ข้อถกเถียงที่สำคัญของสังคมไทยในปัจจุบันประเด็นหนึ่งก็คือ
“การเลือกตั้ง” ซึ่งมีแนวคิดแตกต่างกันออกไปเป็น 2 ขั้วใหญ่ๆ คือ
แนวคิดแรกเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญจึงจำเป็นที่จะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้มีการเลือกตั้งให้ได้เพื่อให้เห็นว่าบ้านเมืองนั้นเป็นประชาธิปไตย
แต่แนวคิดที่สองเห็นว่าระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมาทำให้ได้กลุ่มการเมืองที่เข้ามาทุจริตคอร์รัปชันหรือเผด็จการรัฐสภา
จึงจำเป็นต้องควบคุมการเจริญเติบโตของพรรคการเมืองหรือนักการเมืองให้มากที่สุด โดยเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่สิ่งจำเป็นสูงสุด
จะมีเมื่อไหร่ก็ได้
ทั้งสองแนวคิดนั้นผมเห็นว่าต่างก็ผิดและถูกทั้งคู่
ซึ่งจะสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง
องค์ประกอบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
1. การเลือกตั้ง (election) แน่นอนว่าในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative
democracy) การเลือกตั้งย่อมเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นกระบวนการคัดสรรตัวบุคคลเพื่อไปทำหน้าที่แทนประชาชนในสถาบันนิติบัญญัติและบริหาร
รวมถึงตุลาการด้วยในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งการเลือกตั้งในระบอบธิปไตยนั้นจะต้องประกอบไปด้วยหลักการดังต่อไปนี้
1.1 เป็นการทั่วไป (in
general)
บุคคลที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะต้องเป็นบุคคลที่อายุเข้าเกณฑ์ประชาชน
ตามที่กฎหมายกำหนดด้วยเหตุผลทางวุฒิภาวะ เช่น 16,18 หรือ 20 ปี เป็นต้น
โดยต้องไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นคนชนชั้นใด ไพร่หรือผู้ดี
ไม่ว่าจะจบการศึกษาในระดับใด เพศใด หรือมีฐานะทางการเงินหรือไม่
1.2 เป็นอิสระ (free
voting)
ในการเลือกตั้งนั้นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะเลือกตัวแทนของตนโดยไม่ได้ถูกบังคับ ขู่เข็ญ กดดัน
ชักจูงหรือได้รับอิทธิพลใดๆทั้งสิ้น
1.3 มีระยะเวลา (periodic
election)
การเลือกตั้งจะต้องมีการกำหนดว่าการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะกำหนดระยะเวลาไว้เท่าใด
โดยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศเป็นการแน่นอน เช่น ส.ส. 4 ปี (อเมริกา 2 ปี, อังกฤษ 5 ปี) ส.ว. 6 ปี เป็นต้น
หรือเลือกตั้งเมื่อมีการยุบสภาในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (parliamentary
system) (ในระบบประธานาธิบดี (presidential
system) ไม่มีการยุบสภาฯ)
1.4 การลงคะแนนลับ
(secret voting)
เพื่อให้ผู้ที่เลือกตั้งสามารถเลือกบุคคลที่ต้องการเข้าไปเป็นตัวแทนของตนได้อย่างเป็นอิสระ
ไม่ต้องเกรงใจใครหรือไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของใคร
ในการเลือกตั้งทุกครั้งจึงกำหนดให้แต่ละคนสามารถเข้าไปในคูหาเลือกตั้งได้เพียงครั้งละ
1 คน ยกเว้นบางประเทศที่กฎหมายอนุญาตไว้เป็นข้อยกเว้นเช่น คนพิการหรือคนแก่
เป็นต้น และไม่จำเป็นจะต้องบอกให้คนอื่นทราบว่าตัวเองเลือกใคร
หลักการลงคะแนนลับนี้ถือว่าสำคัญมากเพราะแม้แต่ศาลเองก็ไม่สามารถจะสั่งให้เราให้การว่าในการเลือกตั้งนั้นเราลงคะแนนให้แก่ผู้ใด
1.5 หนึ่งคนหนึ่งเสียง
(one man one vote)
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนมีสิทธิในการออกเสียงได้เพียง
1 เสียงเท่ากัน ไม่ว่าจะมีฐานะอะไร หรือมีบทบาทสำคัญทางการเมืองอย่างไร
ก็มีสิทธิได้เพียง 1 เสียงเท่านั้น
1.6 บริสุทธิ์ยุติธรรม
(fair election)
หลักการนี้อาจถือได้ว่าเป็นหลักที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้
เพราะในหลัก 5
ข้อข้างต้นอาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในบริบทของแต่ละประเทศ
แต่ถึงแม้ว่าจะมีครบทั้ง 5
หลักข้างต้นแล้วหากขาดเสียซึ่งหลักแห่งความบริสุทธิ์ยุติธรรมแล้วการเลือกตั้งนั้นก็จะเสียไป
อย่าลืมว่าในประเทศเผด็จการทั้งหลายแม้จะใช้ชื่อว่าประชาธิปไตยก็ตาม
เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ฯลฯ ต่างก็มีการเลือกตั้งเช่นกัน
แต่การเลือกตั้งในประเทศเผด็จการทั้งหลายนั้นเป็น “การบังคับเลือก”
(จะเอาหรือไม่เอา)
ที่เรียกได้ว่าเป็นการเลือกตั้งแต่เพียงรูปแบบเท่านั้น
2. การตรวจสอบ (monitor)
การตรวจสอบเป็นวิธีการที่พลเมืองจะติดตามการประพฤติปฏิบัติของตัวแทนที่ตนเองเลือกเข้าไปทำหน้าที่แทนตนว่าเป็นไปตามที่ได้ให้นโยบายหรือหาเสียงไว้หรือไม่
เป็นไปอย่างถูกต้องตามบทบาทหน้าที่ของตนหรือไม่ ซึ่งในประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริงจะไม่มีสิ่งนี้
แต่จะมีสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย 4 วินาที”
ซึ่งหมายถึงการหย่อนบัตรเลือกตั้งแล้วก็แล้วกันไป
3. การถอดถอน (recall)
เป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่เมื่อตรวจสอบตามข้อ 2
แล้วยังสามารถมีสิทธิออกเสียงหรือถอดถอนบุคคลต่างๆ บนหลักการพื้นฐานที่ว่า “เมื่อเลือกตั้งเข้ามาได้ก็ย่อมที่จะสามารถถอดถอนได้”
เช่นกันนั่นเอง
4. การออกเสียงประชามติ (referendum and plebiscite) การออกเสียงประชามตินั้นถือได้ว่าเป็นประชาธิปไตยทางตรง
(direct democracy) อย่างหนึ่ง โดยแบ่งการออกเสียงประชามติออกเป็น
2 ประเภท คือ
referendum
ซึ่งหมายถึงอำนาจที่ประชาชนมีเพื่อใช้ตัดสินปัญหาต่างๆ ของรัฐ ตามความต้องการหรือเจตจำนงของตน
ส่วนใหญ่ในทางปฏิบัติมักเกี่ยวข้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ยกร่างขึ้นใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติมในตอนใดตอนหนึ่ง
หรือการตัดสินใจที่สำคัญๆ ที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เช่น การแยกประเทศ เป็นต้น
ส่วน plebiscite
ในทางปฏิบัติเมื่อรัฐบาลมีปัญหาในระดับนโยบายที่ไม่สามารถตัดสินใจเองได้
เนื่องจากเมื่อตัดสินใจไปแล้วอาจเกิดผลกระทบรุนแรงต่อสังคม เช่น
การเปิดบ่อนการพนันโดยเสรี การที่จะให้กัญชาหรือการประกอบอาชีพขายบริการทางเพศเป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายอาญา
(decriminalization) เป็นต้น แต่ในระยะหลังๆ นี้สื่อและคนทั่วไปมักใช้รวมกันเป็น
referendum ไปเสียเกือบหมด
5. ประชาชนมีสิทธิเสนอร่างกฎหมาย
(initiative)
หากฝ่ายนิติบัญญัติไม่ทำตามหรือไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเหมาะสม
ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ตามมาตรา 133
กำหนดว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,000 คนขึ้นไป สามารถเสนอ
ร่างพ.ร.บ.ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย กับหมวด 5 หน้าที่ของรัฐได้
จากที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถกล่าวได้ว่า
การเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่จะขาดเสียมิได้ แต่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้องเป็นการทั่วไป
เป็นอิสระ มีระยะเวลา เป็นการลงคะแนนลับ หนึ่งคนหนึ่งเสียง
และที่สำคัญที่สุดคือบริสุทธิ์ยุติธรรม
ซึ่งมิได้หมายความว่าเมื่อมีการเลือกตั้งก็เป็นประชาธิปไตยแล้ว
แต่จะต้องประกอบไปด้วยการตรวจสอบ การถอดถอน การออกเสียงประชามติ และประชาชนมีสิทธิเสนอร่างกฎหมายได้ด้วย
จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง
เข้าใจตรงกันนะครับ
----------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่
5 กรกฎาคม 2560