วันเสาร์, กรกฎาคม 22, 2560

“คสช.”สั่ง 4 กองทัพภาคส่งทหารแจงปชช.ก่อนชี้ชะตาคดี “ปู" (มันพูดเหมือนรู้) + ทำไมศาลฎีกาฯนัดพิพากษาคดีข้าว ‘ปู-ภูมิ-บุญทรง’พร้อมกัน





“คสช.”สั่ง 4 กองทัพภาคส่งทหารแจงปชช.ก่อนชี้ชะตาคดี “ปู"


ที่มา คมชัดลึก

“คสช.”สั่ง 4 กองทัพภาคส่งทหารแจงปชช.ก่อนศาลชี้ชะตาคดี “ปู” วอนอย่าเดินทางมากทม. ให้ติดตามข่าวอยู่กับบ้าน มอบ “ผบ.ทบ.”เกาะติดทุกกลุ่ม

เมื่อวันที่ 22ก.ค.แหล่งข่าวจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ระบุถึงการเตรียมรับมือมวลชนที่จะเดินทางมาให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายหลังศาลเตรียมตัดสินคดีโครงการรับจำนำข้าวในวันที่ 25ส.ค.นี้ว่า จากการประเมินสถานการณ์ของคสช.ในช่วง 2- 3วันที่ผ่านมา รวมถึงสถานการณ์หน้าศาลของเมื่อวันที่ 21ก.ค.จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ดูแลสถานการณ์ให้เกิดความสงบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกให้กับมวลชนที่เดินทางมาให้กำลังใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งไม่ได้กระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ของศาล โดยเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ทำหน้าที่ได้อย่างดียิ่ง ส่วนมวลชนก็เคลื่อนไหวอยู่ภายใต้ขอบเขตและบทบาทของกฎหมาย และไม่มีสิ่งใดบอกเหตุว่าจะเกิดความไม่เรียบร้อยและวุ่นวาย

แหล่งข่าวคสช.กล่าวต่อว่า สำหรับในวันที่ 25สิงหาคมนี้ ซึ่งจะเป็นวันตัดสินของศาลเชื่อว่าจะมีประชาชนเป็นจำนวนมากให้ความสนใจ ซึ่งก็ได้มอบหมายให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ที่มีหน้าที่ดูแลพื้นที่ได้ดูแลความเรียบร้อยตั้งแต่การเดินทางมาของมวลชน พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจการรับรู้ ให้ทุกคนอยู่ในความเรียบร้อยคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆทั้งสิ้น

“ในช่วงระยะเวลาต่อจากนี้ไปจนถึงวันที่จะมีการตัดสินคดีโครงการรับจำนำข้าว ทางกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.)จะจัดเจ้าหน้าที่ทหาร ลงไปประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ชี้แจงกับประชาชนในทุกพื้นที่ เพื่อขอความร่วมมือให้ติดตามสถานการณ์อยู่ที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังกทม.เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนในการทำหน้าที่ของศาล รวมถึงความคับคั่งในเรื่องของการจราจร พร้อมสั่งการให้แม่ทัพภาคทั้ง 4กองทัพภาค ได้กำชับกกล.รส.ทุกพื้นที่ได้เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของทุกกลุ่ม เพื่อให้สถานการณ์บ้านเมือง เกิดความสงบเรียบร้อยและหากมีกิจกรรมใดๆที่จะส่งผลให้มีการขนมวลชนเข้ามาในพื้นที่กทม.กกล.รส.ต้องเข้าไปพบปะพูดคุยสร้างความเข้าใจ ขอร้องให้ยึดกระบวนการยุติธรรม ไม่ให้ใช้มวลชนมากดดัน หรือใช้คนหมู่มากปฏิบัติการให้อยู่เหนือกฎหมาย ส่วนจำนวนมวลชนที่จะเข้ามาในวันที่ 25ส.ค.ยังไม่สามารถประเมินได้ ต้องรอให้ใกล้ถึงวันที่ 25ส.ค.ก่อนถึงจะรู้ความเคลื่อนไหว"แหล่งข่าว คสช.กล่าว

แหล่งข่าวคสช.ยังกล่าวยืนยันอีกว่า การส่งกำลังทหารลงพื้นที่ไป ขอความร่วมมือกับมวลชนที่จะเดินทางมาให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ในวันที่ 25ส.ค.นั้ นั้นไม่ใช่การสกัดกั้น แต่เป็นการขอความร่วมมือ ซึ่งจะเดินทาง ไปพบผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น เพื่อให้ชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจ ว่าไม่ว่าจะอยู่ในช่วงการตัดสินคดี หรือการสืบพยานก็ขอความร่วมมือให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบไม่เคลื่อนไหวหรือขนมวลชน จนทำให้เกิดความวุ่นวาย

แหล่งข่าวคสช.ยังเรียกร้องให้ทุกกลุ่มทุกฝ่าย ได้เคารพ ในคำตัดสินของศาล ไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไร ทุกคนก็ต้องเคารพและยึดถือตามนั้น เนื่องจากทุกคนอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายเดียวกัน ไม่ควรกลัวหรือกังวลในสิ่งที่ถูกต้อง ใครผิดก็ว่าไปตามผิดหากไม่ผิดก็ไม่ถูกลงโทษ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาลต้องเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมของประเทศ เมื่อมีกฎหมาย ทุกคนก็อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็บังคับใช้กฎหมายไปในฐานที่ถูกต้อง หากเชื่อมั่นว่ามีความบริสุทธิ์ก็ไม่ต้องเกรงกลัว โดยพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาคสช.ได้เน้นย้ำ ให้ กกล.รส.ติดตามความเคลื่อนไหวของทุกกลุ่มทุกฝ่าย ในช่วงระยะเวลา 1เดือนจนกว่าจะถึงวันตัดสินของศาล

ooo

ล้วงเหตุผลไฉนศาลฎีกาฯนัดพิพากษาคดีข้าว ‘ปู-ภูมิ-บุญทรง’พร้อมกัน-ป้องจำเลยชิงหนี?






“…หากศาลฎีกาฯ อ่านคดีใดคดีหนึ่งก่อน อาจจะทำให้อีกฝ่าย ‘รู้ไต๋’ จับทิศทางได้ว่า หากคำพิพากษาคดีนี้ออกมาเช่นนี้ คดีตัวเองก็น่าจะเหมือนกัน ทำให้อาจมีจำเลยบางราย คิดหาทาง ‘หลบหนี’ ไปได้นั่นเอง แต่ถ้าศาลฎีกาฯ นัดอ่านคำพิพากษาพร้อมกันเช่นนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีจำเลย ‘หัวใส’ บางราย เห็นแนวโน้มคดีว่าจะเป็นอย่างไร แล้วชิงหลบหนีไปเสียก่อน…”

ที่มา สำนักข่าวอิศรา
22 กรกฎาคม 2560

หลายคนอาจจะทราบไปแล้วว่า ในเดือน ส.ค. 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดพิพากษาคดีสำคัญที่ต้องถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมือง 3 คดี

วันที่ 2 ส.ค. 2560 ศาลฎีกาฯนัดพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เป็นจำเลย กรณีสั่งการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อปี 2551 (อ่านประกอบ : ‘สมชาย’แถลงปิดคดีปัดสั่งสลายชุมนุม เผย‘พัชรวาท-สุชาติ’ออกหน้าดูเอง–พิพากษา 2 ส.ค.)

วันที่ 25 ส.ค. 2560 ศาลฎีกาฯนัดพิพากษาคดีสำคัญ 2 คดีพร้อมกัน

คดีแรก อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว

คดีที่สอง อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ พร้อมด้วยอดีตข้าราชการระดับสูงในกรมการค้าต่างประเทศ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร กับพวก เป็นจำเลยที่ 1-21 กรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบ

อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าโฟกัสอย่างมากคือ การนัดฟังคำพิพากษาคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และคดีระบายข้าวแบบจีทูจี ทำไมศาลฎีกาฯถึงต้องนัดฟังพร้อมกันในวันเดียว และเวลาเดียวกันคือ 25 ส.ค. 2560 เวลา 09.00 น. (อ่านประกอบ : ไม่ส่งศาล รธน.ตีความ!พิพากษาคดีข้าว‘ยิ่งลักษณ์’-พร้อมจีทูจี'บุญทรง' 25 ส.ค.นี้)

ผู้คร่ำหวอดในแวดวงกฎหมายหลายราย ตั้งข้อสังเกตผ่านสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า หากศาลฎีกาฯ อ่านคดีใดคดีหนึ่งก่อน อาจจะทำให้อีกฝ่าย ‘รู้ไต๋’ จับทิศทางได้ว่า หากคำพิพากษาคดีนี้ออกมาเช่นนี้ คดีตัวเองก็น่าจะเหมือนกัน ทำให้อาจมีจำเลยบางราย คิดหาทาง ‘หลบหนี’ ไปได้นั่นเอง

แต่ถ้าศาลฎีกาฯ นัดอ่านคำพิพากษาพร้อมกันเช่นนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีจำเลย ‘หัวใส’ บางราย เห็นแนวโน้มคดีว่าจะเป็นอย่างไร แล้วชิงหลบหนีไปเสียก่อน

เพราะต้องไม่ลืมว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกฟ้องในฐานความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ปี 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาท-2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนคดีระบายข้าวแบบจีทูจี จำเลยทั้งหมด 21 ราย ถูกฟ้องฐานร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 9, 10, 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4, 123 และ 123/1

โดยโทษที่รุนแรงที่สุดถึงขั้น ‘จำคุกตลอดชีวิต’ คือ มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ฮั้วฯ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ มีความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท

ด้วยโทษสูงสุดที่ ‘หนักหนาสาหัส’ ขนาดนี้ จึงอาจทำให้มีหลายฝ่ายวิเคราะห์กันว่าอาจมีจำเลย ‘บางราย’ อาศัยโอกาสหลบหนีก่อนมีคำพิพากษาหรือไม่ ?

นั่นจึงอาจเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมศาลฎีกาฯ จึงนัดพิพากษาทั้ง 2 คดีพร้อมกัน !

ดังนั้นสิ่งที่ต้องรอจับตาต่อจากนี้ว่า จะมีกลเม็ดลูกเล่นอะไรจากฝ่ายจำเลยทั้ง 2 คดีอีกหรือไม่ หรือว่าอาจมีจำเลยบางรายทำเรื่องขอเดินทางไปต่างประเทศในช่วงนี้หรือเปล่า

และจะมีนักการเมืองระดับชาติรายไหน เดินทางซ้ำรอย ‘รุ่นพี่’ ในอดีต เช่น นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (หลบหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ คดีที่ดินรัชดา) นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย (หลบหนีคำพิพากษา คดีทุจริตก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน) และนายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย (หลบหนีคำพิพากษา คดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง) อีกหรือไม่

ท่าทีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นายทหารระดับสูงบางราย ยืนยันมาตลอดว่า จะไม่ปล่อยให้ใครหลบหนี หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ?

คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด !