วันศุกร์, กรกฎาคม 28, 2560

ชวนอ่านอีกครั้ง ความเห็นตุลาการเสียงข้างน้อย ภานุพันธ์ ชัยรัต ที่ให้ความเห็นแย้งตอนยิ่งลักษณ์ขอทุเลา แต่ศาลไม่สั่งทุเลา (10 เม.ย.60) - เพิ่งมีคดียิ่งลักษณ์นี่แหละ ที่กล้ายึดโดยไม่รอศาล



"เมื่อการออกคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุการณ์ฟ้องคดี ดำเนินการภายใต้สถานการณ์การใช้กำลังยึดอำนาจการปกครองและมีการใช้อำนาจรัฐ ศาลปกครองในฐานะองค์กรตุลาการของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมทางปกครอง ต้องตระหนักและให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐแทนรัฐให้เป็นไปในฐานะรัฐที่ดีตามหลักนิติธรรม เพื่อป้องกันการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจ"

ooo


ooo


เปิดความเห็นแย้ง ตลก. เสียงข้างน้อย คดี 'ยิ่งลักษณ์' ขอทุเลาบังคับชดใช้ 3.5 หมื่นล้าน


Tue, 2017-04-11 23:27
ที่มา ประชาไท

2 ความเห็นแย้งของคณะตุลาการเสียงข้างน้อย คดี 'ยิ่งลักษณ์' ขอทุเลาบังคับคำสั่งชดใช้ 3.5 หมื่นล้าน ชี้การให้คำสั่งมีผลบังคับจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงยากแก่การเยียวยา แต่หากทุเลาการบังคับก็ไม่เป็นอุปสรรคกับการบริหารงานของรัฐ



แฟ้มภาพ


11 มี.ค. 2560 จากกรณี วชิระ ชอบแต่ง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองและเจ้าของสำนวน และองค์คณะตุลาการเสียงข้างมาก มีคำสั่งให้ยกคำขอ ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและจำเลยคดีโครงการจำนำข้าวในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ฟ้องคดีปกครอง ที่ขอให้ศาลปกครองสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 59 ที่ให้ ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากเหตุขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ปล่อยให้เกิดความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวโดยเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดแก่ราชการตามอำนาจหน้าที่ เป็นเหตุให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย มูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาทเศษ ไว้ก่อนที่จะมีคำพิพากษา ซึ่งคดีดังกล่าว ยิ่งลักษณ์ ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี, รมว.คลัง, รมช.คลัง และปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4

โดยเหตุผลที่ตุลาการเสียงข้างมากยกคำขอ ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากภายหลังจากผู้ถูกฟ้อง ออกคำสั่งเรียกให้ ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้ถูกฟ้องได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว ซึ่งผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีให้ถ้อยคําต่อศาลรับกันว่า นอกจาก หนังสือแจ้งเตือนดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดียังไม่มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดหรืออายัด ทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีและขายทอดตลาดเพื่อชําระค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด ในเมื่อผู้ถูกฟ้องคดียัง ไม่มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ในชั้นนี้จึงรับฟ้งไม่ได้ว่า หากศาลไม่มีคําสั่งทุเลาการบังคับ ตามคําสั่งพิพาท จะทําให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไข ในภายหลัง จึงเห็นว่าเงื่อนไขตามข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีในคําขอให้ศาลมีคําสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่ง พิพาทยังไม่มีน้ําหนักพอที่จะรับฟ้งได้ กรณีจึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคําสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่ง ที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี ศาลจึงมีคําสั่งยกคําขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดี


เห็นแย้งเกรงคำสั่งเกิดความเสียหายร้ายแรงยากเยียวยา และทุเลาก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อรัฐ

ขณะที่วานนี้ มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า แม้องค์คณะตุลาการเสียงข้างมากมีคำสั่งให้ยกคำขอของ ยิ่งลักษณ์ ผู้ฟ้อง แต่ในการพิจารณาคำขอดังกล่าว ภานุพันธ์ ชัยรัต รองอธิบดีศาลปกครองกลาง หนึ่งในองค์คณะก็ได้มีความเห็นแย้งเห็นสมควรที่ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองของกระทรวงการคลังที่เป็นเหตุในการฟ้องคดีนี้

โดยสรุปเหตุผลว่า ผู้ฟ้องได้อ้างถึงคำสั่งกระทรวงการคลังให้ชดใช้ค่าเสียหาย 35,717,273,028.23 บาท ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวกระทรวงการคลังจะดำเนินมาตรการบังคับทางปกครอง ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินให้ครบถ้วน ซึ่งนายภานุพันธ์ เห็นว่า การใช้มาตรการบังคับทางปกครองเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นมีขั้นตอนตามปรกติที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองหรือ กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่ตราโดยรัฐสภา แต่กรณีโครงการรับจำนำข้าว นายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องที่ 1 เลือกใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 44 กำหนดความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับมอบหมายตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ให้ดำเนินการต่อผู้กระทำผิด และกำหนดให้กรมบังคับคดีเป็นเจ้าหน้าที่ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง แสดงให้เห็นว่า นายกฯผู้ถูกฟ้องที่ 1 กับพวกประสงค์จะดำเนินการและพร้อมจะดำเนินการกรณีโครงการรับจำนำข้าวเป็นกรณีพิเศษ แตกต่างไปจากกรณีปรกติ

โดยเมื่อผู้ฟ้องไม่ชำระเงินตามเวลาที่กำหนดในคำสั่งทางปกครอง กระทรวงการคลังได้มีหนังสือลับ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 4 ม.ค. 60 แจ้งเตือนให้ชดใช้ค่าสินไหม โดยระบุในหนังสือว่า เมื่อไม่ชำระเงิน เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เพื่อชำระเงินให้ครบถ้วน ขณะที่ข้อเท็จจริงที่รับฟังตามคำสั่งกระทรวงการคลัง นายกฯผู้ถูกฟ้องที่ 1 กับพวกกล่าวอ้างในคำสั่งว่า จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ถือได้ว่าผู้ฟ้องจงใจกระทำละเมิดเป็นเหตุให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหายเป็นเงิน 178,586,365,141.17 บาท จึงให้ผู้ฟ้องรับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนการกระทำของตน ในอัตราร้อยละ 20 ของความเสียหายซึ่งคิดเป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 และ 10 ทั้งนี้หากทางราชการมีการระบายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555 /26 และปีการผลิต 2556/57 ได้ในราคาที่สูงกว่า ราคาที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ผ่านมาของรัฐบาล ก็ให้นำมาคำนวณเป็นมูลค่าสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 57 และนำมาหักคืนแก่ผู้ฟ้อง ตามสัดส่วนที่ได้ชำระไว้ต่อไป จึงเห็นว่าจำนวนเงิน 3.5 หมื่นล้านบาทเศษ ที่ผู้ฟ้องกับพวกกล่าวอ้างในคำสั่งกระทรวงการคลังที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี เป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่ยุติเป็นที่สุด

เพราะอาจมีเงินจำนวนหนึ่งที่ต้องนำคืนแก่ผู้ฟ้องในภายหลังตามที่ระบุไว้ในคำสั่งทางปกครองนั้น ขณะที่ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวยังมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆเพื่อกำหนดค่าเสียหายที่ยุติเป็นที่สุด รวมทั้งหากนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวไม่ชอบและทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ยังมีประเด็นการเรียกเงินคืนจากผู้ที่ได้รับไปจากนโยบายของรัฐบาลในฐานะลาภที่ไม่ควรได้ด้วย

ดังนั้นเมื่อยังมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยการกำหนดค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวที่แน่นอนซึ่งผลการวินิจฉัยอาจส่งผลเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงของค่าเสียหายที่จะสั่งให้รับผิดชดใช้ เมื่อสาระสำคัญของคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดียังไม่ยุติเป็นที่สุดจึงน่าจะมีปัญหาเรื่องความไม่ชอบของคำสั่ง เละเมื่อคำสั่งนั้นแจ้งให้ต้องรับผิดชดใช้เป็นจำนวนเงินที่สูงมาก หากมีการใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินขายทอดตลาดให้ครบตามจำนวนทั้งที่ข้อเท็จจริงยังไม่ยุติเป็นที่สุด ก็ย่อมเกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้ฟ้อง รวมทั้งบริวารที่มีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับผู้ฟ้อง ในความเสียหายต่อสิทธิทรัพย์สินของบุคคล

จึงเห็นว่าหากให้คำสั่งกระทรวงการคลังนั้นมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับผู้ฟ้องและ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขภายหลัง ซึ่งถ้าแม้ศาลปกครองจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งกระทรวงการคลังนี้ นายกฯผู้ถูกฟ้องที่1 ในฐานะหัวหน้า คสช.ยังมีอำนาจพิเศษที่จะสั่งการระงับยับยั้งคำสั่งของศาลปกครองได้ตาม รัฐธรรมนูญฯ(ฉบับชั่วคราว) มาตรา 44 จึงเห็นว่าการทุเลาบังคับคำสั่งกระทรวงการคลัง ก็ไม่เป็นอุปสรรคกับการบริหารงานของรัฐ

เมื่อการออกคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุการณ์ฟ้องคดีดำเนินการภายใต้สถานการณ์การใช้กำลังยึดอำนาจการปกครองและมีการใช้อำนาจรัฐ ศาลปกครองในฐานะองค์กรตุลาการของรัฐซึ่งมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมทางปกครองต้องตะหนักและให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐแทนรัฐให้เป็นไปในฐานะรัฐที่ดีตามรัฐนิติธรรมเพื่อป้องกันการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจ โดยดำเนินกระบวนพิจารณาคดีปกครองให้ครบตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองจนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นที่สุดเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมทางปกครอง ของประเทศได้ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุในการฟ้องคดีก่อนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินผู้ฟ้องเพื่อเป็นหลักประกันในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองแก่ประชาชนและสังคมไทยและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งจะดำเนินการใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามคำสั่งทางปกครอง ที่ไม่ใช่การบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลซึ่งเป็นที่สุดแล้ว

เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าคำสั่งกระทรวงการคลังเหตุของการฟ้องคดีมีปัญหาความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการให้คำสั่งนั้นมีผลบังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงยากแก่การเยียวยาในภายหลัง ขณะที่หากทุเลาการบังคับคำสั่งนั้นก็ไม่เป็นอุปสรรคกับการบริหารงานของรัฐ ศาลปกครองจึงมีอำนาจที่จะสั่งทุเลาได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามข้อ 72 วรรค 3 ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 จึงเห็นสมควรที่ศาลปกครองจะสั่งทุเลาคำสั่งกระทรวงการคลังไว้จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

การทุเลาไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้อง

ขณะเดียวกันก็ยังมีความเห็นแย้งของ วชิระ ชอบแต่ง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวนคดีนี้ ก็ยังมีความเห็นแย้งเช่นกัน แต่ในทางที่ว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องได้โต้แย้งถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการออกคำสั่งทั้งในเรื่องการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ,ขั้นตอนและวิธีการ ที่เป็นสาระสำคัญและดุลพินิจที่ใช้ในการออกคำสั่งในหลายกรณี กรณีจึงน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายซึ่งหากมีผลบังคับใช้ต่อไประหว่างการพิจารณาคดีของศาลจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับผู้ฟ้องที่ยากเกินเยียวยาในภายหลัง ซึ่งการที่ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 มีหนังสือแจ้งเตือนในวันเดียวกันกับที่ออกคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ขณะเดียวกันได้มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.มอบให้กรมบังคับคดีที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะมาเป็นผู้ใช้อำนาจในมาตรการบังคับทางปกครองโดยให้มีการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว จึงเป็นที่แน่ชัดว่าหากให้คำสั่งชดใช้ค่าสินไหมใช้บังคับต่อไปผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 และกรมบังคับคดีจะต้องดำเนินการใช้มาตรการบังคับทางปกครองยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องแล้วนำมาขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชดใช้ค่าสินไหมอย่างแน่นอนซึ่งสอดคล้องกับพยานหลักฐาน ที่ผู้ฟ้องแสดงต่อศาลว่าเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์หลายฉบับว่าจะใช้มาตรการบังคับทางปกครองหากศาลมีคำสั่งไม่ทุเลา

กรณีจึงถือได้ว่าผู้ถูกกฟ้องได้เริ่มกระบวนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินแล้ว ขณะที่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนและหนังสือชี้แจงของผู้ฟ้องเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 60 พบว่าเมื่อสถานภาพของผู้ฟ้องเปลี่ยนแปลงไปยังมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นซึ่งหากนำค่าใช้จ่ายที่ผู้ฟ้องอ้าง กับทรัพย์สินตามที่แจ้งต่อศาลและ ป.ป.ช.มาเปรียบเทียบกับจำนวนเงินที่ผู้ฟ้องจะต้องชดใช้ตามคำสั่งแล้ว เห็นได้ว่าหากมีการบังคับทางปกครองโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์ของผู้ฟ้องโดยสิ้นเชิง ย่อมทำให้ไม่มีทรัพย์ใดๆเหลืออยู่เลยในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลและย่อมได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยทันที

ซึ่งหากรอให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 และกรมบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์ไปก่อนแล้ว ผู้ฟ้องมีคำขอให้ทุเลาแม้ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาก็ไม่ได้ทำให้ผู้ฟ้องได้รับทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดไปแล้วกลับคืนมา เพียงแต่ทำให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 และกรมบังคับคดีไม่อาจมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินอื่นของผู้ฟ้องต่อไปได้เท่านั้น หรือหากผู้ฟ้องจะแก้ไขความเดือดร้อนด้วยการฟ้องเป็นคดีใหม่ขอให้เพิกถอนคำสั่งยึดและอายัดก็จะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขการฟ้องคดีที่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร

อีกทั้งถ้าแม้ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาในครั้งนี้ก็ไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 และกรมบังคับคดีที่จะใช้มาตรการบังคับทางปกครองกับทรัพย์สินของผู้ฟ้อง เพราะผู้ถูกฟ้องและกรมบังคับคดียังมีอำนาจหน้าที่ในส่วนของการเตรียมสืบหาทรัพย์สินต่างๆของผู้ฟ้องเพื่อนำไปสู่การยึดและอายัดต่อไป ดังนั้นถ้าจะสั่งทุเลาจึงไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ แต่แม้คดีนี้ศาลจะมีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองได้ก็ตาม

แต่เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของการกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาที่มุ่งคุ้มครองคู่กรณีระหว่างการพิจารณาคดีแล้ว การที่ศาลมีคำสั่งให้ทุเลาคำสั่งทั้งหมดซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 และกรมบังคับคดีไม่สามารถยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินใดๆ ของผู้ฟ้องได้เลยในระหว่างการพิจารณาของศาลก็ย่อมทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคกับการบริหารงานของรัฐตามมาได้และทำให้ผู้ฟ้องมีสิทธิใช้บรรดาทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ได้ตามปรกติเสมือนไม่มีคำสั่งที่ใช้บังคับเลยทั้งๆที่ผู้ฟ้องยังคงมีหน้าที่ชดใช้เงินตามคำสั่ง ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นกับการบริหารงานของรัฐตามมากับการพิจารณาถึงความเดือดร้อนเสียหายของผู้ฟ้องจากรายได้ ค่าใช้จ่ายที่สมควรลดลงตามแก่กรณี ความจำเป็นในการใช้ที่อยู่อาศัยและการครอบครองเคหะสถานโดยปรกติสุข เกียรติยศชื่อเสียง และ พฤติการณ์แห่งคดีของผู้ฟ้องที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแล้ว จึงเห็นสมควรที่จะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคำสั่งกระทรวงการคลังเพียงบางส่วนเท่านั้นด้วยการห้ามไม่ให้คำสั่งกระทรวงการคลังมีผลในบ้านและที่ดินเลขที่ 38/9 ซอย นวมินทร์ 111 แขวง นวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กทม.ที่เป็นบ้านพักอาศัยของผู้ฟ้องและครอบครัว และที่ดินซึ่งเป็นบ้านพักคนงานรวมถึงซึ่งของเครื่องใช้ต่างๆภายในบ้านทั้ง2หลัง รวมทั้งบัญชีเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยในธนาคารกรุงเทพฯสาขาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคารเอ รวม 9 บัญชีไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ที่มา : ข่าวศาลปกครอง เว็บไซต์ศาลปกครอง และ มติชนออนไลน์