ชีพ จุลมนต์ ว่าที่ประธานศาลฎีกาคนต่อไป |
การไต่สวนพยานจำเลยคดีจำนำข้าวที่ศาลฏีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง
เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ซึ่งมีนายชีพ จุลมนต์ ว่าที่ประธานศาลฎีกาคนต่อไปเป็นเจ้าของคดีนั้น
มีรายละเอียดควรแก่การย้ำจำ เผื่อว่าจะใช้เป็นบรรทัดฐานเทียบความกับคำตัดสินที่จะออกมา
ไม่ช้าก็เร็วก่อนสิ้นปี หรือก่อนจะสิ้นปีงบประมาณในวันที่ ๓๐ กันยายน เพื่อไม่ให้คดีค้างคา
ในเมื่อนายชีพยังมีคดีการเมืองที่เอาเรื่องต่อรัฐบาลในเครือข่ายทักษิณ อยู่อีกสองสามคดี ดังที่ รุ่งโรจน์
วรรณศูทร เอ่ยถึงไว้
“นายชีพ ยังเป็นองค์คณะในคดีระบายข้าวแบบจีทูจี
ที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ที่ ๑ และนายบุญทรง
เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ที่ ๒ กับพวก อีก ๑๙ ราย ร่วมกันเป็นจำเลยรวม ๒๑ ราย
ฐานทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ที่เหลือการไต่สวนพยานจำเลยอีกสองนัดเช่นเดียวกับคดียิ่งลักษณ์เช่นกัน
รวมทั้งยังเป็นองค์คณะในคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ
๗ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่มีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พี่เขย น.ส.ยิ่งลักษณ์
เป็นจำเลย ที่ศาลฎีกาฯ นัดอ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าวในวันที่ ๒สิงหาคมนี้ด้วย”
“นายสุรชัย
ศรีสารคาม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก พยานปากแรกเบิกความสรุปว่า
การรับจำนำข้าวเป็นกฎเกณฑ์จากส่วนกลาง และการดำเนินโครงการก็อยู่ในเกณฑ์ทั้งหมด
ซึ่งจังหวัดตนก็ผ่านการประเมินจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
โดยไม่มีปัญหาการรับจำนำข้าวที่ทำให้ภาพรวมเสียหาย...
โดยการขึ้นทะเบียนชาวนามีประชาคมทำหน้าที่ตรวจสอบ ว่าเป็นเกษตรกรทำนาจริงหรือไม่
มีพื้นที่นาเท่าไหร่ ส่วนการรับจำนำมีผู้ตรวจสอบและออกใบประทวน
จ่ายเงินตรงให้เกษตรกร
การเก็บข้าวในโกดังยังมีเจ้าหน้าที่ถือกุญแจคนละดอกไม่ให้มีการสับเปลี่ยนข้าว
หากมีการสวมสิทธิสามารถตรวจสอบพบได้ง่าย
การรับจำนำข้าวเป็นการชุบชีวิตชาวนาให้มีเงินจับจ่าย
เศรษฐกิจฐานรากหมุนเวียน มีชีวิตดีขึ้น”
สำคัญกว่านั้นคำให้การของข้าราชการประจำผู้ปฏิบัติ ที่ไม่มีส่วนผูกพันกับการออกนโยบายผู้นี้
ยังได้สำทับความรู้สึกของผู้สนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ว่า คสช. พยายามเค้นคอเพื่อเอาผิดผู้ต้องหาให้จงได้
ดังที่
“เมื่ออัยการถามถึงกรณีที่คณะกรรมการชุด มล.ปนัดดา ดิศกุล
ตรวจสอบข้าวแล้วมีผลการประเมินว่าข้าวเสื่อม นายสุรชัยกล่าวว่า มล.ปนัดดากำหนดมาตรฐานขึ้นมาเอง
แทนที่จะใช้มาตรฐานกระทรวงพาณิชย์
ซึ่งมีข้อสงสัยถึงการสุ่มตัวอย่างที่ใช้กลุ่มเล็กมาประเมินภาพรวม
ผู้ตรวจสอบก็ไม่มีความชำนาญเพราะใช้ทหารตรวจ
และยังมีการนำข้าวดีไปประมูลเป็นอาหารสัตว์ น่าจะมีการตรวจสอบใหม่ให้ชัดเจนต่อไป
เพราะต่างจากผลการประเมินของ ก.พ.ร. ที่เชื่อถือได้”
นอกเหนือจากนั้น คำให้การของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล
อดีตรองนายกฯ และ รมว. พาณิชย์
เมื่ออัยการโจทก์กล่าวถึงการรับจำนำข้าวราคาสูงกว่าตลาด เหตุใดจึงไม่ปรับให้สมดุล
เขาตอบว่า
“โครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลคิดขึ้นมาโดยมีการศึกษาจากหลายกลุ่มแล้ว
ต้องกำหนดราคาให้เหมาะสม ที่ผ่านมาชาวนามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ดี รัฐบาลเก่าๆ
เคยตั้งราคารับจำนำต่ำกว่าราคาตลาด ไม่ได้ช่วยชาวนา
เราจึงตั้งให้ราคาเหมาะสมคุ้มทุนมากขึ้น โดยตั้งราคาสูงกว่า”
ส่วนกรณีที่เป็นข้อกล่าวหารัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ยอมฟังข้อแนะนำของสำนักงาน
ปปช. และ สตง. ให้ระงับโครงการรับจำนำข้าวนั้น นายนิวัฒน์ธำรงชี้แจงว่า “การระงับยับยั้งโครงการต้องทำในกรณีที่จำเป็น
(ในเมื่อ) ทุกฝ่ายสนับสนุนโครงการมาโดยตลอด ผลสำรวจต่างๆ
บอกว่าโครงการดี มีประโยชน์ต่อชาวนาและเศรษฐกิจของประเทศ ไม่มีเหตุผลสั่งยกเลิก
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ยังบอกว่าให้ดำเนินต่อถึงปี
๒๕๕๘”
เป็นข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลยที่คณะผู้พิพากษาน่าที่จะให้คุณค่าทางข้อมูล
มากกว่าความรู้สึกแห่งแวดวงตุลาการที่ดูเหมือนว่าจะร้อยหวายอยู่กับค่านิยมชนชั้น ‘คนดี’
มาก่อน ‘คนเก่ง’ จึงมองเห็นนักการเมืองในฝ่ายระบอบทักษิณและเครือข่ายชินวัตรในทางร้ายไว้ก่อน
ขณะที่พรรคฟากตรงข้ามละก็ อะไรดีหมด
อีกไม่นานเกินรอก็จะได้เห็นผลงานเจ้าของคดี
อันจะเป็นมาตรวัดท่าทีของประธานศาลฎีกาคนต่อไป ว่าจะเปิดทางให้คนเก่งได้เผยอหน้ามาเทียบข้างคนดีบ้างไหม