วันเสาร์, กรกฎาคม 08, 2560

“เธอฉลาดขณะที่บิดามีแต่คนกังขา มีเสน่ห์ขณะที่พ่อเหมือนหมูป่า มีมนุษยธรรมขณะที่ทรั้มพ์แล้งน้ำใจ”

ลั่นทวิตเตอร์วันนี้ อิแวนก้า ทรั้มพ์ เป็น ผู้นำโลกเสรีคนใหม่ หลังจากที่เธอเข้าไปนั่งคั่นระหว่างสีจินเปง ประธานาธิบดีจีน และเทเรซา เมย์ นายกฯ อังกฤษ ในการประชุมกับกลุ่ม จี ๒๐ ที่ฮัมบูร์ก เยอรมนี

ดิอินดีเพ็นเด๊นซ์ หนังสือพิมพ์อังกฤษพาดหัวข่าวเมื่อเช้าวันที่ ๘ กรกฎาคม “ดอแนลด์ ทรั้มพ์ ทำตัวเหมือนผู้เผด็จการด้วยการปล่อยให้ลูกสาวซึ่งเป็นสาวสังคมที่คุณสมบัติยังไม่ถึงขั้น เข้าไปนั่งแทนเขาในการประชุม จี ๒๐”

ดิอินดีเพ็นเด๊นซ์อ้างว่าปฏิกิริยาของผู้คนเริ่มจากโกรธขึ้งไปถึงงงงันแล้วกลับไปโกรธอีกครั้ง

“ทำไมอิแวนก้าถึงต้องเข้าไปนั่งแทนพ่อด้วยล่ะ” ชาร์ล เอ็ม โบลว์ นักเขียนบทวิจารณ์ประจำหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทมส์ใส่หนักบนทวิตเตอร์ “เธอมีคุณสมบัติอะไร ใครโหวตให้เธอเข้าไป”

นักเขียนนิวยอร์คไทมส์อีกคน นิโคลัส คริสตอฟ ตอกว่าการที่สหรัฐเอาลูกสาวประธานาธิบดีที่ขาดประสบการณ์ไปเป็นตัวแทน  “สำหรับผมรู้สึกเหมือนเป็นกิจการแบบ บานาน่ารีพับลิค’*”

(*ในทางรัฐศาสตร์ banana republic หมายถึงประเทศในอเมริกากลางที่การเมืองไม่มั่นคงและเศรษฐกิจแขวนอยู่กับการส่งออกผลิตผลที่เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ อย่างเช่น กล้วยหอม)

ก็ได้ แอนน์ แอ็ปเปิ้ลโบม คอลัมนิสต์รางวัลพุลลิซเซอร์ของหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ เขียนเหน็บแนม หยอกแรงว่า “ก็เพราะสาวสังคมนิวยอร์คที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง ไม่มีคุณสมบัติ และขาดการตระเตรียมตัว เป็นผู้เหมาะสมที่สุดในการเป็นตัวแทนผลประโยชน์แห่งชาติน่ะสิ”

การจวกทรั้มพ์ท่วมทวิตเตอร์เริ่มจากเจ้าหน้าที่หญิงของรัสเซีย สเว็ตลาน่า ลูกัสห์ จับภาพอิแวนก้าขณะนั่งร่วมประชุมเอาไปโพสต์ว่า เธอนั่งประชุมแทนบิดา ซึ่งผละไปประชุมสองฝ่ายที่ห้องอื่น” (ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเจรจากับวราดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย) และภาพนี้ก็ถูกถอดออกไปแล้ว

ก่อนหน้านี้อิแวนก้าก็เข้าร่วมประชุมเรื่องกองทุนนักธุรกิจย่อยสตรีของธนาคารโลก ซึ่งประธานาธิบดีทรั้มพ์แสดงความชื่นชมลูกสาวว่าเขาภูมิใจในตัวเธอมาก “ตั้งแต่วันแรกนั่นเลย จะบอกให้”

ทรั้มพ์บอกด้วยว่า “นี่ถ้าเธอไม่ใช่ลูกสาวของผมนะ มันจะง่ายกับเธอกว่านี้อีกเยอะ ถ้าอยากรู้ความจริงนะ นี่ละคือเรื่องแย่อย่างเดียวสำหรับเธอ”

อย่างไรก็ดี นักเขียนของดิอินดีเพ็นเด๊นซ์อีกคน ฌอน โอเกรดี้ ให้ความเห็นในบทความของเขาว่า น่าจะเป้นเรื่องดีที่ทรั้มพ์ให้ลูกสาวเข้าไปมีบทบาทในการบริหารงานรัฐบาลของเขามาก

“เธอเป็นผู้มีบุคคลิกสงบเยือกเย็น คิดอ่านสมเหตุสมผล และไม่ขาดความมั่นคงเหมือนพ่อ เราได้เห็นจากการที่เธอเข้าไปแทรกกระบวนการแก้ปัญหาซีเรียของทรั้มพ์กันแล้ว”


“เธอฉลาดขณะที่บิดามีแต่คนกังขา มีเสน่ห์ขณะที่พ่อเหมือนหมูป่า มีมนุษยธรรมขณะที่ทรั้มพ์แล้งน้ำใจ” โอเกรดี้ให้เหตุผลด้วยว่า เธอจะได้เป็นผู้คอยนวดอาการอวดเก่งของทรั้มพ์ให้ผ่อนคลายได้บ้าง

“บางทีเธออาจช่วยทำให้พ่อเพลามือเรื่องกำแพงสูงกั้นเขตแดนเม็กซิโก ลัทธิปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า และปัญหาภูมิอากาศแปรปรวน ได้บ้าง

บางที นะบางที” โอเกรดี้ ว่า