วันศุกร์, เมษายน 27, 2561

เอาอย่างเผด็จการทหาร อดีตตุลาการใช้กฎหมายข่มขู่ประชาชน


บ้านนี้เมืองนี้นอกจากมีทหารยึดอำนาจมาครอง แล้วใช้กฎหมายกดขี่ข่มเหงทางการเมือง ต่อนักประชาธิปไตยผู้ต่อต้านและเห็นต่างแล้ว ยังมีตุลาการศักดิ์ศรีสูงส่งยิ่งกว่าคนทั่วไป ใช้อำนาจกฎหมายข่มขู่ชาวบ้านที่รักและปกป้องสภาพแวดล้อมธรรมชาติด้วย

ต่อกรณีที่มีการรณรงค์คัดค้านโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการอย่างหรูในพื้นที่ดอยสุเทพบริเวณ ๑๔๗ ไร่อันเป็นแหล่งสันปันน้ำ ที่แม้จะมีการขีดเส้นเขตแดนป่าสงวนแห่งชาติออกนอกเหนือบริเวณดังกล่าว ก็มิอาจลบล้างความจริงได้ว่า เป็นการลุกล้ำทำร้ายระบบนิเวศของป่าธรรมชาติอย่างมิควร

แต่นั่นมิอาจยับยั้งการอ้างกฎหมายเพื่อเอารัดเอาเปรียบจากอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาคนหนึ่ง เมื่อนายชูชาติ ศรีแสง ได้เขียนข้อความทางเฟชบุ๊คขู่จะฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อสำนักข่าว เวิร์คพ้อยท์หาว่าเสนอข่าวทำให้ตนเสียหายและเป็นเท็จ

นายชูชาติผู้นี้มีประวัติทำกิจกรรมสนับสนุนการปิดกรุงเทพฯ สร้างความปั่นป่วนจนเป็นช่องทางให้ทหารเข้ามายึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ครั้นเมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำสูงสุดของ กปปส. ประกาศดำเนินงานพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนให้หัวหน้าคณะรัฐประหารที่ผันตัวเองมาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้กลับมาดำรงตำแหน่งปกครองประเทศอีกครั้งด้วยเงื่อนงำที่แฝงในรัฐธรรมนูญฉบับทหารร่าง ที่เรียกกันว่า นายกฯ คนนอกนายชูชาติจึงไม่ต่างอะไรกับ ลูกไล่ คสช.

กับการที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายมาก่อนโดยอาชีพ ซึ่งรายได้เบี้ยหวัดเงินเดือนมาจากเงินภาษีอากรที่เก็บจากประชาชน ทำให้ไม่เพียงรู้ทางหนีทีไล่ในการใช้ประโยชน์จากกฎหมายเพื่อตนเอง หากแต่รู้วิธีใช้กฎหมายเพื่อให้ผู้อื่นเจ็บร้อน เฉกเช่นเดียวกับพวกทหาร คสช.

นายชูชาติอ้างว่า “ข่าวเวิร์คพอยท์ทำให้ข้าพเจ้าและตุลาการศาลยุติธรรมได้รับความเสียหายมาก เพราะมีผู้เข้ามาให้ความเห็นเป็นจำนวนมากด่าข้าพเจ้าและตุลาการทั้งหมด ด้วยถ้อยคำที่ดูหมิ่นเหยียดหยามและหยาบคาย ทั้งในเฟซบุ๊ค Workpoint News - ข่าวเวิร์คพอยท์ และในเฟซบุ๊คส่วนตัวของข้าพเจ้า”


แทนที่อดีตผู้พิพากษาจะพึงคำนึงถึงข้อเท็จจริงแห่งกรณี ว่าคนที่เข้าไปด่านั้นเนื่องจากทั่นดันโพสต์ข้อความก่อนหน้านี้เรื่อง “มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ก่อสร้างวิทยาเขตสะลวง-ขี้เหล็กในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ใช้เนื้อที่มากถึง ๖,๒๓๕ ไร่เศษ ไม่เคยได้ยินข่าวว่าผู้ใดคัดค้านหรืออ้างว่ารุกล้ำป่า”

นายชูชาติใช้ความเคยตัวจากการทำมาหากินในตำแหน่งผู้บังคับใช้กฎหมายมาอ้างว่าไฉน “สำนักงานศาลยุติธรรมก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ ภาค ๕ และบ้านพักตุลาการ ใช้เนี้อที่เพียง ๑๔๗ ไร่เศษ” จึงได้ “กลับมีผู้คัดค้านซึ่งรวมทั้งสภาคณาจารย์ฯ โดยอ้างว่ารุกล้ำป่า” นั้น

ข้อกฎหมายที่ทั่นตุลาการอ้างว่าเนื่อที่กว่า ๖ พันไร่ของราชภัฏเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ แต่เนื้อที่ ๑๔๗ ไร่ของบ้านพักตุลาการบนดอยสุเทพไม่ได้อยู่ในป่าสงวน ไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าตุลาการลุกล้ำทำลายระบบนิเวศของแหล่งต้นน้ำดอยสุเทพได้

การดึงดันของนายชูชาติที่จะสร้างความชอบธรรมแก่การกอบโกยผลประโยชน์ส่วนเกิน หรือ ‘perks’ โดยนำเอาหลักกฎหมายมาตีวงรายล้อมใช้จับผิด เป็นลักษณะเดียวกับที่คณะทหารใช้ข้อกฎหมาย (ซ้ำร้าย ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่เขียนเองโดยหลักเผด็จการ) มากดขี่ประชาชนที่เรียกร้องสิทธิเสียงของตนเอง

การขู่จะทำการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเวิร์คพ้อยท์และคนทั่วไป ที่เห็นว่าการสร้างบ้านพักบนดอยสุเทพของตุลาการเป็นการทำลายระบบนิเวศและยังเอาเปรียบประชาชนอื่นๆ ไม่ได้มีคุณค่าอันใดมากไปกว่าการแสดงวิสัยเผด็จการ อันจำเป็นที่คนทั่วไปต้องต่อต้าน
 
แม้กระทั่งนายไพศาล พืชมงคล (ตำแหน่ง กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ผู้สนับสนุน กปปส. อีกคน จะพยายามหนุนสร้างความชอบธรรมให้บ้านตุลาการ ป่าแหว่ง ด้วยการประโคมว่า “ขบวนการเอาคืนศาลยิ่งรณรงค์ยิ่งจ๋อย ชาวบ้านรู้ทัน...อยู่นอกเขตอุทยาน ไม่มีอะไรผิดเลย”


นั้นก็เป็นเพียงลูกไล่สอพลอนายไปวันๆ