วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 14, 2560

ตัวอย่าง หัวโขนแห่งความดี ของประชาชน





ถอดหัวโขนออกก็คือปชช. อดีตผู้ว่าฯตระเวนเก็บขยะ

คอลัมน์ “คนดีของสังคม”
โดย “เหยี่ยวขาว”
ที่มา เดลินิวส์ออนไลน์
เสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2560

น่านับถืออดีตผู้ว่าเมืองเลยตระเวนเก็บขยะข้างถนน เผยถึงจะถอดหัวโขนออกจากตำแหน่งผวจ.แต่ยังใส่หัวโขนประชาชนทำหน้าที่รักษาสะอาดในพื้นที่เช่นเดิม เปรยชาวเลยต้องร่วมกันรักษาแชมป์จว.สะอาดที่สุดในประเทศ

ยศถาบรรดาศักดิ์ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ไม่ว่าคุณจะทำงานราชการหรือเอกชนก็ตาม...มนุษย์ต้องการความก้าวหน้า...การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งต่าง ๆ มองอีกมุมก็คือหัวโขนที่สวมอยู่ขณะดำรงตำแหน่งนั้น ๆ เป็นเรื่องปกติเมื่อถึงเวลาเกษียณก็ต้องถอดออก...ภาระหน้าที่ต่าง ๆ ก็ย่อมหมดไปเป็นเรื่องธรรมดา

แต่สำหรับ“วิโรจน์ จิวะรังสรรค์”แม้จะถอดหัวโขนจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเลย แต่ด้วยหน้าที่ที่เคยทำ-เคยรณรงค์-เคยปลูกฝังให้ชาวบ้านมุ่งเน้นเรื่องรักษาความสะอาดให้กับบ้านเมือง ยังคงตระหนัก-ทุ่มเทสานต่อเรื่องการทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง...ทำในฐานะประชาชนคนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง





ใครจะไปคิดชายร่างเล็กสวมแว่นตาในชุดนักปั่นจักรยาน บางวันสวมชุดกีฬามือถือถุงดำขนาดกลางกำคีมตระเวนเก็บขยะด้วยท่าทีทะมัดทะแมง ตามริมถนนทางหลวง ข้างสนามบินเลย สถานีขนส่งจังหวัด ไม่ก็สถานที่ท่องเที่ยว ...เขาคือ“อดีตพ่อเมืองเลย”ถึงจะเกษียณแล้วแต่ก็ยังคงเดินหน้าเก็บกวาดพื้นที่อย่างไม่มีวันหยุด

“อดีตผู้ว่าฯเมืองเลย” บอกว่า เป็นผู้ว่าฯเลยปี 56-59 ก่อนหน้านี้คำขวัญจ.เลยคือ“เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู ถิ่นที่อยู่อริยสงฆ์” ก่อนเกษียณได้กำหนดเพิ่มคำว่า“มั่นคงความสะอาด” ไว้ในคำขวัญของจังหวัดปัจจุบัน 3 ปีที่ผ่านมาสร้างผลงานดีเด่นเป็นรูปธรรม พร้อมกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัดเพื่อให้เลยเป็นเมืองน่าอยู่ เมืองแห่งการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน





กระทั่งวันที่ 11 ก.ค.59 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ประกาศให้ จ.เลยเป็นจังหวัดที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในประเทศ ร่วมกับ จ.ลำพูน และบึงกาฬ โดยมหาดไทยมีนโยบายให้ทุกจังหวัดเป็นจังหวัดสะอาด นำหลัก 3 R คือ Reduce ลดการสร้างขยะ เช่น ใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าบรรจุอาหารหรือสิ่งของที่ซื้อจากตลาดแทนการใส่ถุงพลาสติกหรือกล่องโฟม , Re-use นำกลับมาใช้ใหม่ เช่น นำถุงหรือขวดพลาสติกมาใช้ซ้ำบำรุงรักษาเครื่องใช้ในครัวเรือนแทนการทิ้งแล้วซื้อใหม่ และ Recycle การนำไปแปรรูปหรือเปลี่ยนสภาพเพื่อใช้ประโยชน์ เช่น คัดแยกขยะที่เป็นแก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ เพื่อง่ายต่อการนำไปแปรรูป หรือส่งขายธนาคารขยะประจำชุมชนเพื่อสร้างรายได้ มีการจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วประจำคุ้มบ้าน

“เมืองเลยนำหลักดังกล่าวมาแก้ปัญหาจัดการขยะมูลฝอยอย่างจริงจัง ด้วยการลด การคัดแยก การใช้ประโยชน์จากขยะที่คัดแยก ณ แหล่งกำเนิดที่ต้นทาง ยึดหลักการมีส่วนร่วมทางการดำเนินงานแบบประชารัฐ ทุกภาคส่วนทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคศาสนา ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน กำหนดเป้าหมายให้ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เข้าสู่ระบบกำจัดขยะที่ปลายทางลดลงร้อยละ 5 ให้ทุกภาคส่วนในชุมชนมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างถูกต้อง ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชนต้องมีการจัดตั้งจุดรวมขยะอันตรายกระทั่งเมืองเลยก้าวสู่การเป็นจังหวัดสะอาดได้ตามเป้าหมาย”





นอกจากนี้ได้จัดทำเพลง "รักเลย ต้องไม่ทิ้งขยะ" เพื่อรณรงค์ให้เกิดจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดของคนเมืองเลยด้วย หลังเกษียณก็ปฏิบัติตัวเช่นพลเมืองชาวจังหวัดเลยที่ดี เป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่งตระเวนออกเก็บขยะตามถนนหนทางเป็นประจำเกือบทุกวัน เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับชาวเลย ทุกคนต้องร่วมกันทำ อย่าปล่อยปะละเลยบ้านเมืองเป็นของทุกคน

“คนเลยจะต้องรักษาแชมป์แห่งความสะอาดไว้ให้ได้ ฝากความหวังไว้กับเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตในภายภาคหน้า ปลูกฝังให้เขามีวินัย หน้าที่รักความสะอาด ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง โรงเรียนต้องเปิดเพลง รักจริง ต้องไม่ทิ้งขยะหน้าเสาธงทุกเช้า พร้อมท่องค่านิยม 12 ประการ เพิ่มข้อ 13 “รักเลย ต้องไม่ทิ้งขยะ”ด้วยก็จะดีมากๆ”




ประทับใจ และขอชื่นชมจริง ๆ กับบุคคลที่เคยอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าฯทำให้กับสังคมนี้...พ้นตำแหน่งไปแล้วก็ยังมุ่งมั่นกับสิ่งที่ตัวเองรณรงค์มาโดยตลอด ถอดหัวโขนออกตระเวนเก็บขยะข้างทางโดยไม่ยึดติดกับยศถาบรรดาศักดิ์ที่เคยมี... หัวโขนแห่งความดีจะติดตัวท่านตลอดไป.