This story is better read in English with a sense of universalism to encompass
the feeling expressed by the author. But it hits right in the bull-eye of an ugly
Thai-ness that I try to extract some essence into Thai language, as a way to
hold up the writer hands until her feeling subsides.
(RP)
“ทุกวันฉันพร่ำสวดวิงวอน ไม่ให้มีใครมาทำให้ฉันรู้สึกไร้ค่า
ฉันภาวนาให้ตัวเองสามารถตอบรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าได้อย่างเหมาะสม คุณเห็นจากรูปแล้วว่าสีผิวของฉันน้ำตาล
ฉันรักสีผิวนี้ แต่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เค้าไม่ชื่นชอบกันหรอก
ใช่ค่ะ คนไทยจำนวนมากผิวสีน้ำตาลเหมือนกัน หากไม่เช่นนั้นก็เข้มกว่า แต่ว่านั่นมันกลับไม่ได้สลักสำคัญ
เพราะการรังเกียจสีเข้มมีจริง”
หญิงสาวผิวดำคล้ำวัยอีกไม่นานจะถึง ๓๐ เมื่อเธอได้รับปริญญาเอกทางการศึกษา
เธอเลือกที่จะหาประสบการณ์เป็นครูในเอเซียต่อจากเกาหลีแล้วมาสู่ประเทศไทย
หลังจากที่ได้เริ่มฝึกสอนและทำงานครูในโรงเรียนรัฐบาลของรัฐเวอร์จิเนียเมื่อจบปริญญาโทใหม่ๆ และอีก ๓ ปีในเขตการศึกษาวอชิงตัน ดีซี
ใช่แล้ว เธอเป็นคนอเมริกัน (ซึ่งบางครั้งบางส่วนอาจเรียกว่า
อาฟริกัน-อเมริกัน) แต่เธอไม่ได้ไปจาก ‘อาฟริกา’ อย่างที่คนไทยซึ่งแวดล้อมการงานอาชีพของเธอในประเทศไทย
พยายามที่จะกำหนดประเภทของการเป็นมนุษย์ให้กับเธอ
เธอเล่าเรื่องที่ถูกล้อเลียนสีผิวจากเพื่อนครูไทยที่ผ่านพบจากการสอนในโรงเรียนสี่ห้าแห่ง
อย่างอึดอัดจนไปลงเอยที่หมดความอดกลั้นปล่อยโฮออกมา
“ฉันร้องไห้กับสิ่งที่ได้เจอะเจอมาตลอดกระทั่งบัดนี้”
เธอผู้มีนามว่าคริสตินเขียนเล่า “ทุกครั้งที่ฉันเดินเข้าไปในห้องเรียนวันแรกของแต่ละแห่ง
ฉันถูกจ้องและมองเป็นตัวตลก ทุกครั้งที่ฉันเดินผ่านกลุ่มเด็กนักเรียน
บางคนพยายามจะจับเล่นผมที่ถักของฉัน
ทุกครั้งที่ฉันพยายามจะสอนภาษาที่ฉันพูดได้อย่างคล่องแคล่ว จะมีบางคนให้ความสนใจกับผิวสีของฉัน
มากกว่าวัฒนธรรมและการศึกษาที่ฉันสามารถให้กับเด็กๆ ได้”
คริสตินเล่ารายละเอียดมากมายถึงกิริยาอาการที่เพื่อนครูและผู้อำนวยการโรงเรียนไทย
ไม่เพียงมองเห็นสีผิวของเธอเป็นเรื่องตลกขบขัน และทำเหมือนกับว่ามันเป็นข้อด้อยทางความสามารถของเธอ
ครั้งหนึ่งเธอถูกเปรียบเทียบกับเพื่อนครูผิวดำอีกคนว่าเป็น “หมาขี้เหร่ตัวเมียสีดำ”
แม้เพื่อนคนนั้นจะตอบกลับไปว่า “ไม่นะ เรางดงามต่างหาก” แต่มันก็ทำให้เธอต้องยืนก้มหน้า
เธอต้องผละงานจากสองสามโรงเรียนเพราะทนการหยามหมิ่นเรื่องสีผิวไม่ไหว
แต่ก็พยายามใหม่ด้วยการส่งภาพถ่ายไปพร้อมใบสมัครให้ผู้อำนวยการพินิจพิจารณาเสียก่อนจากรูป
ว่าตัวตนของเธออย่างไร จะได้ไม่มีปัญหาเมื่อเจอตัวตอนสัมภาษณ์
อนิจจา มันก็ยังไม่เป็นผล
คราวนี้ผู้อำนวยการซึ่งพูดอังกฤษได้ดีทีเดียวบอกกับเธอว่า “นี่ฉันพูดอย่างใจเปิดกว้างแล้วนะ
เพราะสีผิวของเธอพวกผู้ปกครองเด็กจะต้องมีข้อกังขา ว่าเธอไม่ใช่คนเชื้อชาติที่พูดอังกฤษแต่เกิด”
ผอ. บอกว่าจะต้องทดสอบการสอนของเธอดูก่อนจะพิจารณาตัดสิน
แล้วบอกให้เธอไปรอที่อีกห้องหนึ่ง
เธอเห็นสตรีผิวขาวชาวอังกฤษสองคนเดินผ่านไปเข้าสัมภาษณ์
ปรากฏว่าสองคนนั้นได้งานทันที ไม่ต้องมีการทดสอบ หรือแม้แต่ซักถามอะไรมาก
ครูชายชาวยุโรปที่นั่นคนหนึ่งเห็นเธอร้องไห้เสียใจ พยายามจะไปอธิบายกับผู้อำนวยการถึงความกดดันที่เธอได้รับตลอดมาในประเทศนี้
จากการมีผิวดำคล้ำแบบชาวอาฟริกัน
คริสตินลงท้ายข้อเขียนบล็อกของเธอว่านั่นไม่ใช่ความจริง “ฉันไม่ได้เจอปัญหาในประเทศไทยเพราะสีผิวของฉัน...ผิวของฉันไม่ได้มีอะไรเสียหาย”
ปัญหามันอยู่ที่ ‘ผู้คน’ ของประเทศนี้ต่างหาก