ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ภาพโดย: Voice TV
‘ขอให้คุณโชคดี’ กับสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ
27 กรกฎาคม 2017
TDRI
เมื่อ Voice TV ชวน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ คุยเรื่องนโยบายเศรษฐกิจไทย ทำไมถึงต้อง #ขอให้คุณโชคดี พบกับบทสัมภาษณ์ ที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ฉายภาพความท้าทายของ นโยบายเศรษฐกิจ การเมือง ระบบราชการ และไทยแลนด์ 4.0 ที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คำว่า #ขอให้คุณโชคดี ในบทสัมภาษณ์ของ ดร.สมเกียรติ จะมีความหมายอย่างไร และจะจุดประกายให้คุณเตรียมตัวอย่างไร ติดตามได้ใน ‘ขอให้คุณโชคดี’ กับสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ กับ Voice TV
1. ขอให้โชคดี กับนโยบายเศรษฐกิจแบบลูกตุ้ม
เมื่อบทสัมภาษณ์มุ่งเป้าไปที่ นโยบายเศรษฐกิจไทย ดร.สมเกียรติ ได้เปรียบเทียบนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลแต่ละสมัย ในภาพใหญ่ว่าเหมือนลูกตุ้มแกว่งไปมา เพราะรัฐบาลมักออกนโยบายโดยมีเป้าหมายเพื่อพยายามตอบสนองคนกลุ่มต่างๆ ให้เห็นผลงานไวๆ เราจึงเห็นตัวอย่าง เช่น นโยบายเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ มีทั้งที่เคยค่อยๆขึ้น ขึ้นแบบช้ากว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้ภาคธุรกิจได้ประโยชน์ อยู่ได้ แต่คนงานรับไม่ไหว ส่วนในบางเวลา ค่าจ้างขั้นต่ำก็ถูกปรับขึ้นอย่างเร็ว จนภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทันรับไม่ค่อยไหว แต่คนงานมีเงินมากขึ้น ทำให้เห็นว่านโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแต่ละสมัยมักทำให้เกิดผู้แพ้ หรือผู้ได้ประโยชน์น้อยจากนโยบาย
หากวิเคราะห์นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยตั้งแต่อดีต จนถึง ไทยแลนด์ 4.0 ว่าส่วนใหญ่มีลักษณะอย่างไร ดร.สมเกียรติ เห็นว่าขึ้นอยู่กับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจนั้นเน้นจุดประสงค์เพื่ออะไร เพราะโดยหลักๆแล้ว มีนโยบายเพื่อตอบโจทย์การเติบโตทางเศรษฐกิจ และนโยบายเพื่อตอบโจทย์กระจายรายได้
“ถ้าเป็นนโยบายที่มุ่งหวังการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนใจเรื่องการกระจายรายได้ นโยบายที่ทำให้ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจดีและการกระจายรายได้ดีด้วย มันทำยาก ส่วนใหญ่เราจึงเห็นนโยบายของรัฐบาลไทย แต่ไหนแต่ไรสองส่วนนี้ค่อนข้างแยกจากกัน โตก็โต กระจายก็กระจาย ไม่ใช่เป็นทูอินวัน นโยบายมันจึงออกมาเป็นท่อนๆ แล้วค่อยเอามาผสมกัน นโยบายมันเป็นแบบนี้ตลอด”
“แต่ไม่เคยมีรัฐบาลใดที่ทิ้งตัวใดตัวหนึ่งไปโดยเด็ดขาด มันทิ้งไม่ได้ ถ้าทิ้งการสร้างการเจริญเติบโต มันก็มีงบประมาณมาแจกกันน้อยลง แต่ถ้าทิ้งการกระจายรายได้ในช่วงที่การเมืองเป็นประชาธิปไตย ก็จะมีโอกาสแพ้การเลือกตั้งครั้งต่อไป หรือ แม้แต่ไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตยก็มีแรงกดดัน ไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง ในทางหนึ่งการเอาเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้มีกำลังซื้อกลับมา ในขณะเดียวกันความไม่พอใจต่อรัฐบาลก็จะน้อยด้วย”
ในบทความนี้มองว่า อาจจะเป็นความโชคร้าย เพราะ ดร.สมเกียรติ ระบุว่า การได้มาซึ่งนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่จะตอบทั้งโจทย์กระจายรายได้และสร้างการเติบโต ต้องอาศัยการศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งทำให้ได้ค่าจ้างสูง เศรษฐกิจฐานรากดี การเติบโตของเศรษฐกิจและการกระจายรายได้มันจะเกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ของประเทศไทยไม่ได้มีจุดตั้งต้นแบบนั้น
เมื่อถามถึง นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจในรัฐบาลชุดนี้ ดร.สมเกียรติ ได้ช่วยทบทวนความจำ ฉายภาพให้เห็นว่าในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะมี นโยบายเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 ได้เคยมีนโยบาย ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 เขต’ ที่ต้องการดึงดูดนักลงทุนและหวังกระจายรายได้สู่จังหวัดชายแดน แต่ผลไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมา ‘นโยบายส่งเสริม 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม’ เป็นนโยบายที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่เน้นการกระจายรายได้ โดยลดภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุน สุดท้ายก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน ภายหลังรัฐบาลประยุทธ์หันมาชูแนวความคิด ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้ และ ดร.สมเกียรติ ก็เห็นด้วยว่าเป็นทิศทางที่ต้องไป แต่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ต้องขึ้นกับยุทธศาสตร์และการปฏิบัติในระดับโครงการ
อาจเป็นเรื่องโชคดี ในความโชคร้ายที่ผ่านมา รัฐบาลประยุทธ์เรียนรู้จากนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ประสบผลสำเร็จ ตกผลึกและหยิบเอา EEC (Eastern Economic Corridor) หรือ ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก มาเป็นตัวทำให้ ไทยแลนด์ 4.0 เกิดขึ้น สิ่งแรกที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC จะทำ คือ แยกการบริหารจัดการออกจากระบบราชการ ออกกฎระเบียบเพื่อให้หลุดพ้นจากระบบราชการปกติ ซึ่งดูจะเป็นความโชคดีอีกเรื่อง แต่การหนีจากระบบราชการไทยยังไม่เพียงพอ เพราะ ดร.สมเกียรติ เห็นว่ายังมีอุปสรรคที่ใหญ่กว่า นั่นคือระบบการศึกษาไทยมีปัญหา ทำให้การส่งเสริมเศรษฐกิจใช้ความรู้ทำได้ยาก
และแม้ใน EEC จะกำลังมีบริษัททำรถยนต์ไฮบริด บริษัททำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ บริษัทซ่อมบำรุงเครื่องบินเกิดขึ้น แต่ก็เกิดจากการดึงดูดการลงทุน สร้างการเจริญเติบโต ด้วยบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน จะมีโรงเรียนฝึกช่าง แต่ลักษณะที่กำลังจะเกิดขึ้นยังคงไม่ใช่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนจากฐานรากขึ้นมา ไม่ใช่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนแบบสตาร์ทอัพ (Startup)
2. ขอให้โชคดี กับไทยแลนด์ 4.0
จะไปไทยแลนด์ 4.0 ดร.สมเกียรติ เห็นว่าอย่างไรก็ต้องทำให้เกิดสตาร์ทอัพ (Stratup) แต่ทุกวันนี้ สตาร์ทอัพ (Stratup) เจอกับข้อจำกัดมากมาย แม้ว่ารัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมสตาร์ทอัพ (Stratup) แต่นโยบายส่งเสริมสตาร์ทอัพของรัฐบาลผิดทิศผิดทาง เช่น ช่วยโดยมาตรการทางภาษี แต่ความเป็นจริงสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ขาดทุน ไปลดภาษีไม่มีประโยชน์ แล้วก่อนจะถึงตรงนั้น ดร.สมเกียรติ เห็นว่าจะต้องมีไอเดียไปทำสตาร์ทอัพ แต่หากถูกห้ามทำโน่นทำนี่ แล้วจะนำเอาไอเดียที่ไหนมาทำสตาร์ทอัพ เช่น การใช้โดรน กฎปัจจุบันนี้ โดรนขออนุญาตทดลองยากมาก ห้ามใช้ในเมือง ห้ามใช้ในชุมชน เช่นเดียวกัน ปริ้นเตอร์สามมิติ (3D Printing) นำเข้ามาจะถูกควบคุม เพราะว่ากลัวว่าจะเอาไปพิมพ์ปืน หรือ สตาร์ทอัพจะทำแอพเรียกแท็กซี่ได้ไหม ในเมื่อถึงเวลาแท็กซี่หรือรถแดงในจังหวัดต่างๆ ก็ลุกขึ้นประท้วง ด้วยกฎระเบียบ ด้วยการปิดกั้นการรับเทคโนโลยีใหม่ๆแบบนี้ ทำให้ไม่มีเชื้อความคิดใหม่ๆให้ไปทำสตาร์ทอัพได้มากพอ
ดร.สมเกียรติ เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า เศรษฐกิจเยอรมนี หรือ เศรษฐกิจไต้หวัน ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมจำนวนมากมีเทคโนโลยีเอง พัฒนาเทคโนโลยีเอง เศรษฐกิจไทยไม่ได้โตจากการพัฒนานวัตกรรม ไม่ได้โตจากการลงทุนทำวิจัยเพื่อทำของใหม่ขึ้นมา แต่เศรษฐกิจไทยโตมาจากการลงทุนต่างประเทศ จากการส่งเสริมการลงทุน โตจากการส่งออก โดยใช้เทคโนโลยีชาวบ้านเขา รับจ้างเขาผลิต
“ก่อนที่ Apple จะทำไอโฟน (iPhone)ได้ เศรษฐกิจอเมริกาพัฒนาฐานรากของการสร้างนวัตกรรมมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เกิดซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley) เกิดมหาวิทยาลัย เกิดบริษัท เกิดกลุ่มทุนที่เอาเงินไปลงทุนกับการสร้างนวัตกรรม เกิดระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพสูงมาก ของไทยระบบนิเวศมันขาด มันเหมือนกับคุณคิดว่าจะมีคนไทยเก่งๆ สักคน แล้วคุณก็เอาต้นกล้าต้นนี้ไปหย่อนลงดิน แต่ดินไม่ใช่ดินดี ฝนมันไม่ตก ต้นมันก็ไม่เกิด มันตายไปเยอะมาก ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นได้ ไม่สามารถพัฒนาแรงงานมีฝีมือขึ้นได้ เราก็สร้างการเติบโตเศรษฐกิจไม่ได้ด้วยตัวเอง เมื่อเราสร้างไม่ได้ด้วยตัวเอง เราก็ต้องไปชวนต่างชาติมาลงทุน ลดภาษี การเติบโตทางเศรษฐกิจเกิด การส่งออกเกิด แต่การกระจายรายได้แย่ลง”
3. ขอให้โชคดี กับ เศรษฐกิจไทยในกระแสโลก
ในบทสัมภาษณ์ของ Voice TV ชงประเด็นว่า ชุดนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่ออกมาบางครั้งขัดกัน เพราะเราเลือกไม่ได้ระหว่างเสรีนิยมใหม่ซึ่งเป็นกระแสของโลก กับ ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา รึเปล่า ซึ่ง ดร.สมเกียรติ เห็นในอีกทางว่า ไทยไม่ได้มีความเป็นเสรีนิยมใหม่ เพราะประเทศไทยไม่ใช่เศรษฐกิจแบบเสรีแบบโมเดลฉันทานุมัติวอชิงตันเลย
ไทยมีการเปิดเสรีน้อยมากและแบบเลือกปฏิบัติมากๆ ด้วย กรณีของไทย เปิดเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต ภาคบริการแทบไม่ได้เปิดเลย บริการต่างๆ สงวนไว้ให้คนไทย ไม่ได้แปรรูปรัฐวิสาหกิจมากมาย แปรรูปก็แปรรูปแบบครึ่งๆ กลางๆ โดยรัฐยังถือหุ้นส่วนใหญ่อยู่ กฎระเบียบที่ปล่อยให้รัฐแทรกแซงระบบเศรษฐกิจแบบมั่วๆ ก็เต็มไปหมด อย่างนี้มันไม่ใช่เสรีนิยมใหม่แน่นอน แต่ไทยก็เป็นเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับโลกาภิวัตน์มากจริง ผ่านการค้าและการลงทุน ส่วนใหญ่เพื่อสร้างการเติบโต แต่ก็มีส่วนที่เกี่ยวกับการกระจายรายได้อยู่บ้าง เพราะมันมีแรงกดดันทางการเมืองอยู่ จึงมีเรื่องของเศรษฐกิจจากฐานชุมชน มันจึงแยกเป็นสองส่วน ยังไม่มี Synthesis (การสังเคราะห์) ที่จะทำให้สองส่วนนี้กลายเป็นภาพเดียวกัน
ในขณะที่ด้านการลงทุนที่น่าจะมีโอกาสอยู่บ้าง แต่ยักษ์ใหญ่ด้านไอที อย่าง กูเกิล (Google) หรือ เฟซบุ๊ก (Facebook) อาจจะไม่ยอมมาลงทุน เพราะติดปัญหานโยบายของรัฐไทย
“รัฐบาลไทยปัจจุบันก็พยายามไม่เปิดให้มีการสื่อสารเสรี เพราะฉะนั้นใครจะมาลงทุนในส่วนที่เป็นธุรกิจแพลทฟอร์ม (Platform) การสื่อสาร เขาก็รู้สึกว่าไม่ใช่ อย่าง กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เอง ก็มีนโยบายจะจัดการกับเฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูป ผลกระทบคือ บริษัทขนาดเล็กลงมาที่จะมาทำธุรกิจในลักษณะเดียวกันจะลังเลที่จะมาลงทุน เพราะเป็นห่วงด้านนโยบาย”
4. ขอให้โชคดี กับ ระบบราชการและการเมืองไทย
ดร.สมเกียรติ มองว่า ระบบราชการนั้น แต่เดิมที่เคยเป็นผู้สนับสนุนการพัฒนา เพราะทำให้นโยบายและมาตรการต่างๆ ต่อเนื่อง แต่ตอนนี้กลายเป็นอุปสรรคการพัฒนา ด้วยสาเหตุ อย่างแรก ค่าตอบแทนของบุคลากรของราชการต่ำกว่าของเอกชนมาก ที่ผ่านมาราชการไปเน้นขยายปริมาณ คือขยายจำนวนคน แต่ว่าอัตราผลตอบแทนขึ้นไม่ทัน
เรื่องที่สอง การตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้มีโอกาสถูกตรวจสอบจนไม่กล้าทำอะไร
สาม การเมืองในช่วงหลังมองว่าข้าราชการคือลูกไล่ของการเมือง หลายประเทศการเมืองเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่ถ้าข้าราชการเป็นเสาหลักแทนได้ นโยบายยากก็ต่อเนื่องได้ สำหรับเมืองไทยการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในช่วงหลังไม่ได้ทำโดยดูตามความรู้ความสามารถ แต่ดูตามความจงรักภักดี ว่าคนนี้เป็นคนของใคร ฉะนั้นระบบราชการไทยจึงเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว และยากที่จะพาประเทศไทยไปสู่ 4.0 ได้
5. ขอให้โชคดี กับ สังคมสูงอายุ และ Technology Disruption
นอกจากข้อจำกัดเรื่องสภาพการเมืองภายในประเทศ สภาพเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำสูง คนรุ่นใหม่ยังต้องเผชิญกับโครงสร้างประชากรที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป และ ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในระดับวินาที
คนรุ่นใหม่จะอยู่ในสังคมที่เหนื่อยหน่อย เพราะโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป จากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ สังคมสูงอายุเกิดจาก หนึ่ง การเกิดของเด็กลดลง สอง คนอายุยืนขึ้น เลยกลายเป็นสังคมที่มีคนสูงอายุ อายุเฉลี่ยของสังคมก็สูงขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ แรงงานหายไปจำนวนหนึ่ง เพราะว่าเด็กเกิดน้อยลง มีคนเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลง ธุรกิจใช้แรงงานเยอะๆ ก็จะไม่มีแรงงานใช้ นอกจากขาดปริมาณแล้ว ถ้าการศึกษายังคุณภาพต่ำอีก มันซ้ำเติมหลายทอดมาก อันนี้คือในซีกที่หารายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซีกที่ต้องใช้จ่ายก็จะมีความต้องการใช้จ่ายเยอะขึ้น ผู้สูงอายุเจ็บป่วย เจ็บป่วยหนักๆคนที่มีเงินออม เงินออมอาจจะหายเรียบไปเลย คนอายุยืนขึ้นต้องการบำเหน็จบำนาญมากขึ้น สรุปก็คือ ซีกรายได้ลดลง ซีกรายจ่ายสูงขึ้น เป็นสังคมที่น่าจะเหนื่อยกว่าที่ผ่านมา
ดร.สมเกียรติ ยังเตือนไปถึงอีกผลกระทบที่จะเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี “คุณเจอแน่ๆ คือ Technology Disruption เพราะว่าโลกเปลี่ยนเร็วมาก ต้องการความสามารถของคนสูงมาก แต่การศึกษาแย่มาก แล้วจะปรับตัวยังไง นี่คือสิ่งที่คนรุ่นคุณจะเจอ คุณเรียนหนังสือจบมาแล้ว คุณต้องหาวิธีอัพเกรดทักษะของคุณเอง คนที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ อยู่ในระบบอยู่ ก็จะเรียนสิ่งที่ล้าสมัย เรียนสิ่งที่ไม่มีประโยชน์กับการมีชีวิตอยู่ในโลกอนาคต โลกที่แม้กระทั่งคนที่เตรียมตัวดียังเหนื่อยเลย เพราะโลกมันเปลี่ยนไปเร็ว มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเช่น คนเก่งสิบปีก่อนอย่าง คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แกรมมี่ ซึ่งใครๆ ก็บอกว่าวิสัยทัศน์แจ๋วมาก แต่ถูก disrupt ไป ตอนนี้ธุรกิจแกรมมี่ก็มีปัญหาการทำกำไร อาร์เอสก็เน้นไปขายเครื่องสำอางแล้ว อย่างนี้เป็นต้น คุณก็จะเห็นว่าโลกมันเปลี่ยนเร็วเหลือเกิน ขนาดคนมีความสามารถสูงๆ เก่งขนาดนี้ยังมีปัญหาในการปรับตัวเลย”
6. ขอให้โชคดี กับ ระบบการศึกษาไทย
สิ่งที่ต้องเผชิญซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สุด ในมุม ดร.สมเกียรติ เห็นจะเป็นเรื่องการศึกษา ดังที่ในบทสัมภาษณ์ที่กล่าวถึงทุกปัญหาสุดท้ายจะวนกลับมาที่ต้นตอคือเรื่อง การศึกษาทั้งสิ้น รวมทั้งการออกนโยบายเศรษฐกิจ ดร. สมเกียรติ มองว่า หากเรามีการศึกษาที่มีคุณภาพ จะเป็นเครื่องมือตัวเดียวที่จะตอบโจทย์ได้ทั้งการกระจายรายได้และสร้างการเติบโตไปพร้อมกัน
แต่ระบบการศึกษาไทยยังอยู่ในระดับแย่ และปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาใน 2 เรื่องสำคัญ คือ ความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึง และคุณภาพการศึกษาต่ำ แม้ในวันนี้การเข้าถึงการศึกษาจะลดปัญหาไปได้บ้าง ด้วยการศึกษาภาคบังคับ อัตราการเข้าเรียนในการศึกษาขั้นพื้นฐานเริ่มมีเยอะขึ้น แต่ก็ยังมีนักเรียนจำนวนหนึ่งตกหล่นไประหว่างทาง ทำให้เหลือนักเรียนที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมีไม่มาก
ส่วนอีกปัญหาที่ใหญ่กว่าการเข้าถึง คือ คุณภาพการศึกษาต่ำ เห็นได้จากคะแนนสอบวัดผลระดับสากล อย่างคะแนนสอบ PISA ที่เราตกต่ำลงเรื่อยๆ ในขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดีขึ้น และคุณภาพการศึกษาไทยไม่ทำให้นักเรียนมีความพร้อมกับการออกมาอยู่ในโลกความเป็นจริง หากแก้ไขเรื่องนี้ไม่ได้ ก็นำความโชคร้ายมาถึงทั้งประเทศ เพราะจะยากมากที่จะช่วยให้เศรษฐกิจโตได้ และการกระจายรายได้ก็ไม่ดีไปด้วย
เมื่อปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาต่ำ เป็นรากฐานที่ส่งผลกระทบต่อการปรับตัวรับมือกับปัญหาต่างๆหรือสิ่งที่ยังคาดเดาไม่ได้ ดร.สมเกียรติ แสดงความห่วงกังวลถึงเรื่องนี้ จึงนำมาสู่ประโยคปิดท้ายว่า “แล้วคนรุ่นใหม่จะปรับตัวยังไง เพราะนี่คือความโชคร้ายของคนรุ่นคุณ… ขอให้โชคดี”