วันศุกร์, เมษายน 27, 2561

ประยุทธ์-หน.คสช.-นายกฯ ออกกฎหมายตามใจ ยึดบังคับใช้ตามชอบ ผู้คนในสังคมต้องเก็บกดกับสิ่งอยุติธรรม เริ่มขยายตัวมากขึ้น จนแทบระเบิดขึ้นอยู่ร่ำๆแล้ว




ที่มา FB

Peace News


วิเคราะห์
.............................................
ประยุทธ์-หน.คสช.-นายกฯ
ออกกฎหมายตามใจ
ยึดบังคับใช้ตามชอบ
............................................

หลายครั้ง...หรือแทบทุกเหตุการณ์ผ่านมา เมื่อเกิดความขัดแย้งของสองฝ่ายขึ้นไป ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้มีร่างทรงอำนาจ 2 ตำแหน่ง ทั้งหัวหน้า คสช. นายกรัฐมนตรี มักพูดเสมอ "ให้ยึดกฎหมายมาแก้ปัญหา" หรือ "กฎหมายว่าอย่างไร ก็ให้เป็นไปตามนั้น"...บลาาา !!!

ลองพิจารณาจากตัวอย่างเหล่านี้...กรณีบ้านพักศาลยุติธรรมสร้างในพื้นที่ป่า ประชาชนเรียกร้องให้รื้อหรือทุบทิ้งเพื่อรักษาพื้นป่าสงวนให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ประยุทธ์ บอกว่า แก้ปัญหาควรยึดกฎหมาย

ปมประวิตร วงษ์สุวรรณ (พี่รักที่ต้องการอยู่ร่วมกันไปทุกชาติ) ใส่นาฬิกายืมเพื่อนถึง 23-25 เรือน ถูกสังคมตำหนิพฤติกรรมอำนาจมิชอบ...ประยุทธ์ บอกให้ว่ากันตามกฎหมาย

ประชาชนเรียกร้องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม ตามไปพูดคุยเชิงข่มขู่ถึงบ้านพัก หลายคนถูกฟ้องดำเนินคดี ประยุทธ์ บอกทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎหมาย

คำพูด "รัฐบาลนี้อยู่ภายใต้กฎหมาย..." มักได้ยินจนชินชา ฟังดูเหมือนสังคมมีบรรทัดฐานเป็นกติกากฎหมายให้ยึดมั่น จนเกิดความรู้สึกทุกอนุสังคมอยู่ด้วยกรอบ "หลักนิติรัฐ"...แต่เปล่าเลย...!!!

เหตุเพราะ คำประกาศให้ยึดกฎหมาย นั่นแปลความว่า มีกฎหมายให้ยึดถือมาก่อนจะมีคำประกาศมาอ้างให้ยึดมั่นกฎหมายนั้นๆอีกด้วยซ้ำ

แต่ในหลายครั้งและมากเหตุการณ์สำคัญๆ ผู้มีอำนาจกลับออกกฎหมายมาล้มล้างกฎหมายเดิม แล้วเรียกร้องให้สังคมยึดปฏิบัติตามกฎหมายอยู่เรื่อยไป นั่นเท่ากับมีอำนาจล้มกฎหมาย และสั่งให้ยึดกฎหมายใหม่จนเคยชิน แทบไม่มีที่สิ้นสุด

ว่ากันตามจริงแล้ว...อำนาจออกคำสั่ง คสช. ม. 44 นั้นคือ อำนาจที่ไม่ต้องการยึดกฎหมายเสียเอง แล้วออกกฎหมายใหม่มาให้สังคมยึด เรียกว่า "เล่นกันตามใจ แก้ปัญหาขัดแย้งด้วยอำนาจตามชอบ"

อำนาจตาม ม.44 จึงแสดงได้ชัดเจนถึง "อำนาจให้ยึดกฎหมายตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ" ดังนั้น ผู้มีอำนาจจึงไม่ให้ความสำคัญตาม "กระบวนการยุติธรรม" ภายใต้กฎหมายที่ยึดถือ

การยึดถือกฎหมาย คือ มีความสำคัญอยู่ที่ “ให้นำหลักกระบวนการยุติธรรมของกฎหมายมาปฏิบัติเพื่อระงับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น"

ด้วยเหตุนี้ การใช้อำนาจตาม ม.44 ย่อมแสดงถึงการออกกฎหมายให้ยึดตามหลักกระบวนการสร้างความยุติธรรมของผู้มีอำนาจฝ่ายเดียว แล้วบังคับให้สังคมเชื่อและต้องทำตาม

คำพูดที่ชอบอ้าง "ให้ยึดกฎหมาย" จึงแอบแฝงสิ่งที่ต้องการไว้เสมอ นั่นคือ "ต้องยึดตามกระบวนการยุติธรรมของกฎหมายผู้มีอำนาจต้องการด้วย"

สิ่งนี้ จึงเป็นรหัสอำนาจที่ประยุทธ์-ประวิตร เหล่าทัพ รวมทั้งสมุนบริวาร มักนิยมนำคำพูดมาอ้างและเรียกร้องเสมอให้ "ยึดกฎหมาย" ซึ่งฟังดูราวกับคนพวกนี้เป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ ที่มีสำนึกสูงส่ง ยึดมั่น เชื่อถือกฎหมายอย่างยิ่ง

หากเป็นจริงเช่นนั้น คงไม่กล้าทำรัฐประหาร ล้มล้างการปกครอง ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย เป็นแน่แท้ !!!

ดังนั้น คำพูดจึงไม่ใช่สิ่งสะท้อนออกมาจากพฤติกรรม หรือการกระทำของผู้มีอำนาจ...เพราะคำพูดปั้นเสก แต่งแต้มให้ฟังดูสวยหรู เลอเลิศได้ แต่การกระทำอาจตมต่ำ ชอบฝ่าฝืนกฎหมายเป็นวินัยแห่งอำนาจ

ฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อยึดอำนาจ--->ออกกฎหมาย--->แล้วสั่งให้ยึดกฎหมาย...นี้คือวัฏจักรกลไกอำนาจที่แอบซ้อนอยู่ภายใต้คำพูดให้เป็นไปตามกฎหมาย(ของผู้มีอำนาจ)

ว่ากันถึงที่สุดแล้ว ...คำสั่ง หัวหน้า คสช. ม.44 ฉบับที่ 7 /2561 เรื่องการยกเลิกและระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. ประกาศเมื่อ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา สดๆร้อนๆ สะท้อนถึงอำนาจคือ กฎหมายได้อย่างสุดติ่งเลย

สะท้อนว่า ประยุทธ์ เรียกร้องให้สังคมทำตามกฎหมาย แต่อำนาจคนที่เป็นหัวหน้า คสช. ไม่ได้ยึดกฎหมายมาเป็นวินัยแห่งอำนาจเสียเอง

เพราะประยุทธ์ ใช้อำนาจฉีกกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ทิ้งอย่างไม่อินังขังขอบ

ประยุทธ์ ล้มกระดานคณะกรรมการสรรหาทั้ง 7 คน ที่ตั้งขึ้นตามมาตรา 14 ของกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 อย่างไม่ให้ราคาค่างวด ในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย

ซ้ำร้ายในคำสั่งฉบับที่ 7 / 2561 ประยุทธ์ กลับดูแคลนคณะกรรมการสรรหา ประหนึ่งกล่าวหาว่า ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และไม่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน...ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนแปลง...ให้รู้สะบ้างใครมีอำนาจ อะไรอย่างนั้นล่ะ

แล้วอำนาจตามคำสั่ง ม.44 ฉบับที่ 7 / 2561 ยังแสดงถึงการเอาแต่อำนาจตามใจชอบของตัวเอง คือ สั่งให้ กสทช.ชุดเดิมอยู่ต่อ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง...อ้าวแล้วกัน นี่คงเป็นอำนาจให้ยึดถือกฎหมายกันอีก

สิ่งที่น่าสนใจ คือ ประยุทธ์ใช้อำนาจคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย กับคณะกรรมการสรรหาทั้ง 7 คนใช้อำนาจตามกระบวนการกฎหมาย ที่ สนช.ออกมาบังคับใช้

อย่างนี้แล้ว การบังคับใช้กฎหมายของประยุทธ์ หรือของคณะกรรมการสรรหา สิ่งไหนน่าเชื่อถือ รอบคอบ และก่อประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ และประชาชน มากกว่ากัน

ลึกลงไปในรายละเอียดอีก...มาตรา 14 กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กำหนดที่มาคณะกรรมการสรรหา 7 คนมาจากตัวแทนตุลาการศาล รธน. ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครอง กรรมการ ปปช. กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ว่าแบงก์ชาติ

โปรดพิจารณาที่มาให้ลึกว่า กรรมการสรรหาทั้ง 6 คน มาจาก "ที่ประชุมใหญ่”ของหน่วยงานนั้นๆเลือกมาทำหน้าที่แทนองค์กร เว้นแต่ผู้ว่าแบงก์ชาติเท่านั้นต้องทำหน้าที่โดยตำแหน่ง

หากประยุทธ์ ออกคำสั่ง ม.44 กล่าวหาว่า กรรมการสรรหาทำหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่คำนึงถึงประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนแล้ว...

นั่นแปลความว่า ประยุทธ์ ได้กล่าวหาว่า องค์กรโดยที่ประชุมใหญ่ อย่างศาล รธน. ศาลฎีกา ศาลปกครอง ปปช.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ก่อเกิดประโยชน์ต่อแผ่นดิน อะไรประมาณนั้นละสิ...

เพราะกรรมการสรรหา ไม่ได้สมัครหรืออาสาด้วยตัวเองเพื่อมาทำหน้าที่สรรหา แต่ย้ำอีกครั้งว่า ถูกที่ประชุมใหญ่ของแต่ละองค์กรเลือกให้มาทำหน้าที่ เป็นตัวแทนขององค์กร สิ่งนี้คือสาระสำคัญที่น่าสนใจยิ่ง

และที่น่าสนใจกว่าอื่นใดก็คือ เมื่อ สนช.ลงมติไม่เลือก กรรมการ กสทช.ทั้ง 14 คนให้เลือกเหลือ 7 คนแล้ว ขั้นตอนต่อไป สนช.ต้องทำหนังสือเป็นทางการยื่นมาที่คณะกรรมการสรรหาอีกทอดหนึ่ง

ถ้าคณะกรรมการสรรหา พิจารณายืนยัน การทำหน้าที่ตามกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ แล้วแจ้งรายชื่อการสรรหาทั้ง 14 คนให้กลับไปที่ สนช.ต้องลงมติเลือกและปฏิบัติตามกระบวนการกฎหมายมาตรา 17 ให้สิ้นสุดแล้ว

นี่คือสิ่ง ที่คณะกรรมการสรรหา กสทช.จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย เพราะนั่นเป็นการทำหน้าที่เพื่อรักษาหน้า ความน่าเชื่อถือขององค์กรที่แต่ละคนสังกัดเอาไว้

และนี่คือ สิ่งที่ สนช.หวั่นเกรงจะเกิดขึ้น และไม่มีทางออกให้เป็นไปตามใจของตัวเองอีก จนถึงขั้นก่อนออก ม.44 ต้องขอร้องประธานกรรมการสรรหา กสทช.ให้บินไปพักผ่อนยังต่างประเทศ เพื่อปัดความยุ่งเหยิงออกไป

และนี่คือ ประยุทธ์ต้องออกคำสั่ง หัวหน้า คสช. ม.44 ฉบับที่ 7 / 2561 ออกมา เพื่อแก้ไขสิ่งที่พรรคพวกกระทำผิดกฎหมายให้เป็นถูกกฎหมาย แล้วเรียกร้องให้สังคม "ยึดถือกฎหมาย" อีก...บลาาาาๆๆ

แล้วอย่างนี้ หากมีคำถามเฉพาะกรณีคำสั่งฉบับที่ 7 / 2561 ว่า ระหว่างประยุทธ์ใช้อำนาจเป็นกฎหมายกับคณะกรรมการสรรหาใช้กระบวนการตามกฎหมายเป็นอำนาจ....การทำหน้าที่ของฝ่ายใด เกิดความรอบคอบ น่าเชื่อ มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อประเทศกว่ากัน

พร้อมกับมีคำถามต่อเนื่องว่า ระหว่างคลิปเสียงกล่าวอ้างคำสั่งนายกฯ ในที่ประชุมแห่งหนึ่ง และสั่งการล้ม กสทช. ถัดมา สนช.ยึดทำตาม กับคณะกรรมการสรรหา กสทช. ฝ่ายใดทำตามกระบวนการของกฎหมายเพื่อผดุงยุติธรรมให้สังคมกันแน่

โปรดฟังอีกครั้ง...ต้องยึดกฎหมาย และทำตามกฎหมายกำหนด...เสียงแว่วผสมอำนาจสั่งการ กระหึ่มก้องอยู่ในสังคมตามเคย

แล้ว ม.44 ล้มกฎหมาย เพื่อให้เกิดอำนาจกฎหมายตามใจชอบ เกิดขึ้นต่อเนื่องกับ กสทช.มาแล้วถึง 2 ครั้ง คงชินชาและเป็นว่าเล่น เพราะไม่มีใครกล้าหือ

ผู้คนในสังคมต้องเก็บกดกับสิ่งอยุติธรรม เริ่มขยายตัวมากขึ้น จนแทบระเบิดขึ้นอยู่ร่ำๆแล้ว

PEACE NEWS

...