“ครบรอบ ๒๐ ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง
:มันจะหวนมาอีกรอบแล้วจริงมั้ย”
Natthawut Roongwong @NatthawutR แห่งบริษัทหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการลงทุน ต้นธารคอร์ป
ถามไว้วันนี้ (๒ กรกฎาคม) บนทวิตเตอร์
“มีเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจออกมามากในระหว่างนี้ชี้ไปทางที่ว่า
เศรษฐกิจแย่ เกิดความกังวลโดยทั่วไปว่าจะเกิดการ ‘เผาจริง’ ไวๆ นี้”
เขามีคำตอบให้ตามไปดูบนหน้าเฟชบุ๊ค
‘ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์’ ว่าได้ข้อมูลประเมินสถานการณ์จาก ‘เจ้าพ่อวงการเสาเข็ม’
SEAFCO ดร.ณรงค์ ทัศนนิพันธ์ “ซึ่งอยู่ในธุรกิจตอกเสาเข็ม
งานฐานรากมายาวนานมากกว่า ๔๐ ปี”
บอกว่า “ในเวลานี้
ทาง SEAFCO ยังมีงานเสาเข็ม
งานฐานรากเข้ามาต่อเนื่องอย่างไม่ขาดสาย ก็เลยขอให้พวกกลางน้ำ ปลายน้ำ
และเกี่ยวข้องสบายใจได้ว่าเศรษฐกิจยังไปได้อยู่”
ทั้งนี้และนั้น
มันอยู่บนรากฐานของรายละเอียดประกอบการของบริษัทหนึ่งซึ่งคาดหมายว่า “ปีนี้น่าจะโตราว๑๐% ยอดขายราว ๒ พันล้านบาท” ดังนี้
“ในคราวเกิดฟองสบู่แตกปี
๒๕๔๐ นั้นเราสัมผัสได้ เพราะ SEAFCO ทำธุรกิจอยู่ต้นน้ำ คือการตอกเสาเข็ม งานก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชน
มันมีเหตุบอกล่วงหน้าตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๘ แล้ว คือทางเราไม่มีงานตอกเสาเข็มมาเลย
เราได้เตือนคนที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำว่าให้เตรียมตัวไว้ได้
ใกล้เผาจริงแล้ว เพราะหากต้นน้ำไม่มีตอกเสาเข็ม ไม่มีงานฐานราก
มันก็จะไม่มีงานก่อสร้าง งานตกแต่ง วัสดุก่อสร้างต่างๆ จะลำบากไปหมด
ซึ่งก็มาเกิดฟองสบู่แตกในปี ๒๕๔๐”
ดร.ณรงค์พูดถึงเรื่อง myth หรือตำนานเล่าลือที่ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำทุกๆ
รอบนักษัตร ๑๒ ปี
“ย้อนไปหนก่อนคือปี
๒๕๕๐ ตอนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ย้อนไปก่อนนั้น ๒๕๓๘ ตอนฟองสบู่แตก ย้อนไปก่อนนั้นคือ๒๕๒๖
วิกฤตน้ำมันแพงจนลดค่าเงินบาท
ดังนั้นหากเป็นไปตามนี้
กว่าฟองสบู่จะมารอบต่อไปก็คงเป็นปี พ.ศ.๒๕๖๒ ทางต้นน้ำอย่างเราจะเจอก่อน
พวกคนทั่วๆ ไปก็อาจหลังจากนั้นปีสองปี”
พวกอยู่ปลายๆ
ขนาดปากน้ำสมุทรปราการอะไรนั่น ระดับรากหญ้าจุลภาคคงจะสบายใจไปได้อีกสี่ปี ครบเวลา
คสช. พอดี จะมีเลือกตั้งหรือไม่มีก็แล้วแต่
ทว่ามหภาคตอนนี้
มันก็ดูไม่ดีนักนะ จากรายงานข่าวบลูมเบิร์กเมื่อสิ้นเดือนมิถุนา เขาบอกว่าค่าเงิน ‘ซูเปอร์บาท’ แข็งเกินกว่าฐานจนน่ากลัว
ไอเอ็มเอฟที่เคยอุ้มการคลังไทยไว้เมื่อปี ๒๕๔๐ ก็ยังเตือน
“ในรอบปีที่ผ่านมา
ค่าเงินบาทไต่ขึ้นมา ๓.๔ เปอร์เซ็นต์เมื่อประกบกับดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันศุกร (๓๐
มิ.ย.) ยังยืนตัวอยู่ที่ ๓๓.๙๐ บาทต่อ ๑ เหรียญ”
เงินทุนสำรองของไทยขณะนี้ยังมีเหลือเฟือ
เป็นรองแค่สิงคโปร์ในหมู่ประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คืออยู่ที่ ๑๘๔.๕
บิลเลี่ยนดอลลาร์ หรือราว ๖.๒๕ ล้านล้านบาท เป็นสามเท่าของหนี้ต่างประเทศ
ซึ่งถ้าไม่ต้องห่วงเรื่องเศรษฐกิจจุลภาคละก็ดี
ทีนี้เศรษฐกิจไทยมั่นดิ่งจริงๆ
มาตั้งแต่ทหารยึดอำนาจเมื่อสามปีที่แล้ว “แต่ว่าการลงทุนในธุรกิจภาคเอกชนหดหายมาตั้งแต่ปี
๒๕๕๗ นั่นแล้ว ขณะที่หนี้สินในครัวเรือนเพิ่มขึ้นเสียจนการบริโภคฝืดเคือง
การเติบโตทางเศรษฐกิจด้านส่งออก
รายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการจับจ่ายภาครัฐ เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวให้เห็นลางๆ
แต่ก็ยังเป็นเศรษฐกิจที่อ่อนแอที่สุดในเอเซียอาคเนย์ แค่ ๓ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น”
บลูมเบิร์กชี้ว่า
“ขณะที่ยังมีความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศถึง
๑๓ พันล้านดอลลาร์ (๔๔๐,๗๐๐ ล้านบาท) เทียบกับทุนนอกเข้าไปลงในไทยจิ๊บจ้อย ๕๔,๒๔๐
ล้านบาท”
นโยบาย ‘ไทยแลนด์ ๔.๐’
ส่วนหนึ่งพุ่งเป้าไปที่การทุ่มทุน ๑.๕ ล้านล้านบาทในเวลา ๕ ปี กับโครงการรถไฟ
เมืองใหม่ และอุตสาหกรรมยุคใหม่ในระเบียงตะวันออก
ที่รัฐบาลประยุทธ์อ้างว่าสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางไหมของจีนได้นั้น
อาร์เธอร์ ควอง
หัวหน้าแผนกตราสารทุนภาคพื้นเอเซีย-แปซิฟิคของบรรษัทจัดการทรัพย์สิน บีเอ็นพี
พาริบัส ในฮ่องกงแย้งว่า มีคู่แข่งของไทยในภูมิภาค อาทิ เวียตนาม กัมพูชา และพม่า
ที่ต้องตาการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่า
“คุณจำต้องมีความมั่นคงจากมุมมองหัวจดเท้า”
ควองกล่าว “ไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่พร้อมรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) เดี๋ยวนี้มีตัวเลือกมาก
และความสนใจน่าจะจืดจางไปด้วยพรมแดนใหม่ที่ขยายออกไป”
นางจันทวรรณ
สุจริตกุล รองผู้ว่าการแบ๊งค์ชาติ กล่าวกับบลูมเบิร์กถึงแผนการพัฒนาทรัพยากรบุคคล
และเพิ่มทักษะทางเทคโนโลยี่ของประเทศไทยขณะนี้ ว่า “ความท้าทายอยู่ที่เราจะทำให้เป็นจริงขึ้นได้อย่างไร”