วันอาทิตย์, เมษายน 29, 2561

อารมณ์ ‘เหลืออด’ ก้าวข้ามทักษิณ หนักหนายิ่งกว่าทวงคืนผืนป่าหมู่บ้านตุลาการ

“คนแถวนี้ถ้าเขาไม่เหลืออดจริงๆ เขาไม่ออกมาประท้วง หรือเรียกร้องอะไรหรอก” ถ้อยคำที่ Pipob Udomittipong เขียนโพสต์ว่า “คนเหนือแต๊ ๆ ที่ไม่ได้ยุ่งกับการเมืองเลยบอกผม”

ถึงเหตุการณ์ที่ชาวเชียงใหม่ กว่าพันพร้อมเพรียงกันออกมาเรียกร้อง “ให้นายกรัฐมนตรี สั่งรื้อถอนบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ ภาค ๕ ที่รุกล้ำแนวเขตป่าธรรมชาติ เพื่อปรับพื้นที่และฟื้นฟูให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม” (@Weeranan VoiceTV21)
นอกจากนั้นยังมีผู้ตอบสำรวจ นิด้าโพล ๘๕.๒ เปอร์เซ็นต์ของตัวอย่าง ๑,๒๕๐ คน เห็นว่าการขึ้นไปจัดทำโครงการสร้างบ้านพักตุลาการอย่างหรูนี้ “ไม่เหมาะสม

เพราะเป็นการทำลายป่าไม้ ทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศ สิ้นเปลืองงบประมาณควรนำงบประมาณไปใช้ทำอย่างอื่นที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไม่ควรมีสิ่งปลูกสร้าง”

อีกทั้งโพลของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์นี้ยังพบว่า “ส่วนใหญ่ร้อยละ ๕๓.๘๔ ระบุว่าเห็นด้วย...กับการรื้อถอนบ้านพักตุลาการศาลบริเวณดอยสุเทพออกทั้งหมด “เพราะจะได้คืนผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม และจะเป็นการช่วยอนุรักษ์ผืนป่าเอาไว้


เช่นนี้ก็น่าจะเกินพอให้มีการยุติโครงการอย่างสิ้นเชิง และรื้อถอนวัสดุก่อสร้างต่างๆ ออกไปให้หมด มิใช่แก้ไขปัญหาด้วยปาก บอกว่ายับยั้งและจะไม่ให้ตุลาการเข้าไปอยู่อาศัย แต่การก่อสร้างก็ยังดำเนินมา อย่างน้อยในตลอดเวลากว่าเดือนที่เริ่มมีกระบวนการประท้วงคัดค้านเกิดขึ้น

มิหนำซ้ำฝ่ายตุลาการผู้ได้รับประโยชน์เกินเต็มจากโครงการนี้แสดงความเห็นแก่ตัวจะเอาแต่ได้ อดีตผู้พิพากษาระดับประธานศาลนายหนึ่งอ้างการปักปันโดยทหาร ให้เนื้อที่ ๑๔๗ ไร่ของโครงการอยู่นอกเขตป่าสงวน

ผู้พิพากษาคนนั้นยังแสดงอาการพาลพาโล ไปแขวะโครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่งในเนื้อที่กว่า ๖ พันไร่ว่าลุกล้ำป่าเหมือนกันใยไม่มีใครค้าน อดีตผู้พิพากษาคนนั้นคงหูตาเมามัวเสียจนมองไม่เห็นว่าโครงการสร้างมหาวิทยาลัยนั้นเป็นประโยชน์ทางการศึกษาแก่เยาวชนของชาติเป็นหมื่นเป็นแสนคน และเป็นล้านๆ ในระยะยาว

แต่โครงการหมู่บ้านป่าแหว่งบนดอยสุเทพ เป็นความสุขสบายส่วนตัวของผู้พิพากษาไม่กี่สิบคน ไฉนผู้มีอาชีพบังคับใช้กฎหมายจึงต้องมีอภิสิทธิ์ความเป็นอยู่สูงส่งบนเขา ขณะที่คนธรรมดาไม่สามารถทำได้

อดีตผู้พิพากษาระดับสูงถึงดอยอีกคนมีหน้าบอกว่า ขืนไม่ให้ผู้พิพากษาอยู่บ้านเก๋ไก๋รายล้อมด้วยป่าอย่างนี้ ชาวบ้านต้องเสียเวลาไปฟังการพิจารณาคดีถึงกรุงเทพฯ เชียวละ จึงขอให้พวกตุลาการได้อยู่อาศัยใช้สิทธิพิเศาไปก่อนสักสิบปีดูสิว่าจะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสียไปจากการก่อสร้างได้ไหม

เหล่านั้นน่ะหรือคือความคิดความอ่านของคนที่ทำหน้าที่พิพากษาคดีความเพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม มิน่าประเทศชาติถึงได้ถดถอยทางจริยธรรมในความเสมอภาคแห่งมนุษยชนลงไปได้เพียงนี้ เมื่อผู้ใช้กฎหมายอ้างบางตัวบทให้เกิดความได้เปรียบแก่ตน และสร้างความเหลื่อมล้ำทับถมสามัญชนอื่น

มันสะท้อนสถานะในสังคมแห่งการแบ่งแยกแตกร้าวฝังลึกกระทั่งทุกวันนี้ ยากที่จะผ่อนคลาย ไม่ต้องพูดถึงการเลิกรา เมื่อมีการตีตราฝ่ายหนึ่งว่าเป็นคนไม่ดี อีกฝ่ายเป็นคนดีเพียงเพราะสนับสนุนให้ทหารเข้ามายึดอำนาจเอาไปครองอย่างเบ็ดเสร็จ เสียจนกำลังจะก่อความเดือดร้อนเสียเองแก่ฝ่ายที่เป็นนั่งร้านรองรับเผด็จการ

หนึ่งในพวก นั่งร้าน ตัวยง นัก ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพิ่งจะรู้สึกว่าถูกทหารหลอกใช้เป็นบันไดเหยียบขึ้นสู่อำนาจ โพสต์ข้อความอันย้อนแย้งอย่าง ‘irony’ ว่า “เมื่อไหร่พี่น้องเสื้อเหลืองเสื้อแดงจะจับมือก้าวข้าม คสช.+ทักษิณ+คอร์รัปชัน” เสียที
 
รสนา โตสิตระกูล อดีต สว.คนดังของกรุงเทพฯ เปรียบเปรยการจับมือกันของผู้นำเกาหลีเหนือ-ใต้ ลงนามเขตปลอดอาวุธปรมาณูบนคาบสมุทรเกาหลี และร่วมกันกรุยทางไปสู่การรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสองฝ่าย แล้วย้อนมาดูตัวเองของพวกเรา

มีคนถามว่า “แล้วที่ไปเดินขบวนขับไล่ตระกูลทักษิณไม่ได้ผลหรือ” น.ส.รสนาให้ความเห็นว่า “๔ ปีของ คสช.ไม่ได้ปฏิรูปเรื่องสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง” แต่ผู้ตั้งคำถามที่เป็น เสื้อเหลือง เต็มที่คนนั้นก็ยังคงยืนยันว่า

“ไม่ต้องการให้ทักษิณกลับมา เลยยังต้องสนับสนุน คสช.ต่อไป ดิฉันถามว่าแม้ในสมัยนี้ที่มีการคอร์รัปชันไม่ต่างจากรัฐบาลในเครือข่ายทักษิณที่เธอออกมาเดินขบวนขับไล่กันหรือ เธอได้แต่นิ่งอึ้ง”

รสนาเจาะจงถึงประเด็นที่มีการเอ่ยถึงมาแล้วในช่วงเกือบปีที่ผ่านมา หลังจากที่คนส่วนใหญ่ตระหนักแล้วว่า คสช. ไม่เพียง ไร้น้ำยา หากเข้ามาเพื่ออำนาจของตนเองเท่านั้น และยิ่งอยู่นานก็ยิ่งลงยาก

เธอว่า “หากเสื้อเหลืองเสื้อแดงยังแตกคอกัน ปกป้องแต่ผู้นำที่ตนเชียร์ แม้ผู้นำของตนจะคอร์รัปชัน เราก็คงเป็นเหมือนเกาหลีเหนือเกาหลีใต้ที่ไม่ยอมก้าวข้ามเส้นแบ่งสมมติที่ขีดกันขึ้นมา”


ข้อเรียกร้องของรสนามิใช่แค่ ‘too little, too late’ เพราะการเกลียดชังซึ่งกันและกันของสองฝ่ายมันก้าวข้ามทั้งทักษิณและ คสช. ไปไกล อีกทั้งเนิ่นนานยากที่จะกู่กลับเสียแล้ว ตราบเท่าที่ความรู้สึกกร่าง หยามหมิ่น และเอาเปรียบยังฝังอยู่กับมโนจริตการเป็น คนดี
 
พงศกร รอดชมภู ถือโอกาสตอบคำของรสนาว่า “แดง-เหลืองส่วนใหญ่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งกัน แต่เป็นเหตุจากชนชั้นนำที่บอกว่าควรปกครองด้วยการแต่งตั้ง ด้วยผู้ดีมีสกุล แต่ปัญญาอ่อนก็ได้ต่างหาก ที่ไม่ยอมสละอำนาจนั้น...

ไม่ต้องก้าวข้ามใคร นอกจากชนชั้นปกครองทั้งหลายที่เห็นแก่ตัว ทำนาบนหลังคน เพื่อสร้างความเสมอภาคและความยุติธรรม เท่านั้นครับ” อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ สมัยทักษิณ โต้นักปฏิรูปพลังงานตัวยง “แม้แต่ ปตท. ที่บางคนยังไม่ก้าวข้าม”

สวนรสนาทันควัน (แรงส์) อีกคนไม่พ้น Pavin Chachavalpongpun นักวิชาการสังกัดมหาวิทยาลัยเกียวโต แต่ตะลอนสอนหนังสือและบรรยายไปทั่วโลก ว่า “ตัวมึงเองนะคะที่มีส่วนเป่านกหวีดเรียกทหารทำรัฐประหารล้มอีปู” และ

“คนเสื้อแดงถูกยิงตายฟรีๆ เกือบ ๑๐๐ คน ให้เค้าก้าวข้ามหรอคะ ถ้าพ่อแม่มึงถูกยิงกะโหลกด้วย มึงจะก้าวข้ามไหมคะ” เสริมด้วยว่า “ตอนนี้ไทยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ คสช วิธีเดียวที่จะก้าวข้ามได้คือต้องโค่นล้มมันคะ”


นี่ก็น่าจะเป็นอารมณ์ เหลืออด เหมือนกัน หากหนักหนายิ่งกว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้พิพากษาสูงส่งบนดอยกับชาวบ้านติดดิน