากาพย์เรื่องราวการต่อสู้กับการไล่รื้อชุมชนมานานหลายสิบปี
.
ก่อนที่ทุกคนจะร่วมรับประทานอาหารเย็นด้วยกัน ณ บริเวณลานชุมชน ซึ่งหลายคนที่มาร่วมงานวันนี้ มีทั้งคนในชุมชนที่ย้ายออกไปก่อนหน้าและคนในชุมชนที่ยังเหลืออยู่ รวมถึงเครือข่ายภาคประชาชนมาร่วมกิจกรรมนี้มากกว่า 50 คน
.
สมาชิกชุมชนคนหนึ่งบอกว่า นี่จะเป็นการจัดกิจกรรมครั้งสุดท้ายเพื่อแสดงความอาลัยให้กับชุมชนป้อมมหากาฬ แต่อยากให้กรณีนี้เป็นกรณีศึกษากับการไล่รื้อชุมชนอื่นๆ ในอนาคตต่อไป โดยเฉพาะวิถีชีวิตของคนในชุมชน แม้ว่าตอนนี้หลายคนจะเริ่มหาที่อยู่ใหม่ได้บ้างแล้ว ทั้งที่อยู่ส่วนตัว รวมถึงอาศัยบุคคลอื่นอยู่ แต่ชาวชุมชนบอกว่าจะรักษาวิถีชาวป้อมต่อไป และจะหาที่อยู่ใหม่โดยรวบรวมคนป้อมมหากาฬกลับไปเป็นชุมชนดังเดิม
.
จากการสำรวจพื้นที่ในชุมชนป้อมมหากาฬ ตอนนี้ยังเหลือบ้านเรือนอีกประมาณ 10 หลังที่ยังไม่ได้รื้อถอน โดยยังมีชาวชุมชนอาศัยอยู่ประมาณ 30 คน ซึ่งการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างภายในชุมชน กทม. กำหนดให้ประชาชนรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 25 เมษายนนี้ โดยที่ กทม. จะร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและภาคส่วนอื่นๆ ในการเข้ารื้อย้ายบ้านเรือน เพื่อปรับภูมิทัศน์พื้นที่ป้อมมหากาฬให้เป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถใช้พื้นที่ได้ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ จากนั้นวันที่ 7 พฤษภาคมทาง กทม. จะเข้าไปดำเนินการปรับภูมิทัศน์ชั่วคราวให้เรียบร้อยสวยงาม
.
ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม


THE STANDARD



























ooo


ย้อนรอย 1 ปี

ชุมชนป้อมมหากาฬ
MARCH 4, 2017





1 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่กรุงเทพมหานครได้ให้ข่าวกรณีการให้ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร จำนวน 57 หลังคาเรือน รื้อย้ายออกจากพื้นที่เพื่อจะพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 นับตั้งแต่วันนั้นไม่มีวันไหนเลยที่พี่น้องชุมชนป้อมมหากาฬจะนอนหลับได้สนิท ไม่ต้องหวาดผวาหรือกังวลใจ 

1 ปีที่ผ่านมา เราทำอะไรมากมาย ด้วยความหวัง ความเชื่อ และด้วยพลังทั้งหมดของคนตัวเล็กๆ ในเมืองใหญ่แห่งนี้ 

ลำดับ การเคลื่อนไหวชุมชนป้อมมหากาฬ

7 มี.ค.59 - กรุงเทพมหานครให้ข่าวกรณีการให้ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร จำนวน 57 หลังคาเรือน รื้อย้ายออกจากพื้นที่ เพื่อจะพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ

- ชุมชนป้อมมหากาฬ ออกแถลงการณ์

9 มี.ค.59 - Centre for Architecture and Human Rights ออกแถลงการณ์ส่งถึงผู้ว่าฯ กทม.

27 มี.ค.59 - รวมพลคนป้อมมหากาฬ

28 มี.ค.59 - กทม.ติดประกาศให้ผู้อยู่อาศัยในบริเวณป้อมมหากาฬบนพื้นที่เวนคืนของกรุงเทพมหานคร ทำการรื้อและย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 30 เม.ย.59 

18 เม.ย.59 - ชุมชนป้อมมหากาฬและองค์กรภาคี ออกจดหมายเรื่อง ขอให้มีคำสั่งทบทวนหรือชะลอโครงการหรือกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อสิทธิชุมชน ถึง รมต.มหาดไทย, รมต.ยุติธรรม, รมต.วัฒนธรรม, รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี และรมต.ท่องเที่ยวและกีฬา 

12 เม.ย.59 - ครั้งที่ 1 ชุมชนป้อมมหากาฬ และภาคีเครือข่าย ยื่นจดหมายขอทบทวนแผนในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ และมีการพูดคุยกับตัวแทนคณะอนุกรรมการฯ แต่ด้วยไม่มีความชัดเจนของตัวแทนที่มาร่วมพูดคุยกับชุมชนป้อมมหากาฬ จึงทำให้ชุมชนฯ ตัดสินใจไม่ยื่นจดหมาย และแจ้งนัดหมายขอเข้าพบประธานอนุกรรมการฯ ในวันที่ 20 เม.ย.59 

20 เม.ย.59 - ครั้งที่ 2 ชุมชนป้อมมหากาฬ และภาคีเครือข่าย ยื่นจดหมายขอทบทวนแผนในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ ถึงประธานคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยผ่านสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

23 เม.ย.59 - งานสมาพ่อปู่ป้อมมหากาฬ

29 เม.ย.59 - ชุมชนป้อมมหากาฬส่วนหนึ่งได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนประกาศกรุงเทพมหานคร และขอให้ศาลได้มีคำสั่งทุเลาบังคับตามประกาศ ฉบับดังกล่าว ด้วยนั้น ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคดีไว้พิจารณา หมายเลขคดีดำ ที่ 619/2559 และอยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณาคดี 

2 พ.ค.59 - ชุมชนป้อมมหากาฬ ทำจดหมายถึงผู้ว่าฯ ขอให้ระงับการดำเนินการตามประกาศกรุงเทพมหานคร โดยอ้างถึง รายงานกระบวนพิจารณา ศาลปกครองกลาง ลงวันที่ 29 เม.ย.59 

12 พ.ค.59 - นำส่งข้อมูลประกอบผู้ฟ้อง 12 ราย ตามคำขอจากศาลปกครอง 

23 มิ.ย.59 - เวทีเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินบริเวณป้อมมหากาฬ ระหว่างชุมชนป้อมมหากาฬกับกรุงเทพมหานคร

24 มิ.ย.59 - เข้าพบรองผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง และผู้บริหารกทม. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

1 ก.ค.59 - ยื่นจดหมายแก่ นางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่อง ขอความเป็นธรรมต่อกรณีปัญหาชุมชนป้อมมหากาฬ และขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนป้อมมหากาฬอย่างมีส่วนร่วม

10 ก.ค.59 - เปิดตัว Public Space พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร ชุมชนป้อมมหากาฬ

16 ก.ค.59 - เวทีเสวนา “รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ คือการทำลายประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ”

27 ก.ค.59 - จดหมายเปิดผนึกจาก the International Alliance of Inhabitants (IAI)ถึง ผู้ว่า กทม. และรัฐบาลไทย แสดงความไม่เห็นด้วยในการรื้อชุมชน 

3 ส.ค.59 - สนช.ลงพื้นที่ รับฟังปัญหาความเดือดร้อนและข้อเสนอชุมชนป้อมมหากาฬ

5 ส.ค.59 - เครือข่ายภาคประชาสังคมและนักวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมือง แถลงและยื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อเสนอแนวทางในการรักษาคุณค่าพื้นที่ประวัติศาสตร์ชานพระนครให้เป็นสมบัติชาติ เพื่อเสนอต่อ ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

9 ส.ค.59 - สืบเนื่องชุมชนป้อมมหากาฬได้ยื่นจดหมายร้องถึงประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 ลงเลขหนังสือรับ กสม.ที่ 446/2559 โดยร้องให้คณะอนุกรรมการฯ ทำหน้าที่ในการจัดให้เกิดเวทีปรึกษาหารือหลายฝ่ายเพื่อค้นหาแนวทางแก้ปัญหากรณีที่ดินชุมชนป้อมมหากาฬ ที่ยืดเยื้อมากว่า 24 ปีนั้น คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้จัดให้มีเวทีปรึกษาหารือหลายฝ่าย เช่น ผู้แทนผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ผู้แทนอธิบดีกรมศิลปากร ผู้แทนจากสำนัก งานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทน ปปช. ผู้แทน สตง. นักกฎหมาย นักวิชาการ ตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬ ตัวแทนประชาคมบางลำพู และสื่อมวลชน ทั้งนี้ ภายหลังจากการแลกเปลี่ยนกันอย่างหลากหลาย ผู้ร่วมเวทีต่างก็เห็นแนวทางร่วมกันว่า พระราชกฤษฎีกาเวนคืน ปีพ.ศ.2535 เป็นประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องมีการศึกษาและปรับปรุงแก้ไข โดยมีมติร่วมกันให้ คณะอนุกรรมการสิทธิดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกรณีชุมชนป้อมมหากาฬ ที่มีตัวแทนจากภาควิชาการ ภาคกฎหมาย ภาคประชาสังคม เข้ามาร่วมกันศึกษาและพัฒนาข้อเสนอต่อกรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกัน ทางคณะอนุกรรมการสิทธิฯ จะเร่งดำเนินการแจ้งหนังสือถึงผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้หยุดการไล่รื้อชุมชน และระงับการให้ข้อมูลที่จะก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจจากชุมชน รวมทั้งแจ้งให้ทราบถึงมติที่ประชุมดังกล่าวนี้

15 ส.ค.59 - กรุงเทพมหานคร ได้ปิดประกาศบริเวณชุมชนป้อมหากาฬ ระบุให้ชุมชนรื้อย้ายออกจากบริเวณป้อมมหากาฬ โดยทางกทม.จะเข้ามาดำเนินการรื้อย้ายให้ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 59 เป็นต้นไป จนกว่าจะแล้วเสร็จ ขณะที่ ชุมชนป้อมมหากาฬ ยังยืนยันแนวทางการบริหารจัดการพึั้นที่ป้อมมหากาฬ ด้วยกระบวนการพัฒนาสวนสาธารณะบนฐานการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อจะทำให้สวนแห่งนี้มีชีวิตชีวา เเละมีคุณค่าทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม ส่วนประเด็นที่กทม.อ้างถึงพรฎ.เวนคืน ปีพ.ศ.2535 ก็ดี คำพิพากษาศาลปกครองปีพ.ศ. 2545 ก็ดี บันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือใดๆก็ดีนั้น จากการประชุมร่วมกันหลายฝ่ายในหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา เวทีคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มีหน่วยงานต่างๆที่กทม.ได้กล่าวอ้างถึงอำนาจนั้น ต่างเห็นพ้องกันว่า ความขัดแย้งดังกล่าวมีทางออกด้วยการทบทวนปรับแก้ข้อกฏหมายเฉพาะกรณีนี้โดยยึดหลักการเรื่องคุณค่าของพื้นที่แห่งนี้เป็นสำคัญ ขณะที่ปัญหานี้มีทางออก แต่กทม.กลับปฏิบัติการโดยไม่รับฟังความอย่างรอบคอบ รอบด้าน และตระหนักถึงความพลวัตรของชุมชน อันรวมทั้งคุณค่าของชุมชนในฐานะพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของคุณค่าและมูลค่าของชุมชนในเขตเมืองเก่าแห่งนี้ โดยชุมชนยังยืนยันว่าไม่ได้ขัดขวางการพัฒนาสวนแต่อย่างใด หากแต่ชุมชนพร้อมที่จะเป็นส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสวนเสมอ 

16 ส.ค.59 - นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ทำหนังสือถึง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอให้ กทม. ระงับการรื้อถอนชุมชนป้อมมหากาฬไว้ก่อน จนกว่าคณะอนุกรรมการฯจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน

17 ส.ค.59 - คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดเวทีปรึกษาหารือพิจารณาข้อกฎหมายเพื่อหาทางออกต่อกรณีปัญหาชุมชนป้อมมหากาฬ โดยมีนักวิชาการ ผู้แทนคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนกรุงเทพมหานคร ฯลฯ โดยได้ช้อสรุปร่วมกัน 

18 ส.ค.59 - เครือข่ายภาคประชาสังคมและนักวิชาการ เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมือง และตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬ เข้าพบประธานสภากรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 

24 ส.ค.59 - เครือข่ายภาคประชาสังคมและนักวิชาการ เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมือง และตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬ เข้าพูดคุยให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี 

27 – 28 ส.ค.59 - กิจกรรมชุมชนป้อมมหากาฬ ชมภาพยนตร์ ชิมอาหารคาวหวาน และช๊อปสินค้าชุมชน

30 ส.ค.59 - ประกาศหยุดกิจกรรมทุกอย่างภายในชุมชนป้อมมหากาฬ / ปิดชุมชน

31 ส.ค.59 - สมาคมสถาปนิกสยาม ยื่นหนังสือด่วนที่สุดถึง กทม. กรมศิลปากร
- เครือข่ายภาคประชาสังคมและนักวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมือง ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เรื่อง ขอให้แจ้งหยุดการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬและนำแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนฯ ด้วยการมีส่วนร่วมไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงทบทวนแผนแม่บทฯ

1 ก.ย.59 - กทม. ติดตั้งป้ายประกาศและผังแสดงอาคารที่เจ้าของโอนกรรมสิทธิ์ให้ กทม.แล้ว

3 – 4 ก.ย.59 - กทม.เข้าดำเนินการรื้อถอนบ้าน ภายในชุมชนป้อมมหากาฬ โดยมีการเจรจาจนเกิดข้อตกลงร่วมกัน ด้วยการเปิดทางให้รื้อบ้าน 12 หลังตามที่เจ้าของบ้านสมัครใจเท่านั้น ไม่มีการรื้อถอนบ้านไม้โบราณ และเดินหน้าจัดตั้งคณะกรรมการพหุภาคี

3 ก.ย.59 - สภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ ออกแถลงการณ์หยุดการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ

6 ก.ย.59 - เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) ออกแถลงการณ์เรื่อง หยุดไล่รื้อ ชุมชนป้อมมหากาฬ

7 ก.ย.59 - เครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม ออกแถลงการณ์เรื่อง ไม่เห็นด้วยต่อการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ และข้อเสนอว่าด้วยเมืองที่ไม่กีดกันใครออกไป

8 ก.ย.59 - ภาคีเครือข่ายเชียงใหม่จัดการตนเอง ออกแถลงการณ์เรื่อง หยุดไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ และสร้างกระบวนการจัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม

-ตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬ ตัวแทนชุมชนย่านเมืองเก่า และตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมและนักวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมือง ยื่นจดหมายถึงนายกฯ เพื่อขอจัดตั้ง คณะกรรมการพหุภาคี

10 ก.ย.59 - คล้องแขนหน้าป้อม มหากาฬไม่โดดเดี่ยว
-ผู้บริหาร ม.รังสิต ออกแถลงการณ์ค้าน กทม.รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ

16 ก.ย.59 -เจ้าหน้าที่ระดับภูมิภาค สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนกับชุมชนป้อมมหากาฬ

17 – 18 ก.ย.59 - Co Create Mahakan 

20 ก.ย.59 - อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล พร้อมนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ. ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนป้อมมหากาฬ

21 ก.ย.59 - กทม.ปิดประกาศ ระบุข้อความ “พื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ เป็นที่สาธารณประโยชน์ ห้ามมิให้ผู้ใดบุกรุกโดยเด็ดขาด

25 ก.ย.59 - เพลินมหากาฬ อาหาร ลิเก

29 ก.ย.59 - กางร่ม ห่มป้อม มหากาฬ ไม่โดดเดี่ยว ภาคประชาชนร่วมแสดงพลังกางร่มหน้ากำแพงชุมชนป้อมมหากาฬ เรียกร้องหยุดไล่รื้อ เดินหน้าจัดตั้งคณะกรรมการพหุภาคี 

30 ก.ย.59 - กทม. เจ้าของบ้านที่จะประสงค์จะรื้อย้าย พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ จะเข้ามาดำเนินการรื้อบ้าน จนเกิดการเจรจา ชุมชนไม่ติดขัดเรื่องย้าย แต่ขออย่าเพิ่งรื้อถอนบ้าน จนเกิดการตกลงจะเข้ามาดำเนินการอีกครั้ง 6 ตุลาคม 

1 ต.ค.59 - อ.วสันต์ พานิช อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ

3 ต.ค.59 - ชุมชนป้อมมหากาฬพร้อมสมาพันธ์คนจนเมือง ร่วมขบวนรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลก พร้อมยื่นหนังสือหยุดไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ แก่รองผู้ว่า ผุสดี ตามไท

5 ต.ค.59 - คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเรื่องที่เป็นวาระเร่งด่วนและการแก้ไขปัญหาการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ มีการประชุม โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานที่ประชุม
โดยในวาระพิจารณาเรื่องชุมชนป้อมมหากาฬนั้น ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) ได้เตรียมนำเสนอข้อมูลการพัฒนาเมืองและพื้นที่ป้อมมหากาฬด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมตามแนวทางประชารัฐ ด้วยมองเห็นศักยภาพของชุมชนป้อมมหากาฬและย่านเมืองเก่า ทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรม วิถีความเป็นชุมชน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ยั่งยืน การท่องเที่ยว รวมทั้งการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม 

หากแต่ไม่ได้มีการนำเสนอข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด มีเพียงกรุงเทพมหาคร โดยนายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการกองกรรมสิทธิ์ สำนักโยธา กรุงเทพมหานคร ได้นำเสนอข้อมูลฝ่ายเดียว ซึ่งได้เสนอข้อมูลให้รื้อเช่นเดิม 

ภายหลังการนำเสนอข้อมูลของกทม. แล้วเสร็จ ประธานที่ประชุม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้สรุปให้มีการดำเนินการรื้อ เนื่ิองจากมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน พ.ศ.2535 ที่จำเป็นต้องเดินหน้าต่อ แต่ในการดำเนินการนี้ต้องมีการดูแลประชาชน โดยให้หลายหน่วยงาน คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ทหาร ตำรวจเข้ามาช่วยดูแล ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้ ไม่ได้กำหนดเร่งรัดเรื่องเวลาแต่อย่างใด
6 ต.ค.59 - ชุมชนป้อมมหากาฬ แถลง ไม่ได้ขัดในประเด็นข้อกฎหมาย หากแต่ยังเห็นว่า การประชุมดังกล่าวควรที่จะเปิดโอกาสให้มีการนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงต่อกรณีชุมชนป้อมมหากาฬอย่างรอบคอบและรอบด้าน แต่อย่างไรก็ตาม ชุมชนป้อมมหากาฬเคารพต่อข้อสรุปดังกล่าว แต่ก็ยังจะเดินหน้าสื่อสารสร้างความเข้าใจเพื่อขอโอกาสในการเข้าร่วมพัฒนาเมืองและพื้นที่ป้อมมหากาฬตามแนวทางประชารัฐต่อไป

7 ต.ค.59 - ยื่นจดหมายแก่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เรียกร้องให้เปิดโอกาสรับฟังข้อเสนอจากชุมชนและภาคีเครือข่าย 

11 ต.ค.59 - Co Create Mahakan 2 ชุมชนป้อมมหากาฬกับทางออกกฎหมาย
หลัง 13 ต.ค -งดกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ ในชุมชน มีเฉพาะการประชุมชุมชน การทำความสะอาดปรับแต่งชุมชน และการร่วมเป็นจิตอาสางานพระราชพิธี 

29 พ.ย.59 - กทม.มาติดประกาศเรื่องการดำเนินการรื้อถอนชุมชนป้อมมหากาฬ
- ชุมชนออกแถลงการณ์ แสดงจุดยืนต่อประกาศดังกล่าว 

10-25 ธค.59 สมาคมสถาปนิกสยามฯ จัดค่ายอาสาสมัครสำรวจรังวัด Mahakan VERNADOC 20 ธ.ค.59 - ผู้นำชุมชนร่วมเวที 100 ปี เจน เจค๊อปส์ แนวคิดและมุมมองต่อการพัฒนาเมือง
- ตัวแทนชุมชนร่วมงานสมัชชาสุขภาพ นำเสนอแนวทาง Co – Creation

24-25 ธ.ค.59 มาหากัน ณ ป้อมมหากาฬ 5 ม.ค.60 ร่วม เวทีเกาะรัตนโกสินทร์ การทับซ้อน และมิติของพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต

7 ม.ค.60 เป็นหนึ่งในพื้นที่เรียนรู้ ค่าย Workshop เดินได้ Behind Bangkok

14-15 ม.ค.60 มาหากัน ณ ป้อมมหากาฬ

14 ก.พ.60 วงคุยร่วมกันของภาคประชาสังคม เอกชน ในย่านเมืองเก่า เพื่อระดมความคิดเห็นร่วมกันขับเคลื่อนจัดตั้งสมัชชาย่านเมืองเก่า เพื่อร่วมกำหนด ออกแบบนโยบายสาธารณะของย่านเมืองที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสุขภาวะของพื้นที่

27 ก.พ.60 การประชุมของกรุงเทพมหานคร เรื่องการดำเนินการรื้อย้ายชุมชนบริเวณป้อมมหากาฬ ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงาน ประกอบด้วย หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ผู้แทน สน.สำราญราษฎร์ สำนักงานเขตพระนคร สำนักการโยธา เข้าร่วมประชุม ที่มีการเปิดเผยภายหลังการประชุมว่าจะเข้ารื้อย้ายบ้านที่พร้อมและยินยอมให้รื้อถอน จำนวน 6 หลัง

2 มี.ค.60 ประกาศกรุงเทพมหานคร ลงวันที่2 มีนาคม พ.ศ.2560 ระบุว่า กรุงเทพมหานครจะเข้าทำการรื้อถอนโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินสัมภาระจำนวน 10 หลัง ได้แก่ บ้านเลขที่ 61 95 107/1-3 127 127/1 203 187 189 191 และ 193

3 มี.ค.60 ชุมชนประสานไปยัง ป.พัน 1 รอ. เพื่อแจ้งให้ กทม.เข้าดำเนินการเก็บขยะจากการรื้อถอนบ้านเมื่อช่วงเดือนกันยายน 59

4 มี.ค.60 กรุงเทพมหานคร เข้าดำเนินการจัดเก็บขยะเศษซากการรื้อบ้านถอนออก พร้อมรื้อบ้านเลขที่ 203 ภายในชุมชนป้อมมหากาฬ

6 มี.ค.60 กรุงเทพมหานคร จะเข้าดำเนินการรื้อถอนบ้านจำนวน 6 หลัง ที่มีการระบุว่าได้รับการยินยอมให้รื้อถอน โดยแจ้งเวลาเข้าทำการ 07.00 น. 1 ปีที่ผ่านมากับความไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน 

26 ปีของการถูกถอดสิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิความเป็นชุมชน(การศึกษา การรักษาพยาบาล ฯลฯ) ด้วยเขตพระนครถอนชื่อชุมชนป้อมมหากาฬออกจากความเป็นชุมชน

25 ปีของการยืนหยัดขอพัฒนาพื้นที่ป้อมมหากาฬอย่างมีส่วนร่วม 

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราลงมือทำนั้น เรากำลังพูดถึงการมีส่วนร่วมของผู้คนกับเมือง เมืองที่ที่ผู้คนร่วมคิด ร่วมกำหนด ร่วมออกแบบ แนวทาง วิธีการ และกระบวนการในการใช้ชีวิต ใช้สอยและใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน ไม่ใช่แค่การใช้ประโยชน์ที่มองเฉพาะวันนี้พรุ่งนี้ แต่คือการใช้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างมีส่วนร่วม สร้างสรรค์ และยั่งยืน 

เราขอโอกาส พิสูจน์ตัวเองต่อสังคม มาร่วมสร้างเมืองที่เราต่างเป็นเจ้าของร่วมกัน

ที่มา FB
ชุมชนป้อมมหากาฬ