ฟื้นฝอยกันหน่อย เรื่องรถไฟความเลวปานกลาง (อุ๊ยสะกดผิด ‘เร็ว’
น่ะ) ที่ คสช. จำเป็นต้องดันทุรังสร้างให้ได้ เห็นว่าจะหาเงินเอง
สงสัยส่วนหนึ่งจะได้มาจากเงินบัญชีฝากของยิ่งลักษณ์มั้ง (ดู โพสต์ข้างล่างก่อนหน้านี่)
อยากสิเห็นรถไฟจักครา
ว่าหน้าตามันสิเป็นจั๋งใด
ว่าหน้าตามันสิเป็นจั๋งใด
มันคือคนหรือมีเขาอย่างควาย >>> จ้า
จะทิงจา ได้กล่าวไว้
"ที่บอกว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากโครงการรถไฟ เพราะตามปกติ ‘รถไฟความเร็วสูง’
ทั่วโลกจะไม่ใช้ในการขนส่งสินค้า แต่ต้องเข้าใจว่าโครงการนี้ของไทย คือ กรุงเทพฯ-หนองคาย,
หนองคาย-เวียงจันทน์, เวียงจันทน์-คุนหมิง
ตามที่จีนเขาวางแผนไว้ คือว่า
คุนหมิงมาถึงชายแดนลาว
บ่อเต้น บ่อหาน จะเป็นทางคู่มาตรฐาน ซึ่งการขนส่งสินค้าจากจีนเข้ามาจะใช้เส้นทางนี้
แต่ความเร็วต่างกัน ความเร็วในจีนสูงสุดก็จะเป็น 250 กรณีที่เป็นความเร็วสูง
แต่ถ้าเป็นรถสินค้าความเร็วจะต่ำลงมาเหลือประมาณ 160 พอข้ามแดนลาวมานี่ความเร็วสูงจาก
250 ก็จะลดลงมาเหลือ 180 สำหรับขบวนผู้โดยสาร
ส่วนขบวนสินค้าก็จะอยู่ประมาณ 160 ก็จะใช้ทางรถไฟ 1.435
ขณะที่ของไทยในจุดที่จะเชื่อมเวียงจันทน์จะใช้ขนคนอย่างเดียว
ส่วนในการขนส่งสินค้าก็จะเปลี่ยนถ่ายมาสู่ระบบรถไฟทางคู่ เส้นทางหนองคาย-มาบตาพุด
ระยะทาง 737 กม. ซึ่งรัฐบาลได้มีแผนลงทุนในโครงการนี้ไว้แล้ว-- อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวไว้ใน ‘ผู้จัดการ Online’
Special Scoop 21 กค. 2560
ท่านพูดไม่ค่อยเป็นระบบเข้าใจยาก
เอาง่ายๆ รถไฟจีนความเร็วสูงวิ่งมาหยุดที่บ่อหาน
ส่วนจากบ่อเต้นนั้นรถไฟลาวเป็นความเร็วปานกลางถึงเวียงจันทน์ พอข้ามโขงมาถึงเมืองไทยเป็นรถไฟโบราณ
ถึงจะสร้างทางคู่ก็ยังเป็นแบบโบราณ (โปรดอย่าถามถึงความเร็วของมัน)
ส่วนรถไฟความเร็วสูงนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
อย่างไรก็ตาม
คำพูดของรัฐมนตรีที่ยกมาข้างต้นทำลาย ‘วิสัยทัศน์’ อันเบลอๆ ของรัฐบาลคสช.ไปจนสิ้น
เรื่องรถไฟความเร็วสูงนั้นอยากจะบอกว่ามีเงินก็สร้างไปเถอะ
แต่อย่าเพ้อเจ้อเรื่องประโยชน์ของมันและการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคจนเกินความเป็นจริงไป
เพราะเหตุผลดังต่อไปนี้
1 รถไฟความเร็วสูงขบวนนี้ของไทยที่สร้างโดยจีน
จะไม่สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงขบวนอื่นใดทั้งสิ้น
ความฝันเหมือนชาวยุโรปที่จะนั่งรถไฟความเร็วสูง สิงคโปร์-กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์-คุณหมิง
เป็นฝันที่ไม่น่าจะเป็นจริงในชั่วอายุของเรา
เอาแค่ระยะสั้นนี้ก็ยังข้ามแม่น้ำโขงไม่ได้
ไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่จะสร้างข้ามแม่น้ำโขง
ผู้โดยสารยังคงต้องหอบกระเป๋าต่อรถอย่างทุลักทุเลไปอีกนาน
ถ้าเป็นเช่นนั้นแนะนำให้ไปรถยนต์จะฟินกว่ากันเยอะ ถ้ารีบและต้องการความสะดวกสบายก็ไปเครื่องบินค่าใช้จ่ายคงพอๆกัน
2 รถไฟความเร็วสูงสายแรกที่จะสร้างกรุงเทพฯ-โคราช
เอาไว้นั่งเที่ยวได้อย่างเดียว
ไม่เหมาะสำหรับคนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลแบบบ้านอยู่โคราชแล้วนั่งรถไฟความเร็วสูงไปทำงานกรุงเทพฯ
เหมือนคนเทียนจินนั่งรถไฟความเร็วสูงไปทำงานปักกิ่งแบบเช้าไปเย็นกลับ
ด้วยว่าค่าเช่าบ้านในปักกิ่งแพงมาก ใช้บริการรถไฟก็คุ้ม
แต่สายโคราช-กรุงเทพฯ
ตั๋วราคา 500 กว่าบาท ถ้านั่งไปกลับทุกวันเดือนหนึ่งปาเข้าไป 20,000 กว่าบาท มีเงินมากขนาดนี้ซื้อคอนโดในกรุงเทพฯเถอะ
ท่านรัฐมนตรีว่ายังไงรัฐบาลก็ต้องอุดหนุนอยู่แล้ว ถุ้างั้นตั๋วเดือนไปกลับเดือนละ 5,000
บาทโอเคมั๊ย ถ้าทำได้อย่างนั้นก็จะลดความแอดอัดในเมืองหลวงได้
โครงการนี้ก็น่าสนับสนุนอย่างยิ่ง แต่จะไปเอาเงินที่ไหนมาอุดหนุนก็คิดเอาเอง
รวมทั้งต้องตอบคำถามให้ได้ว่ามันเป็นธรรมกับประชาชนที่รถไฟขบวนนี้ไม่ผ่านหรือไม่
3 รถไฟความเร็วสูงขบวนนี้ไม่รับขนสินค้า
บ้านอยู่ศรีสะเกษปลูกทุเรียนส่งเมืองจีน
ถ้าไม่อยากขนใส่รถปิ๊กอัพไปลงเรือที่เชียงของ (ไปหนองคายใกล้กว่าก็จริง
แต่ไม่มีเรือลงมาถึง เพราะติดแก่งแถวคอนผีหลวง) แล้วอยากใช้รถไฟมาก
(เพราะเชื่อว่าราคาถูก) ก็ไปส่งขึ้นรถไฟโบราณของไทยที่อำเภอกันทรรมย์
มันก็จะวิ่งไปโคราชใช้เวลา 1 วันเต็ม
เพื่อลากต่อไปหนองคาย แล้วก็ยกตู้นั้นลงที่ท่านาแล้งอีก 1 วันเต็ม (เร็วผิดปกติเพราะต่อไปเป็นทางคู่แล้ว)
เพื่อไปขึ้นรถไฟลาวต่อไปบ่อเต้นด้วยความเร็วปานกลางก็อีก 1 วันเช่นกัน
เพราะแม้ว่ารถไฟลาวจะวิ่งเร็วกว่ารถไฟไทยนิดหน่อย
แต่วันหนึ่งอาจจะวิ่งแค่เที่ยวสองเที่ยว รวมแล้วถึงเมืองจีนก็พอดีทุเรียนสุก
แต่ถ้าสินค้าที่เน่าเสียเร็วเช่นผัก ก็ส่งขึ้นเครื่องบินไปดีกว่า
เพราะยิ่งลักษณ์คงไม่ได้กลับมาเป็นนายกสร้างรถไฟความเร็วสูงขนผักให้อีกแล้วในชาตินี้
4 หยุดเพ้อเจ้อเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีเสียที ลงว่าได้ใช้มาตรา 44
ให้วิศวกรและสถาปนิกจีนมาทำงานได้นี่ ก็จบกันแล้ว
อย่างมากที่สุดที่คนไทยจะได้ประโยชน์ (ในแง่เทคโนโลยี่) คือ
ขับรถไฟความเร็วสูงเป็น ซึ่งก็คงมีไม่กี่คน
แต่จะถึงขั้นว่าพัฒนาและสร้างรถไฟความเร็วสูงจนส่งออกแบบจีนได้หรือไม่
ดูจากแนวทางของรัฐบาลนี้ เห็นว่า ‘เพ้อฝัน’ อย่างยิ่ง หยุดพูดจะดีกว่า ไม่มีใครว่าโง่ด้วย
5 การขนส่งระบบรางนั้นอาจจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของการขนส่งถูกก็จริง
แต่อย่าลืมว่ามันลงทุนสูงและไม่ได้สะดวกสำหรับทุกที่
มันอาจจะตอบโจทย์สำหรับการขนส่งสินค้า แต่สำหรับประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ไม่ค่อยตอบโจทย์ผู้โดยสาร เพราะมันเร็วไม่เท่าเครื่องบิน แต่ราคาพอๆ กัน และมันไม่ได้ไปถึงทุกที่ที่มนุษย์อยากจะไปถ้าเปรียบเทียบกับรถยนต์
ทั้งนี้ไม่นับว่าคนไทยปัจจุบันนั้นถือว่ารถยนต์เป็นอะไรที่บ่งบอก
‘ความเป็นคุณ’ ไม่ใช่แค่ยวดยานพาหนะธรรมดาๆ อีกต่อไป
อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยได้รับการโอบอุ้มและพัฒนามามากเกินว่าจะเอารถไฟมาแข่งได้แล้ว
การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องขาดทุนชั่วฟ้าดินสลาย เผลอๆ เอาที่ดินของการรถไฟให้นายกปลูกหมามุ่ยขายดาวอังคารยังจะเวิร์กกว่า
ผมฝันอยากนั่งรถไฟฟ้าไปทำงานมานาน
แต่พอสายสีม่วงสร้างเสร็จผมก็เห่อนั่งอยู่ได้ 2-3 วันก็พบกับความจริงที่ว่า
ค่าใช้จ่ายมากกว่าและใช้เวลานานกว่าขับอีซูซุดีแม๊กซ์
ในที่สุดต้องยอมทิ้งรถไฟในฝันให้มันขาดทุนต่อไป
ปล.
ผมเป็นชาวโคราช ฝันว่าอยากจะนั่งรถไฟความเร็วสูงไปทำงานในกรุงเทพฯ แบบเช้าไปเย็นกลับเหมือนกันนะครับ
สร้างเถอะ บางทีโครงการนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ผมซื้อลัมโบกินีสักคัน
เพราะมันวิ่งไปเร็วพอๆ กับรถไฟความเร็วสูงของท่านเลยอ่ะ
อ้อ
อย่ากลัวว่าผมจะไม่มีถนนวิ่ง เพราะดูท่ามอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช
คงเสร็จก่อนรถไฟความเร็วสูง
Panuda Da เห็นในประชาชาติบอก เราต้องรื้อย้ายท่อก๊าซและท่อน้ำมันปตท. ที่ขวางตอม่อหมื่นกว่าล้าน
กฟผ. ต้องขยับแนวสายไฟให้สูงพ้นแนวอีกหลายพันล้าน รู้สึกเหมือนคนโง่ๆ
Supalak
Ganjanakhundee ทำไงได้
ญี่ปุ่นพัฒนารถไฟความเร็วสูงมากว่า 50 ปีแล้ว
แต่เราเพิ่งคิดจะมีเมื่อเร็วๆ นี้ พอดีว่าวางท่อ วางสาย กันไว้นานแล้ว
ก็ต้องรื้อสิ