๒๙ เมษานี้รู้เช่นเห็นกันว่าฝ่ายปกครองกับมณฑลทหารเชียงใหม่จะว่าไง
เอาใจตุลาการซึ่งเป็นหุ้นส่วนคาบบ้าน ครองเมือง แล้ว ‘ชั่งหัวมัน’ ประชากรนครพิงค์ผู้รักธรรมชาติ
เมื่อ ๒๐ เมษา นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ
ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ แจ้งต่อสาธารณะว่าคณะกรรมการร่วมเห็นตรงกันว่า
สมควรให้รื้อถอนบ้านพักและอาคารชุดในโครงการบ้านพักตุลาการ ‘บน’ พื้นที่ดอยสุเทพ
“เนื่องจากการก่อสร้างทั้งหมดส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมทั้งนิเวศวิทยาและนิเวศวัฒนธรรม
เพราะเป็นแนวเขตป่าดั้งเดิม”
จึงได้รวบรวมข้อสรุปทั้งหมดจัดส่งให้ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและแม่ทัพภาคที่ ๓ “เพื่อส่งต่อไปให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้าย”
โดยหวังว่าพลเอกตู่ (ตำแหน่ง) นายกรัฐมนตรีจะเข้าใจ
“และตัดสินใจคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพให้ตามที่ชาวเชียงใหม่เรียกร้อง” ไม่เช่นนั้น “หากการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปในทิศทางที่ภาคประชาชนเรียกร้อง
จะมีการยกระดับการเคลื่อนไหวให้เข้มข้นยิ่งขึ้น”
นายกฯ
ตู่จะมีท่าทีอย่างไรในกรณีนี้สุดที่จะเดาใจอารมณ์ไบโพล่าของทั่นได้
แต่สายการครองอำนาจรองๆ ลงมาอย่างรองนายกฯ และ ผบ.ทบ.เคยให้ความเห็นกันไว้แล้ว
ไม่รื้อ ไม่เลิก แต่อาจไม่ให้ตุลาการเข้าไปอยู่ และเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น
(เสียดายไม่ใกล้ทะเล ไม่งั้นทำเป็นคอนโดนกนางแอ่น แจ๋วแน่)
แต่ทว่าชาวบ้านล้านนาเขาผนึกกำลังกันแน่น
เป็นปรากฏการณ์โซเชียลแซงชั่นทั่วทั้งเมืองเชียงใหม่ “ถ้าคุณคิดว่าพวกคุณอยู่ได้คุณก็อยู่ไป”
แผงขายอาหารแห้งในตลาดแห่งหนึ่งติดป้าย “ร้านนี้ไม่ขายของให้
คนบาปทำลายป่า” อีกแห่งขายอาหารบอก “ร้านนี้ไม่ต้อนรับคนทำลายป่า
ร่วมใจทวงคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” กับชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเขียนป้ายให้เหตุผลควรต้องฟัง
“ทำไมอาชีพตุลาการต้องได้อภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่น
ถึงขนาดต้องยกป่าของประเทศให้ ตอบหน่อย”
ตุลาการนายหนึ่งเป็นอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค
๕ ตอบ (ต่างวาระ ไม่ต่างกรรม) ว่าอย่าเพิ่งไปรื้อถอนมันเลย ให้ศาลทั่นอยู่ไปก่อนก่อนสักสิบปี
แล้วค่อยมาดูกันว่าศาลทั่นจะสามารถปรับปรุงระบบสิ่งแวดล้อมทั้งปวงให้คืนสภาพป่าได้ไหม
โอ๊ย ตรรกะของอดีตผู้พิพากษาระดับประธานเป็นอย่างนี้นี่หรือ
มิน่าบ้านเมืองถึงได้ผิดผีผิดไข้ เต็มไปด้วยความอยุติธรรมเลือกข้างอยู่ทุกวันนี้
นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานศาลภาค ๕ อ้างเหตุผลอย่างแสนเสล่ออีกว่า
“ถ้าหากผู้พิพากษาไม่มีที่อยู่
(หรูกลางธรรมชาติอย่างนี้นะ) ใครจะพิจารณาคดีให้ท่านล่ะครับ
ท่านอาจจะต้องเดินทางไปฟ้องกันที่กรุงเทพฯ นะ ทั้งภาคเลยนะครับ”
โอ แม่งเจ้า ใต้เท้าขอรับ
คดีที่พวกทั่นพิจารณาเป็นล่ำเป็นสัน ระหว่างสี่ปีที่พวกทั่นเป็นลูกไล่พวกทหารนักยึดอำนาจเนี่ย
เป็นคดีขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ซะเยอะแยะนะ ฉะนั้นไม่มีพวกทั่นได้ก็จะดีเหมือนกัน
แล้วก็อย่างที่ศิลปินแห่งชาติ สุชาติ
สวัสดิ์ศรี ตั้งคำถาม “ชุมชนป้อมมหากาฬ เก่าแก่มาเป็นร้อยปี ยังไล่รื้อได้ ทำไม ‘บ้านศาลป่าแหว่ง’ จะรื้อไม่ได้” นั่นน่ะสิ
มันเป็นจังหวะพอดิบพอดีกับที่ชุมชนป้อมมหากาฬจัดงานอำลาพื้นที่เก่าแก่โบราณที่พวกตนเคยอยู่อาศัยกันมา
๒๕ ปี จนกระทั่งทางการขับไล่ สั่งรื้อถอน กำหนดให้ย้ายออกหมดภายในวันที่ ๒๕
เมษายนนี้ เพื่อใช้พื้นที่สร้างสวนสาธารณะ และตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาก็มีการขนย้ายและรื้อถอนมาอย่างต่อเนื่อง
พริษฐ์ ชีวารักษ์ นักศึกษา นักกิจกรรม
จากคณะรัฐศาสตร์ มธ. ไปร่วมงานนี้ในฐานะตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่อาลัยชุมชนโบราณแห่งนี้กล่าวท้าวความว่า
“มันคือซากปรักหักพังของเรื่องราว ของการหล่อทอง
ของบ้านลิเก ของการทำอาหาร ของมิตรภาพ”
เขาแสดงความเสียใจที่คนรุ่นใหม่อย่างเขาไม่สามารถทัดทานการทำให้เกาะรัตนโกสินทร์ทันสมัยด้วยการโละทิ้งของเก่าได้
“เมื่อถึงวันหนึ่ง ถ้าที่ตรงนี้กลายเป็นสวนอย่างที่ทาง กทม. กล่าวอ้าง
ถึงมันจะสวยขนาดไหนเราก็คงต้องเรียกมันว่าซากปรักหักพัง เพราะจิตวิญญาณ เรื่องราว
และประวัติก็ได้พังเสียหายไปแล้ว”
สิ่งที่รัฐไทยยุคทหารครองเมืองต้องการถนอมไว้
เป็นความหรูหราตระการและความสะดวกสบายของชนชั้นนำในสังคม ยิ่งกว่าอื่นใด