วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 27, 2560

ทนายยิ่งลักษณ์ยื่นอีกครั้ง ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความคดีจำนำข้าวใช้กฎหมายไม่ต้องตาม รธน.

(หมายเหตุ นี่เป็นบทความเดียวกันกับเมื่อ ๖ ชั่วโมงที่แล้ว ซึ่งผู้เขียนได้ปรับเพิ่มเติมเนื้อหา)

ตามติ่งยิ่งลักษณ์จากเมื่อวาน ๒๖ ก.ค. คืบหน้าจากรายงานของธีรัตถ์ รัตนเสวี และพรรณิการ์ วานิช รายการทูไน้ท์ไทยแลนด์ ทางช่องว้อยซ์ทีวี


นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อศาลฏีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองอีกครั้ง ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตีความข้อโต้แย้งของจำเลยในคดีจำนำข้าว

อ้างเหตุข้อแรกว่า มาตรา ๒๑๒ ของ รธน. ปี ๖๐ บัญญัติชัดแล้วเรื่องที่มีการโต้แย้งว่าศาลใช้หลักกฎหมายต่อคดีไม่ต้องตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๕) ศาลฎีกาฯ จะต้องส่งให้ศาล รธน. ตีความ ไม่มีทางเป็นอื่นได้

ศาลฎีกาฯ จึงไม่สามารถสั่งยกคำร้องเสียเองได้ (ข้อ ๒) และทนายยิ่งลักษณ์ยังชี้ด้วยว่า (ข้อ ๓) บทบัญญัติมาตรา ๒๑๒ วรรคสองระบุ “ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้” ย่อมหมายความว่า การตีความเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ใช่ศาลฎีกาฯ ตัดตอนทำเอง

ส่วนเหตุอ้างข้อ ๔ ของทนายยิ่งลักษณ์ ยกเอาบทบัญญัติข้อ ๒๐ ของข้อกำหนดเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญใน รธน.ใหม่มาย้ำซ้ำว่าศาลฎีกาฯ จะมีความเห็นเองไม่ส่งศาล รธน. ตีความ ไม่ได้ แล้วสรุปในข้อ ๕ ว่า

การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสั่งยกคำร้องที่จำเลยขอให้ส่งศาล รธน. ตีความนั้น “อาจขัดต่อหลักนิติธรรม และการดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางในฐานะตุลาการ”

ต่อประเด็นที่เป็นข่าวเมื่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ แย้มว่าหาก น.ส. ยิ่งลักษณ์จะยื่นอุทธรณ์ในวันตัดสินคดีที่ ๒๕ สิงหา ทันทีไม่ได้ ต้องรอ ๓๐ วันตามรัฐธรรมนูญ ๖๐ เนื่องเพราะกฎหมายลูก (พรป.) ในเรื่องนี้ติดขั้นตอนยังไม่ได้ประกาศใช้ ขณะนี้เรื่องอยู่ที่นายกรัฐมนตรี รอนำขึ้นทูลเกล้าฯ ขอพระราชทาน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “สิทธิในการอุทธรณ์มันมีแต่กฎหมายลูกยังไม่ออก ก็เลยไปไม่ถูก” ตาม รธน. ๖๐ “ให้อุทธรณ์ได้ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง แต่ว่าจะอุทธรณ์ไปที่ไหน-อย่างใด ให้เป็นไปตามกฎหมายลูก”

จึงต้องลุ้นกันอีกหน่อยว่ากฎหมายลูกฉบับนี้จะมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันในเวลาอีก ๑ เดือนพอดีไหม (ลุ้นดูใจบิ๊กตู่นั่นละ)

อย่างน้อยวานนี้ พ่อคนดีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดน่าฟังเหมือนกันเรื่องที่กระทรวงการคลังส่งบัญชีธนาคารของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้กรมบังคับคดีจัดการ ๑๒ บัญชี นั่นเป็นข่าวสับสนว่า เอ๊ะ ศาลยังไม่ตัดสิน คลังหิวเงินหรือไง รีบจัดการยึดทรัพย์เสียแล้ว

ลุงตูบของน้องๆ ตอบว่าเป็นการเตรียมการของเจ้าหน้าที่เท่านั้น ต้องรอศาลตัดสินเสียก่อน (พนักงานของรัฐบาลทั่นรอบคอบ รอบจัด พอตัดสินปึ๊บจะได้ยึดปั๊บเลย ว่างั้น)

แต่ปรากฏว่า สงสัยหัวหน้าใหญ่รู้ไม่หมดว่าลูกน้องทำอะไรไปบ้าง เมื่อยิ่งลักษณ์ทวี้ตสวนทันเวลา ใช้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ (แจ้งให้ชาวโลกร่วมรับรู้ด้วย) ว่า

“ไม่ใช่แค่อยู่ในขั้นตอนการเตรียมการนะคะ แต่ได้ยึดและถอนเงินในบัญชีดิฉันไปแล้วค่ะ”

อ๊ะ อย่างนี้กระทรวงคลังกับนายกฯ ยึดอำนาจ ถือกฎหมายคนละฉบับหรือไร แต่ไม่มีใครโวยวายเพราะแค่ต่างสไตล์ ต่างวิธีการ เพื่อจัดการยิ่งลักษณ์และชินวัตรเหมือนกัน ด้านหนึ่งตัดหัว อีกด้านหนึ่งใช้สไน้เปอร์ ยิงเข้าหัวใจไม่ต้องยิงหัว

ถ้างั้นต้องมาดูความเห็นอีกด้าน จาก อจ. ปิยะบุตร แสงกนกกุล อีกครั้ง ที่บอกว่า “ผมพูด...ดักไว้ตั้งแต่วันที่รัฐบาล คสช. กระทรวงการคลัง เริ่มตั้งเรื่องแล้ว” ถึงกรณีการออกคำสั่งเรียกให้คุณยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากกรณีกระทำละเมิดหน่วยงาน อันเป็นผลมาจากการดำเนินการตามนโยบายจำนำข้าว...


อจ.ปิยะบุตรอธิบายว่า กระบวนการเรียกเก็บค่าชดเชยด้วยคำสั่งทางปกครองนี้มีมานานนมกาเลแล้ว โดยใช้อำนาจ “ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งระบบกฎหมายไทยจัดให้คำสั่งเรียกชดใช้นี้มีสถานะเป็นคำสั่งทางปกครอง

ตัวอย่างของการเรียกเก็บแบบนี้ที่เห็นเด่นก็คือกรณีนายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้มาตรการปกป้องเงินบาทในวิกฤตการคลังปี ๒๕๔๐ จนประเทศถังแตกต้องให้ไอเอ็มเอฟมาอุ้ม

ต่อมานายเริงชัยถูกเรียกค่าเสียหายแบบเดียวกับยิ่งลักษณ์ วงเงินมากมายแต่ก็ยังสู้ที่เขาจะเอากับยิ่งลักษณ์ไม่ได้

แม้ อจ.ปิยะบุตร ยอมรับว่า “กรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีอาญา หรือคดีอื่นๆ

หากแต่ “กรณีนี้มีความสัมพันธ์กับการรัฐประหาร ๒๒ พค ๒๕๕๗ มีการใช้มาตรา ๔๔ เข้ามาช่วยด้วย ยิ่งทำให้กระบวนการที่ทำๆ กัน แม้จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ก็ส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตอยู่

มันอาจเป็นการใช้กระบวนการแบบบิดผันเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง หรือ abuse หรือที่ในกฎหมายฝรั่งเศส เรียกว่า le détournement de procédure” ก็ได้

แท้จริงในบริบทของกฎหมายที่จะเอาผิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่เป็นละเมิดตั้งแต่แรก คือ ไม่ครบองค์ประกอบความรับผิดทางละเมิดตาม ปพพ. มาตรา ๔๒๐” โดยเฉพาะในประเด็น “การกระทำสัมพันธ์โดยตรงกับเหตุ หรือ causation

ข้อสำคัญ “ต่อให้กระทรวงการคลังวินิจฉัยให้เป็น ละเมิด และสามารถใช้กระบวนการตามกฎหมายนี้ได้ การละเมิดก็ไม่ได้เกิดจากประมาทเลินเล่อร้ายแรง เต็มที่เป็นได้แค่ประมาทธรรมดา

อจ.ปิยะบุตรยกตัวอย่างคดีเริงชัย “ชนะคดีมาแล้ว เพราะศาลฎีกาตัดสินว่าคุณเริงชัยประมาทเลินเล่อธรรมดา ไม่ถึงขั้นประมาทเลินเล่อร้ายแรง จากการนำเงินสำรองไปปกป้องค่าเงินบาทจน ธปท. เสียหาย

ส่วนคดีของยิ่งลักษณ์ ในศาลปกครองชั้นต้นก็มีความกรุณาโดยตุลาการคนหนึ่ง ทำนองเดียวกับที่นายเริงชัยได้รับ นายภานุพันธ์ ชัยรัต "ทำความเห็นแย้ง ให้ศาลสั่งทุเลาคำสั่งเรียกให้ชดใช้เงิน


ต่างกันตรงที่ นี่คดีเล่นงาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ และชินวัตร องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกานักการเมือง คงจะไม่ให้ความสำคัญกับการตีความกฎหมายโดยให้โอกาสแก่จำเลยจากการปกป้องชาวนา เหมือนเช่นจำเลยที่ปกป้องค่าเงินบาทเคยได้รับ