วันอาทิตย์, เมษายน 29, 2561

“เวลาประเทศเสียหายก็ออกมาด้วยนะ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “ผมออกมาแล้วครับ แต่ทำไมท่านกลับผิดคำพูดอะ ผมแอบเสียใจนะเนี่ย” ธนวัฒน์ วงค์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอดีเบต พล.อ.ประยุทธ์





ที่มา FB

Tanawat Wongchai


หลังจากที่ผมได้ทำการส่งสาส์นเทียบเชิญให้ พล.อ.ประยุทธ์ มาทำการดีเบตกันเพื่อหาทางออกให้กับประเทศจากวิกฤตในทุกมิติ ยุติทศวรรษที่สูญหาย ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้บอกกับพวกผมในวันที่ไปชูป้าย “ชาวจุฬาฯ รักลุงตู่ (เผด็จการ)” ที่ว่าเมื่อประเทศเสียหาย ก็ให้ออกมาด้วยนะ นั้น แต่เมื่อผมออกมาเชิญให้ท่านมาดีเบตกันด้วยวิสัยทัศน์ที่มีต่อประเทศแห่งนี้ ท่านกลับปฏิเสธคำเทียบเชิญ และโฆษกของรัฐบาลอย่าง พล.ท.สรรเสริญ ได้บอกให้ผมไปขออนุญาตคณบดีก่อนมาท้านายกฯ ดีเบต แล้วยังบอกอีกว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก

ผมจึงขอทำการดีเบตฝ่ายเดียว ด้วยการนำคำพูดและวิสัยทัศน์ของนายกฯ ในบางประเด็นตั้งแต่ประเด็นที่เล็กและหลายๆ คนไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาอย่างเรื่อง “ราคามะนาว” ไปจนถึงประเด็นใหญ่ระดับประเทศอย่างเรื่องของรถไฟ สวัสดิการของประชาชน มาเทียบกับวิสัยทัศน์และความคิดของผมที่มีต่อประเด็นดังกล่าว (รายละเอียดอยู่ในรูป)

หาก พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อเห็นรูปชุดนี้แล้วเกิดเปลี่ยนใจ สามารถให้ลูกน้องของท่านติดต่อผมมาเพื่อนัดหมายเวลาและสถานที่ตามที่ท่านสะดวกได้เสมอนะครับ ท่านอย่าไปเชื่อคำแนะนำของโฆษกของท่าน ว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของคนรุ่นใหม่ หรือแนวคิดที่ว่านายกฯ ไม่ควรลดตัวไปคุยกับนิสิตนักศึกษา ท่านควรมีความคิดและความเชื่อเป็นของตัวเองครับ

ด้วยรักและหวังว่าท่านจะมาพูดคุยด้วยเสมอ





"ปัญหามะนาวแพงก็กินให้น้อยลงเท่านั้นเอง ทำไมฉันจะต้องกินมะนาวทุกวันหรือไง ถ้าอย่างนั้นก็ให้ปลูกไว้สิ"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

การควบคุมราคาสินค้าและค่าครองชีพของประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐบาลครับ ไม่ใช่ไปไล่ให้ประชาชนปลูกมะนาวกินเอง ไม่อย่างนั้นประชาชนคงต้องปลูกพืชผักทุกอย่างที่มีขายในท้องตลาดเสียกระมังครับ

เมื่อใดก็ตามที่ค่าครองชีพของประชาชนมีแนวโน้มที่จะถูก“กระชาก” ให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยภายในหรือภายนอกประเทศ รัฐบาลควรมีมาตรการที่เหมาะสมในการช่วยเหลือประชาชน ไม่ให้ได้รับผลกระทบมากนัก

ในระยะยาว รัฐบาลควรจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรของไทย ให้สอดคล้องกับความต้องการซื้อและความต้องการขายในช่วงเวลาต่างๆ ผ่านข้อมูลเชิงสถิติ รวมทั้งแก้ปัญหาการปั่นราคาโดยพ่อค้าคนกลาง ให้เกษตรกรไม่ถูกกดขี่จากพ่อค้าคนกลาง

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ อีกมาก ที่รัฐบาลสามารถนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของประชาชน ไม่ใช่เอาแต่คอยนั่งบอกให้ประชาชนลดการบริโภคสินค้าที่ราคาสูงขึ้น หรือปลูกพืชผลนั้นๆ ไว้กินเอง

ธนวัฒน์ วงค์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย






ผมยืนยันว่าตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น แม้ชาวบ้านอาจจะบอกว่าไม่เห็นดีขึ้นตรงไหน"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เหตุที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกดีขึ้น ก็เพราะรัฐบาลชุดนี้เอื้อประโยชน์แก่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1% ของสังคม แล้วละเลยประชาชนอีก 99% ที่เหลือไว้ข้างหลัง

การมองการพัฒนาทางเศรษฐกิจผ่านการเติบโตของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) แต่เพียงอย่างเดียว มันไม่เหมาะสมกับบริบทของการพัฒนาในปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว รัฐบาลต้องมองตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ ประกอบควบคู่กันไปด้วย

นอกจากนี้ ตัวเลข GDP ไม่ได้สะท้อนความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้น การที่ตัวเลข GDP จะเติบโตสูงโดยกระจุกตัวการเติบโตไว้ที่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่และคนเพียงบางกลุ่ม แต่คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ได้รู้สึกถึงการเติบโตนั้นด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่จะเกิดขึ้น

ธนวัฒน์ วงค์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย





"อยากจะมีรถไฟทางคู่ อยากจะมีรถใหม่ อยากจะมีรถความเร็วสูงเหมือนต่างประเทศ หาเงินมาครับ หาเงินมา.."

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

โครงสร้างขั้นพื้นฐานอย่างรถไฟเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดสรรครับ คนที่ต้องหาเงินมาสร้าง คือ รัฐบาลครับ ไม่ใช่ประชาชน อีกอย่างรถไฟจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว คนที่มองว่าประชาชนอยากให้มีรถไฟเพียงเพราะประชาชนอยากได้อยากมี จึงเป็นการมองอย่างคนขาดวิสัยทัศน์

อีกทั้ง รถไฟยังสามารถสร้างชุมชนเมืองรอบข้างชุมทางรถไฟให้เติบโตได้ เป็นการกระจายความเป็นเมือง (urbanization) และความเจริญสู่พื้นที่ชนบท ลดต้นทุนการขนส่ง ยกระดับโลจิสติกส์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาศักยภาพของประเทศในโลกของการแข่งขันเสรี

ดังนั้น พวกเราต้องมีรถไฟเพื่อ “การพัฒนา” ครับ ไม่ใช่มีเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนคนใดคนหนึ่งในประเทศนี้ และเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐต้องจัดสรร ไม่ใช่เงินของประชาชนคนใดคนหนึ่ง ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์จักต้องตระหนักถึงหลักการของ “การพัฒนา” ให้มากกว่านี้ครับ

ธนวัฒน์ วงค์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย





“ผู้มีรายได้น้อยที่ปรับเปลี่ยนตนเอง เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนวิธีการ เพิ่มความขยันขันแข็ง อดทนโอกาสจะมีอยู่เสมอ เว้นแต่หากท่านอยากสบาย ไม่ต้องทำงานมาก เกียจคร้าน ไม่อดทน ไม่เปลี่ยนแปลง แล้วต้องการรายได้เพิ่มขึ้น รัฐบาลต้องช่วยเหลือตลอดเวลา คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความจริง”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ผู้มีรายได้น้อยที่ต้องรับความช่วยเหลือจากรัฐ เพราะ พวกเขาถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากการพัฒนา ถูกนายทุนกดขี่เอารัดเอาเปรียบพวกเขาอันเป็นผลมาจากนโยบายที่เอื้อต่อภาคธุรกิจของภาครัฐ สังคมที่รัฐจัดสรรสวัสดิการอย่างเพียบพร้อมและมีคุณภาพแก่ประชาชนยังคงเป็นไปได้เสมอครับ เมื่อท่านเลิกเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุน

รัฐสวัสดิการในประเทศไทย ใช่ว่าจะไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ครับ เราสามารถ ทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้ หากเราใช้จ่ายอย่างถูกทางตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและแสวงหารายได้ให้รัฐเพิ่มมากขึ้นผ่านการปฎิรูประบบภาษีโดยจัดเก็บภาษีจากคนรวยให้สูงมากขึ้น ขยายฐานภาษีคนจนให้ประชาชนในประเทศมีส่วนร่วมในการจ่ายภาษีมากขึ้น จากที่ตอนนี้มีประชากรจ่ายภาษีทางตรงเพียง 4 ล้านคน จัดเก็บภาษีในส่วนที่ยังไม่เคยจัดเก็บ เช่น ภาษีในตลาดหุ้น

นอกจากนี้ คนจนในประเทศนี้ใช่ว่าจะมีแต่ความเกียจคร้านไม่อยากทำงานและรอรับแต่สวัสดิการจากภาครัฐ มายาคตินี้เป็นมายาคติที่ชนชั้นกลางปั้นแต่งขึ้นมาเพื่อทำลายความชอบธรรมการมีอยู่ของรัฐสวัสดิการ ในความเป็นจริงแล้ว รัฐสวัสดิการ ไม่ได้ทำให้ประชาชนงอมืองอเท้าหรือไม่ทำงาน หากแต่เป็นการสร้างหลักประกันในชีวิตของพวกเขาเวลาเจ็บป่วย แก่ตัวมาหรือไม่มีงานทำ พวกเขาจะได้รับการดูแลจากภาครัฐและไม่ถูกทอดทิ้งไปไหน แทนที่พวกเขาจะต้องทำงานหนักเพื่อตอบสนองต่อระบบตลาด แล้วหาความมั่นคงให้ตัวเองผ่านการซื้อกองทุน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในภาวะที่เศรษฐกิจการเงินของโลกยังคงเปราะบางเช่นนี้ สวัสดิการของพลเมืองมันควรจะมีแต่ความแน่นอน มิใช่เต็มไปด้วยความเสี่ยงเหมือนเช่นทุกวันนี้

อีกทั้ง การที่ประชาชนได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานจากรัฐที่ดีตั้งแต่เกิดจนตาย จะทำให้ทุนมนุษย์ของประเทศนี้ถูกยกระดับ และชักจูงให้เกิดบรรยากาศทางเศรษฐกิจมหภาคที่ดีและดึงดูดการลงทุนไม่น้อยไปกว่าการมีค่าแรงและอัตราภาษีภาคธุรกิจที่ต่ำเลย

ทั้งนี้ รัฐบาลควรต้องระวังคำว่า “รัฐสงเคราะห์” กับ “รัฐสวัสดิการ” ให้ดี เพราะ ทั้ง 2 คำนี้มีความหมายแตกต่างกัน โดยสิ่งที่รัฐไทยกำลังทำอยู่ในตอนนี้ เช่น บัตรคนจน เป็นการทำรัฐสงเคราะห์ ที่ไม่ได้ช่วยพัฒนาทุนมนุษย์หรือสรางความยั่งยืนในคุณภาพชีวิตของประชาชนแต่อย่างใด

ธนวัฒน์ วงค์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย





"เขา (แจ๊ก หม่า) ไม่ได้มุ่งหวังเรื่องของเศรษฐกิจเพราะเขามีเพียงพอแล้ว"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เป้าหมายสูงสุดของหน่วยธุรกิจ คือ การแสวงหากำไรสูงสุด อีกอย่างแจ๊ก หม่า เขาทำธุรกิจครับ ไม่ได้ทำองค์กรการกุศล ถึงจะไม่หวังประโยชน์ในทางเศรษฐกิจอย่างที่ท่านบอก

นอกจากนี้ แจ๊ก หม่าและอาลีบาบา ยังได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากไทยไปเป็นจำนวนมาก ทั้งสิทธิยกเว้นภาษี 8 ปีแรก สิทธิลดหย่อนภาษีปีที่ 9-13 จำนวน 50% สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร สร้าง smart digital hub ศูนย์กระจายสินค้าในพื้นที่ EEC สิทธิเช่าที่ราชพัสดุ 99 ปี

คำถามที่ใหญ่ที่สุด คือ โครงการที่ใหญ่เช่นนี้ไม่มีบริษัทอื่นที่มีความพร้อมเลยหรืออย่างไร เป็นการผูกขาดไว้ที่บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้เพียงแห่งเดียวหรือไม่ การที่ผู้ส่งออกทุเรียนไปยังจีนก็เป็นเครือข่ายธุรกิจของคนจีนอยู่แล้ว และการมีบริษัท COFCO ของจีน (เป็นรัฐวิสาหกิจของจีน) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการซื้อขายสินค้าเกษตรในประเทศจีน อาจทำให้เกษตรกรไทยไม่ได้รับประโยชน์อย่างที่รัฐบาลโฆษณา

มันจึงนำไปสู่คำถามสุดท้ายที่ว่า “รัฐบาลได้พิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศ” อย่างเพียงพอแล้วหรือไม่ เพราะ แจ๊ก หม่าไม่ได้รวยแล้วต้องการเข้ามาช่วยเราฟรีๆ เหมือนอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าใจแน่ๆ

ดังนั้น รัฐบาลควรเปิดให้มีการแข่งขันเสรีในการทำธุรกิจประเทศไทยโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและเกษตรกร ควบคู่ไปกับการป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาด บังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดการค้า (anti-trust law)ให้มีประสิทธิภาพ และเฝ้าระวังไม่ให้ภาคธุรกิจและการเงินก่อพฤติกรรมที่อาจสร้างความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ

เพราะ ไม่มีใครช่วยเราได้ดีไปกว่าการที่เราช่วยเหลือตัวเองครับ

ธนวัฒน์ วงค์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย





"ผมผิดตรงไหนไหม ผมทำอะไรผิด รัฐธรรมนูญยังเนี๊ยะ"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

คุณผิดตั้งแต่ยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง แล้วเข้ามาเป็นนายกฯ โดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง คุณผิดตั้งแต่วันที่ทำการรัฐประหารจนถึงทุกวันนี้ครับ

นอกจากนี้ ท่านยังร่างกฎหมายขึ้นมาเองแล้วเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง แต่กลับใช้กฎหมายที่ท่านร่างขึ้นมานี้จัดการกับคนอื่น จัดการกับประชาชนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิที่พวกเขาพึงจะมี ท่านชอบเรียกร้องให้คนอื่นทำตามกฎหมาย และสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองว่า ตนนั้นทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ทั้งๆ ที่การเข้ามาของท่านก็ผิดกฎหมาย แล้วยังมาร่างกฎหมายให้คนอื่นทำตาม กลายเป็น “กฎหมายที่ถูกร่างโดยคนทำผิดกฎหมาย” ผมว่าหากไล่เรียงตรรกะแล้ว มันก็จะเพี้ยนอยู่หน่อยๆ ครับ

ธนวัฒน์ วงค์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย





อนาคตประเทศไทยที่อยากเห็น 12 ประการ (ไม่ใช่ค่านิยม 12 ประการ)

1. ปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ลดขนาดกองทัพ และปฏิรูปตำรวจ
2. ปฏิรูปการศึกษาที่ไม่ได้เน้นการท่องจำ
3. ลดขนาดของรัฐราชการไทย กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
4. สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำลดลงในทุกมิติ ความยากจนหมดไปจากสังคมไทย ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี
5. รัฐที่จัดสรรสวัสดิการให้กับประชาชนอย่างมีคุณภาพ
6. การมุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยี
7. ระบบเศรษฐกิจที่พร้อมรับมือกับความท้าทายจากประเด็นสังคมผู้สูงวัย และมีความยั่งยืนทางการคลัง
8. รัฐบาลที่คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ละเมิดและคุกคามประชาชน
9. สังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาดและทดแทนมากขึ้น คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
10. ประชาธิปไตยที่แท้จริงเกิดขึ้นในประเทศนี้
11. กระบวนการทางการเมืองที่คนรุ่นใหม่สามารถมีส่วนร่วมได้มากขึ้น เยาวชนอายุ 16 ปีขึ้นไป สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้
12. สังคมที่เปิดกว้างต่อกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ กลุ่มเพศหลากหลาย สังคมที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน การพัฒนาประเทศที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง