วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 02, 2560

อุตสาหกรรมความมั่นคง เพื่อไทยหรือเพื่อใคร?





อุตสาหกรรมความมั่นคง เพื่อไทยหรือเพื่อใคร?

2 กุมภาพันธ์ 2560
โดย สุติมา หวันแก้ว
ผู้สื่อข่าวการเมือง
Voice TV

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมความมั่นคงในประเทศอย่างเต็มที่ ขณะที่นักวิชาการมีมุมมองเห็นแย้ง ว่าเหตุที่ลงทุนไปนั้น มีทั้งการเน้นประเทศจีน และประเทศอื่น แท้จริงแล้วไทยจะกลายเป็นแค่ฐานผลิตและศูนย์ซ่อมสร้างของใครหรือไม่?




พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม ยังคงมุ่งมั่นในการเดินหน้าสร้างอุตสาหกรรมความมั่นคงให้เกิดขึ้นในประเทศ โดยหมายรวมที่จะบูรณาการทั้ง 4 เหล่าทัพ เริ่มซ้อมดูงานที่แรกของกองทัพบก ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก (กรซย.ศซส.สพ.ทบ) อ.เมือง จ.นครราชสีมา อย่างแข็งขัน





พล.ร.ต.วิทยา ละออจันทร์ ผู้อำนวยการกรมอู่ราชนาวี กรมอู่ทหารเรือ ระบุกับผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี ว่า “ปัญหาของกองทัพเรือ ณ ปัจจุบันนี้ คือเวลาซ่อมเรือต้องสั่งอะไหล่จากต่างประเทศ และต้องใช้เวลานานกว่าอะไหล่จะส่งมา แต่หากไทยมีนิคมอุตสาหกรรมฯ เปรียบง่ายๆ ก็เหมือนพวกเราสามารถเดินไปหยิบมาได้เลย เดินไปช็อปได้เลย ไม่ต้องเสียเวลา และงบประมาณออกนอกประเทศ”

เปิดงบกลาโหม รอบ 10 ปี





ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมรวมทั้งกองทัพไทยทั้ง 4 เหล่าทัพ มีงบประมาณในการบริหารงาน-แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพป้องกันประเทศ รวมแล้วกว่า 1.89 ล้านล้านบาท ซึ่งหากลงรายละเอียดในมิตรประเทศจีนและยูเครน จะเห็นว่ามีมูลค่าในการซื้อขายไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท





ความสัมพันธ์ทางทหารของไทย-จีน

เรียกได้ว่าอยู่กันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 ที่กองทัพไทยเริ่มรับอาวุธจากจีน ก่อนจะเป็นชาติแรกในอาเซียนที่ซื้ออาวุธของจีนในปี พ.ศ.2530 และจากนั้นก็ยังมีการซื้อยุทโธปกรณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งรถถังหลัก VT4 จำนวน 49 คัน ที่ถูกจับตามองว่า จะซ้ำรอย Type 69 ที่ถูกนำไปเป็นปะการังหรือไม่ รวมถึงการจัดซื้อที่ถูกจับตามองมากที่สุด เรือดำน้ำ S26T Yuan Class ที่มีมูลค่ากว่า 3.6 หมื่นล้านบาท โดยรวมแล้วไทยมีการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ไม่รวมระบบต่อสู้อากาศยานอื่นๆ เป็นจำนวนกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท





ความสัมพันธ์ไทย-ยูเครน

ส่วนประเทศยูเครนนั้น ไทยเริ่มมีความสัมพันธ์ทางการเมืองในช่วงปลายปี พ.ศ.2534 และเริ่มจัดซื้อยุทโธปกรณ์ จากการจัดซื้อรถถังหลัก T-84 Oplot จำนวน 49 คัน และยานหุ้มเกราะ BTR-3E1 จำนวน 217 คัน รวมมูลค่ากว่า 1.6 หมื่นล้านบาท

โดยหลังจากนี้ จะมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ตั้งโรงงานผลิตอาวุธรูปธรรม อีก 2 ครั้ง ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์และครั้งสุดท้ายภายในเดือนมีนาคม แต่ยังไม่สามารถระบุวันได้

อีกเสียงสะท้อนจากนักวิชาการความมั่นคง

เรียกได้ว่าประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองประเทศ ที่คาดหมายจะให้มาร่วมพัฒนานิคมอุตสาหกรรมความมั่นคงในไทย ท่ามกลางคำถามถึงความจำเป็น ผลประโยชน์ต่อประเทศชาติ รวมถึงการจับมือเป็นคู่ค้ากับจีนในช่วงปีให้หลัง มีหลายโครงการจนน่าแปลกใจ

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นันกวิชาการด้านความมั่นคง และผู้เชี่ยวชาญทางด้านยุทธศาสตร์การรบ และสงครามมองว่ากรณีดังกล่าวอาจมีเหตุผลทางการเมืองระหว่างไทย-จีนแอบแฝง





“บริบทของการตั้งโรงงานอาวุธเนี่ย มันไม่ต่างกับการสู้อาวุธหรือในส่วนหนึ่งเนี่ย ถ้าจะพูดอาจจะมากกว่าซะด้วยเพราะเท่ากับเรากำลังส่งสัญญาณว่าประเทศไทยพร้อมจะเป็นฐานผลิตอาวุธให้กับจีน ซึ่งหมายถึงจีนกำลังจะบุกตลาดอาวุธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมีไทยเป็นฐานการผลิต...นี่เป็นสัญญาณการเปลี่ยนข้างทางการเมืองของไทย...

เวลาเศรษฐกิจมีปัญหาหนักๆแล้วประชาชนเห็นรัฐบาลตัดสินใจลงทุนขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่เป็นการลงทุนในทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนผมว่าเรื่องนี้คนมีคำถามในใจเยอะ เพียงแต่จะพูดได้มากน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

'ผบ.ทบ.' ยืนยันไม่ผูกขาด "จีน"

ในขณะที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ย้ำไม่จำเป็นและไม่เป็นการผูกขาดยุทโธปกรณ์จากประเทศจีน เพียงแต่ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศที่มีขีดความสามารถสูงกว่า จึงถือเป็นปัจัยสำคัญ ไม่ได้ผูกขาดว่าต้องเป็นประเทศไหน

ส่วนที่จะมีการตรวจเพิ่มเติม คาดจะเป็นพื้นที่ของฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลุรี ของกองทัพเรือ ส่วนกองทัพอากาศมีที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อดูพื้นที่และความต้องการโดยรวม

มองในอนาคตหากสามารถดำเนินการไปสู่การจัดตั้งโรงงานได้ อาจจะออกมาในรูปแบบการร่วมทุนเพื่อการผลิตสิ่งอุปกรณ์ที่เกิดประโยชน์ที่ใช้ในกองทัพเองหรือในพาณิชย์ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี และเป็นอีกก้าวหนึ่งที่เราพยายามทำให้เกิดอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ





ข้อสังเกตยุทโธปกรณ์ "จีน-ยูเครน"

ไม่เพียงเท่านี้ หลายครั้งที่ผ่านมา ยุทโธปกรณ์จากทั้ง 2 ประเทศ นอกจากราคาที่ถูกใจกองทัพไทยแล้ว เรื่องประสิทธิภาพยังคงมีข้อกังขา โดยเฉพาะ รถถังกลาง 30 T 69 - 2 ที่ไทยเคยสั่งซื้อจากจีนเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ราว 100 คัน แต่ต่อมาไม่สามารถใช้งานได้ จึงถูกนำไปทำเป็น "ปะการังเทียม"

ส่วนรถถัง T-84 Oplot จากยูเครน ที่สั่งซื้อในเดือนกันยายน พ.ศ.2554 ด้วยงบประมาณกว่า 7,200 ล้านบาท ที่คาดจะส่งมองภายใน 2 ปี ยังคงประปัญหาในการจัดส่ง อีกทั้งยูเครนยังเสี่ยงล้มละลาย แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากหลายฝ่ายทั้งพ่อมดการเงิน "จอร์จ โซรอส" หรือการกู้ยืมเงินจาก IMF แต่ก็ยังอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง จากหนี้สินที่สูงถึง 1 ล้านล้านบาทไทย





ชวนอ่าน...

ประเทศไทย 'ไม่เสรี' 3 ปีซ้อน 

ฟรีดอมเฮาส์ จัดอันดับไทย ไม่เสรี 3 ปีซ้อน ด้านผู้บัญชาการทหารบกและรองนายกฯโต้วอชิงตันโพสต์ หลังระบุไทยเสี่ยงรัฐประหารอันดับ 2 ของโลก

Voice TV