ข้อเสนอปฏิรูป: ตัดแปะ-ลอกเลียน จากหน่วยงานอื่นที่เคยเสนอหรือดำเนินการไปแล้ว
สิ่งสำคัญของการปฏิรูปที่คาดหวังก็คือ ข้อเสนอดังกล่าวต้องเป็นข้อเสนอที่ใหม่ หรือไม่ก็ต้องเป็นข้อเสนอที่ลึกซึ้งหรือสร้างสรรค์กว่าข้อเสนอที่มีอยู่ แต่ทว่า ข้อเสนอของ สปท. บางส่วน กลับเป็นเรื่องที่มีหน่วยงานราชการ หรือองค์กรต่างๆ ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว บางส่วน สปท. เพียงหยิบยกเนื้อหาบางส่วนมาจากรายงานการปฏิรูปของสปช. ในลักษณะ ‘ลอกข้อสอบ’ เลยเสียด้วยซ้ำ โดยสามารถแบ่งประเภทของการลอกออกเป็น 3 ประเภทได้แก่
หนึ่ง "ลอกข้อสอบ" จากสภาปฏิรูปอื่นๆ อาทิ รายงานของสปท. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่อง ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลของตำรวจจากการแทรกแซงทางการเมือง ที่เสนอให้ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เสียใหม่ โดยย้ายอำนาจแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจากเดิมที่เป็นของ ก.ต.ช. ให้ไปเป็นของ ก.ตร. แทน และในรายงานของ สปท. ก็ได้เสนอองค์ประกอบของ ก.ตร. ใหม่ 16 คนกับ ก.ต.ช. ใหม่ 11 คน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวมีข้อความเหมือนรายงานของ สปช. วาระที่ 6: การปฏิรูปตำรวจ แทบจะทุกประการ
ไม่เพียงในแง่เนื้อหา แต่ในแง่รูปแบบการเขียนรายงานก็เห็นได้ชัดว่า การลำดับเนื้อหาและการให้เหตุผลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน บางย่อหน้าของรายงานทั้งสองฉบับเขียนเหมือนกันทุกตัวอักษร แทบจะเรียกได้ว่า คนที่เขียนรายงานให้ สปท. นำรายงานเก่าของ สปช. มาเป็นร่าง แล้วตัดทอนกับแต่งเติมถ้อยคำเล็กๆ น้อยๆ เข้าไปบ้าง รวมทั้งการจัดหน้าเอกสารใหม่ เช่น การย่อหน้า รูปแบบการใช้หมายเลขหัวข้อ ขนาดตัวอักษร เพื่อไม่ให้ดูเหมือนกันมากจนเกินไป
สอง "ลอกข้อสอบ" จากฎหมายที่ผ่านไปก่อนแล้ว อาทิ รายงานของ สปท. เรื่อง ระบบงานบริการประชาชนในการรับแจ้งความและสอบสวน ที่เสนอให้นำระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว (Electronic Monitoring : EM) มาใช้ ทั้งที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านกฎหมาย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) เพื่อเปิดช่องให้สามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวได้มาก่อนหน้าที่ สปท. จะมีข้อเสนอดังกล่าวออกมาเสียอีก
สาม "ลอกข้อสอบ" จากผลงานที่หน่วยงานอื่นทำอยู่ก่อนแล้ว อาทิ รายงานของ สปท. เรื่อง ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ ที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อ 22 มกราคม 2559 หน้า 8 เสนอให้กำหนดแนวทางหรือสร้างช่องทางการรับการแจ้งความ แจ้งเบาะแส และให้คำปรึกษาคดีความผิดทางเทคโนโลยีทางออนไลนเพื่อเอื้อประโยชน์และปกป้องผู้เสียหาย ซึ่งเมื่อศึกษาดูก็จะพบว่า ข้อเสนอนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) หน่วยงานของตำรวจที่รับผิดชอบคดีความผิดบนโลกออนไลน์ เปิดช่องทางบนเว็บไซต์ของหน่วยงาน ให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสและแจ้งความผ่านทางออนไลน์ได้ ตั้งแต่ปี 2556 แล้ว
ข้อเสนอปฏิรูป: ถูกสังคมคัดค้าน พาประเทศถอยหลัง-ส่อขัดรัฐธรรมนูญ
นอกจากข้อเสนอของสปท. จะเป็นนามธรรมและซ้ำกับข้อเสนอของหน่วยงานอื่น ประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจังคือ บางข้อเสนอกำลังจะพาประเทศถอยหลังและบางข้อเสนอก็อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เพิ่งบังคับใช้กัน อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การเสนอ ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... หรือที่เรียกกันสั้นๆ ในชื่อ ร่างพ.ร.บ.ตีทะเบียนสื่อ โดยกฎหมายดังกล่าว ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร ว่า เปิดทางให้อำนาจรัฐแทรกแซงการรายงานข่าวของสื่อ และมีเจตนาในการปิดปากไม่ให้นำเสนอข้อมูลเพื่อตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐที่ไม่ชอบมาพากล ผ่านการขึ้นทะเบียนกับองค์กรที่รัฐจัดตั้ง คือ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจพิจารณาออกหรือเพิกถอนใบอนุญาตนักข่าวได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยังเคยทำหนังสือ เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ 36 ฉบับ เพราะ สปท. เกรงว่า หากดำเนินไปตามขั้นตอนปกติ กฎหมายจะออกมาบังคับใช้ไม่ทันภายในปี 2560 เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีภาระงานล้นมือ
จากข้อเสนอดังกล่าวของ สปท. ก็ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง โดยคราวนี้มาจากฝั่งนักการเมืองที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ว่า การใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายปฏิรูปนั้น ไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาชน และอาจขัดต่อเจตนาของรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงเป็นการออกกฎหมายโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
ที่มา iLaw
สแกน สปท. มีงบปฏิรูปพันล้าน แต่ได้ข้อเสนอซ้ำ นามธรรม แถมถูกสังคมคัดค้าน
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4577
ooo
#VoiceNews 'อลงกรณ์' ชี้ต้องปฏิรูปให้คุ้มกับที่สูญ 'ประชาธิปไตย'https://t.co/z0jzVuRgTA pic.twitter.com/iKytm32A0t— VoiceTV21 (@Voice_TV) July 31, 2017
...
เรื่องเกี่ยวข้อง...
'อลงกรณ์' ชี้ต้องปฏิรูปให้คุ้มกับที่สูญ 'ประชาธิปไตย'
(http://news.voicetv.co.th/thailand/511534.html)