วันศุกร์, กรกฎาคม 28, 2560

รู้เท่าทันรมต.ช่วยชาวนา



ภาพข่าวนางกอบกาญน์ วัฒนวรางกูร ดำนำที่จ.ยโสธร จากเว็บไซต์มติชนออนไลน์


บทบรรณาธิการ : รู้เท่าทันรัฐมนตรีช่วยชาวนา


โดยบูรพา เล็กล้วนงาม
25/07/2017
THE ISAAN RECORD


การรู้เท่าทันสื่อช่วยให้ผู้บริโภคข่าวสารไม่เชื่อข้อมูลที่ปรากฎตามสื่อโดยอัตโนมัติ ก่อนที่ผู้บริโภคจะเชื่อข้อความไหนควรมีการตั้งคำถามเสียก่อน เช่น ต้องพิจารณาว่าใครคือผู้เขียนข้อความและเขียนขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เทคนิคที่ใช้เพื่อทำให้ข้อมูลน่าสนใจคืออะไร และสิ่งที่ละเว้นในข้อมูลนั้นคืออะไร

เทคนิคดังกล่าวคือสิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับจากการเข้าร่วมสัมมนา “การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (Media, Information and Digital Literacy – MIDL)” ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 20 – 21 ก.ค. 2560 จัดโดยสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) และศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย (Thai Civic Education Center)

ถัดจากการสัมมนาเพียงวันเดียว ข้าพเจ้าก็มีโอกาสทดสอบความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อ

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์มติชนออนไลน์ลงข่าวว่า รัฐมนตรีท่องเที่ยวควง “เจ้เล้ง” นักธุรกิจคนกรุง ดำนาจากเมืองสู่ท้องทุ่ง พร้อมมีภาพประกอบคือภาพของนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมคณะฯ กำลังดำนา

เนื้อข่าวสรุปได้ว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่บ้านคำครตา ต.ดงมะไฟ อ.ทรายมูล จ.ยโสธร นางกอบกาญจน์เป็นประธานเปิดงานและร่วมแข่งขันชวนกันไปทำนาจากเมืองสู่ท้องทุ่งโดยมีนายวีระวัฒน์ วงศ์ว่องไว รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวรายงาน 
 


ผู้เข้าร่วมสัมมนารู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิตอล พร้อมกับวิทยากร ถ่ายภาพหมู่หลังจบการสัมมนา ระหว่างวันที่ 20 – 21 ก.ค. ที่ผ่านมา



นายวีระวัฒน์บอกอีกว่า จ.ยโสธรได้จัดทำยุทธ์ศาสตร์เกษตรอินทรีย์วิถีอีสาน ระหว่างปี 2559 – 2562 เพื่อส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ส่วนนางกอบกาญจน์กล่าวว่า การจัดกิจกรรมมีขึ้นเพื่อให้เกษตรกรมีกำลังใจ ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ และทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง

ถ้าอ่านเนื้อข่าวตามปกติจะเข้าใจว่า ข่าวนี้เป็นเรื่องของการส่งเสริมปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ แต่ถ้านำเทคนิค “การรู้เท่าทันสื่อ” มาเป็นกรอบในการพิจารณาจะทำให้สามารถ “รู้เท่าทันรัฐมนตรีช่วยชาวนา” โดยข้าพเจ้าตั้งสถานะขณะแชร์ข่าวชิ้นดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า

“จริตของคนชั้นสูงและคนชั้นกลาง ดูสิมีชุดชาวนาอีก มีหมวกชาวนาด้วย คนพวกนี้ช่วยชาวนาได้ทุกเรื่อง ยกเว้นทำให้ชาวนายืนได้บนลำแข้งของตัวเอง โดยให้ชาวนาขายข้าวเปลือกราคาเป็นธรรม”

การรู้เท่าทันสื่อว่า การดำนาของรัฐมนตรีและคณะคือจริตของคนชั้นสูงและคนชั้นกลางมีที่มาจากการพิจารณาถึงแสดงออกของรัฐมนตรีและคณะฯ ที่ลงไปดำนาโดยสวมชุดหม้อฮ่อมตัวใหม่ สวมหมวกใบใหม่ และใส่รองเท้าบู้ทสูงถึงระดับต้นขา ทั้งหมดคือการเตรียมตัวอย่างดีในการทำนา แต่ต้องการสัมผัสถึงการทำนาอย่างแท้จริงหรือไม่

การกระทำของรัฐมนตรีและคณะฯ มองมุมหนึ่งเหมือนเป็นความพยายามส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ แต่ถ้ามองอีกมุมจะพบว่าปัญหาใหญ่ที่ชาวนาในภาคอีสานและทุกภูมิภาคประสบในช่วงหลายปีหลังไม่ใช่เรื่องของการเริ่มต้นฤดูกาลทำนำ แต่คือเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากการเก็บเกี่ยว นั่นคือเรื่องราคาข้าวที่ตกต่ำ ฉะนั้นการมาให้กำลังใจชาวนาจะมีประโยชน์อะไร ถ้าไม่ติดตามวัฏจักรการเพาะปลูกข้าวให้ครบวงจร โดยตามไปจนถึงขั้นตอนการขายข้าวเปลือกให้กับลานตากข้าวหรือโรงสี เพื่อรับรู้ว่าชาวนาไม่สามารถกำหนดราคาขายข้าวได้เอง

ข้อเท็จจริงอีกด้านก็คือ ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลที่ข้าวเปลือกมีราคาตกต่ำหรือมีราคาสูงจนถึงเกวียนละสองหมื่นบาท แต่ราคาขายข้าวสารที่ก็ไม่ได้ถูกปรับให้ขึ้นลงตามสัดส่วนของราคาข้าวเปลือก ส่วนต่างตรงนี้คือผลประโยชน์ของใคร

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ข้าพเจ้ามีโอกาสไปรับฟังเรื่องราวของชาวนาที่ตำบลบ้านท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอยู่ในบริเวณภาคอีสานตอนล่างเช่นเดียวกับที่จังหวัดยโสธรที่รัฐมนตรีและคณะลงไปดำนา ชาวนาที่นั่นพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ราคาข้าวเปลือกในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกกว่าสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอย่างยิ่ง จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องนี้



ชาวนา ต.บ้านท่าโพธิ์ศรี อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ขณะเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก โดยชาวนาต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของราคาข้าวเปลือกในอีก 4 เดือนข้างหน้า


ส่วนผลกระทบของการที่ข้าวและพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ เช่น ยางพารา มีราคาตกต่ำ ทำให้สภาพเศรษฐกิจในตัวอำเภอเดชอุดมและพื้นที่ใกล้เคียงซบเซาไปด้วย จากการสอบถามผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายล้วนบอกตรงกันว่า ค้าขายไม่ดีมา 2-3 ปีแล้ว

ชาวนาไม่สามารถกำหนดราคาขายข้าวเปลือกได้เนื่องจากตลาดค้าข้าวถูกควบคุมโดยพ่อค้าข้าวรายใหญ่ไม่กี่ราย ต้นเหตุของความเดือดร้อนของชาวนาอยู่ตรงนี้ใช่หรือไม่ ทำไมนางกอบกาญจน์ที่เป็นรัฐมนตรีของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จึงทำเหมือนไม่รับทราบถึงเรื่องราวดังกล่าว แล้วเลือกมาทำกิจกรรมดำนาในแปลงข้าวเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นการเพาะปลูกข้าวในสัดส่วนที่ต่ำมากคือไม่ถึงร้อยละ 1 ของผลผลิตข้าวทั้งหมดภายในประเทศ

รายงานสถานการณ์การเพาะปลูกข้าว ปี 2559/60 รอบที่ 1 ระบุว่า ในปีเพาะปลูก 2559/60 ประเทศไทยมีการปลูกข้าวรอบที่ 1 ไปแล้วทั้งสิ้น 56.30 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิมากที่สุด 28.33 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 50.32 ของพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวทั้งประเทศไปแล้ว ส่วนข้าวอื่นๆ (ข้าวสีและข้าวอินทรีย์) 0.06 ล้านไร่ ร้อยละ 0.11

ข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมาคือข้อมูลอีกชุดที่ส่งผลให้ผู้บริโภคข่าวสารรู้เท่าทันสื่อ ส่วนข่าวนางกอบกาญจน์จากเว็บไซต์มติชนสามารถสังเคราะห์ได้ว่า เป็นการนำเสนอข่าวแค่แง่มุมเดียวของนักข่าวโดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลข้อมูล (รู้แค่ไหนก็เขียนแค่นั้น) ซึ่งข่าวทำนองนี้แทบไม่แตกต่างอะไรกับข่าวผลงานของรัฐมนตรีและข้าราชการซึ่งเป็นข่าวในแง่บวกที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในสื่อมวลชนกระแสหลักของไทย

ส่วนผลกระทบต่อผู้บริโภคข่าวสารทำนองนี้บ่อยๆ ก็จะทำให้เชื่อว่าข่าวนี้คือความจริงทั้งหมด โดยไม่ตระหนักว่ามีแง่มุมอื่นของการเพาะปลูกข้าวอีก

กรณีช่วยเหลือชาวนาหากพิจารณาให้กว้างออกไป จะพบว่ามีข่าวอีกประเด็นที่อยู่ในกระแสข่าว เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดตัดสินคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ กรณีมีการยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยว่า ละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ในวันที่ 25 ส.ค.นี้

สถานะของคดีรับจำนำข้าวไม่ใช่คดีความธรรมดา แต่น่าจะเป็นคดีที่มีผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ทางการเมือง สังเกตได้จากการที่พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคณะรัฐประหารมักกล่าวโจมตีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ซึ่งถ้าเป็นไปตามปกติแล้วฝ่ายบริหารจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคดีความที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล เนื่องจากอาจจะเข้าข่ายฝ่ายบริหารแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของศาล แต่สำหรับคดีจำนำข้าวกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

อีกทั้ง แม้จะมีความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จริง แต่ก็เป็นความเสียหายที่เกิดจากการออกนโยบาย จึงเป็นแค่ความเสียหายเชิงนโยบายที่ไม่เข้าข่ายความผิดทางอาญาแต่เป็นความรับผิดชอบทางการเมือง

ฉะนั้น จึงไม่สมควรดำเนินคดีนางสาวยิ่งลักษณ์ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลตั้งแต่ขั้นตอนแรก

แม้จะยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงว่า คดีรับจำนำข้าวคือส่วนหนึ่งของข้อสงสัยว่าศาลและรัฐบาลคสช.ทำงานสอดคล้องกันเพื่อพิทักษ์โครงสร้างทางการเมืองในระบอบรัฐราชการ แต่การแสดงออกเมื่อฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีที่ผ่านมาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อกรณีข้าวเปลือกราคาตกต่ำ โดยโยนความผิดให้นักการเมืองและโรงสี ว่ากำหนดราคาข้าวให้ต่ำลงเพื่อหวังให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาล ก็ทำให้ผู้บริโภคข่าวสารรู้เท่าทันสื่อตัดสินใจได้ว่านายกรัฐมนตรีมีความสามารถและมีความจริงใจเพียงใดต่อการช่วยเหลือชาวนา หรือเห็นว่า การช่วยชาวนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อจัดการกับนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเหมือนกับกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องมีความผิดเพราะลงนามให้ภรรยาประมูลที่ดินรัชดา เมื่อปี 2550

เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ กรณีรมต.การท่องเที่ยวฯ ดำนา ก็จะทราบว่า ภาพข่าวที่เกิดขึ้นที่จ.ยโสธรคือการช่วยชาวนาหรือการสร้างภาพเท่านั้นกันแน่