วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 06, 2560

ภาคีเครือข่ายแม่น้ำโขงจี้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม.-ยุติระเบิดแก่งในน้ำโขง ขณะที่นักวิชาการหวังชนชั้นกลางร่วมเคลื่อนไหว





ภาคีเครือข่ายแม่น้ำโขงจี้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม.-ยุติระเบิดแก่งในน้ำโขง ขณะที่นักวิชาการหวังชนชั้นกลางร่วมเคลื่อนไหว


3 กุมภาพันธ์ 2017
ที่มา สื่อสาธารณะเพื่อพัฒนาสังคมชาวเหนือ

เชียงใหม่ (3ก.พ.60) / กลุ่มภาคีเครือข่ายแม่น้ำโขงเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนหรือยกเลิกมติ ครม.เมื่อ 27 ธ.ค.59 เรื่องการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงชี้ระบบนิเวศพัง ขณะที่คณะนักวิชาการเรียกร้องให้ชนชั้นกลางอย่ามองเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเป็นเรื่องเขตแดนของชาติ พร้อมหวังพลังของสังคมไทยที่เคยเข้มแข็ง จะออกมาเคลื่อนไหวรักษาสิ่งแวดล้อม





เมื่อเวลา 09.30น. ที่ ที่ห้องประชุม 04105 คณะสังคมศาสตร์ มช. มีการจัดเสวนาในหัวข้อ ” ระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อไทยหรือเพื่อใคร” โดยศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับกลุ่มรักษ์เชียงของ และภาคีเครือข่าย แม่น้ำโขง โดยวิทยากรประกอบด้วย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาที่ยังยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มช., นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตและเครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง – ล้านนา, นายเลาฟั้ง บัณฑิตชื่อสกุล ศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน, รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มช., และ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มช.





ดร.ชยันต์ กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่เกิดก่อนรัฐชาติ ทุกคนจึงมีสิทธิเป็นเจ้าของและในทุกส่วนร่วม ดังนั้น กลุ่มคนใดๆ หรือประเทศใดๆ จะอ้างสิทธิเป็นเจ้าของหรือใช้ประโยชน์ควรต้องมีการหารือร่วมกัน การลงทุนของจีนในการระเบิดแก่งครั้งนี้ มีนักเศรษฐศาสตร์อธิบายว่าไทยส่งออกไปยังจีน 14,000 ล้านบาท / จีนนำเข้ามายังไทย 4,000 ล้านบาท ซึ่งสินค้าที่ส่ง จากไทยไปจีนในปัจจุบันก็เป็นกลุ่มนายทุนจีนที่อยู่ในไทยนั่นเอง นอกจากนี้มีนักวิชาการ แสดงความคิดเห็นว่า การสร้างเส้นทางคมนาคมทางน้ำของจีนนั้น อาจเพื่อขยายอิทธิพล และอำนาจทุนของจีนโดยใช้อำนาจผ่านภูมิศาสตร์หรือได้อธิปไตยเหนือดินแดน กรณีเช่น มาเช่าที่ปลูกยางพารา ปลูกกล้วย หรือทำบ่อนคาสิโนในลาว เป็นต้น





นายสมเกียรติ กล่าวว่า ก่อนปี 2539 นั้น ชาวบ้านในลุ่มน้ำโขงทั้งสองฝั่ง สามารถทำเกษตรกรรม หาปลาได้ตลอดทั้งปี และมีวิถีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข จนกระทั่งหลังปี 2539 เป็นต้นมา มีการเกิดขึ้นของเขื่อนในแม่น้ำโขง ซึ่งสังเกตได้ว่าน้ำในแม่น้ำโขงมีการลงผิดปกติ ต่อมาปี 2543 ได้เริ่มมีการสำรวจแม่น้ำโขง เพื่อที่ต้องการให้เรือสินค้าขนาด 500 ตัน เดินทางผ่านได้ตลอดปี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านริมโขงเริ่มเปลี่ยนไป ที่ผ่านมา คณะสำรวจและคณะวิศวกรรม กับชาวบ้าน ต่างให้ความหมาย เกาะแก่งต่างกัน โดยคณะสำรวจมองว่าเกาะแก่งคือหินโสโครก แต่ในความหมายของชาวบ้าน บริเวณเกาะแก่ง คืออีกหนึ่งระบบนิเวศ เนื่องจาก พบว่ามีพืชกว่า 300 ชนิดและเป็นที่อาศัยของปลาหนังกินเนื้อ นอกจากนี้บริเวณหาดเกาะแก่ง นกบางชนิดยังใช้เป็นที่วางไข่ ซึ่งทั้งหมดเป็นระบบนิเวศที่เอื้อให้กับชุมชนด้วย





“หากมีการระเบิดเกาะแก่ง และเดินเรือสินค้าของจีนจริง ผลกระทบที่ตามมานอกจากระบบนิเวศแล้ว ในข้อตกลงการเดินเรือนั้นมีส่วนหนึ่งระบุไว้ว่า ต้องไม่มีกิจกรรมของคนในท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยก็ไม่มีสิทธิขึ้นเรือสินค้าของจีนด้วย กรณีดังกล่าวเสมือนไทยเสียอธิปไตย ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลถึงยอมอนุมัติจึงอยากขอให้ฝ่ายความมั่นคงทบทวน ทบทวนมติ ครม. หรือยกเลิกมติดังกล่าว” นายสมเกียรติ กล่าว







นายเลาฟั้ง กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนเองจะติดตามความเคลื่อนไหว ในด้านแม่น้ำสาละวิน และเขื่อนฮัตจีมากกว่า แต่ในทางกายภาพทั้งแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวินเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทย ทั้งนี้ กรณีการระเบิดแก่งนั้น ชุมชนหรือชาวบ้านมีสิทธิรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพ และชุมชนต้องมีส่วนร่วม หรือมีสิทธิแสดงความคิดเห็นต่อโครงการ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้นั้น การกระทำใดถ้ามีผลกระทบต่อเขตแดน ต้องดำเนินการ ให้รัฐสภาเห็นชอบก่อน แต่ในครั้งนี้ แม้จะยังไม่มีรัฐสภา แต่มี สนช. แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ยังไม่มีความชัดเจน





รศ.สมชาย กล่าวว่า ภายหลังปี 2540 สังคมได้สร้างกฎเกณฑ์ ในการมีส่วนร่วมของประชาชนและการตรวจสอบอำนาจรัฐ และเรื่องทรัพยากรเป็นของทุกคนไม่ใช่สิ่งที่รัฐจะทำตามใจชอบได้ ทำให้เกิดการประชามติการประชาคมและการประชาพิจารณ์เป็นต้น แต่หลังปี 2557 สิ่งดังกล่าวหายไป ซึ่งแม้ศาลปกครองก็ได้ออกมากล่าวว่าจะไม่ยุ่งหรือพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับ ม.44 ดังนั้นหาก นรม.ใช้ ม.44 ประชาชนก็จะไม่สามารถทำอะไรได้ ที่ผ่านมานโยบายที่ประชาชนได้รับผลกระทบชัดเจนคือ นโยบายทวงคืนผืนป่า นโยบายสร้างโรงไฟฟ้า เป็นต้น





“ในปัจจุบันอำนาจรัฐได้เข้ามาปรับเปลี่ยนมิติในเชิงนโยบายซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างกรณีไผ่ ดาวดิน ที่ ศาลจังหวัดขอนแก่นเพิกถอนสิทธิการประกันตัว ด้วยเหตุผลที่ไม่มีระบุไว้ในกฎหมายมาก่อน ที่ร้ายแรงกว่านั้นกลับไม่มีสถาบันการศึกษาด้านกฎหมายแห่งใดออกมาเคลื่อนไหวกับกรณีดังกล่าว อาจด้วยระบบอำนาจนิยมเชิงเครือข่าย กล่าวคือการดึงเอากลุ่มคนจำนวนมากไปเกี่ยวข้องและสนับสนุน เช่นการแต่งตั้ง สนช. ซึ่งจะมีอธิการบดี ของมหาลัยชั้นนำต่างๆเข้าร่วม” รศ.สมชาย กล่าว





ศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวว่า ในภาวะที่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลก การขยาย อิทธิพลของจีนและการเข้ามีบทบาทในเอเชียทำให้ สถานการณ์ การต่อสู้ในวันนี้ค่อนข้างยาก และการขยายตัวของจีนนำมาซึ่งความอ่อนแอของประเทศต่างๆ เช่นลาว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คาดหวังกลุ่มประชาชนจะออกมาเรียกร้องให้มากขึ้น ซึ่งในอดีตสามารถดึงชนชั้นกลางมาร่วมเพื่อสร้างเป็นประเด็นสังคมได้ ทั้งนี้ การต่อสู้เรื่องระเบิดแก่งเสมือนเป็นเดิมพันของระบอบทรัพยากรต้องไม่ใช่ของปัจเจก ประชาชนควรออกมาต่อสู้ เพื่อทรัพยากรและเพื่อยื้อเวลาจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งงานใน 5 ก.พ.นี้ ที่เชียงของนั้นหากมวลชนที่ไปร่วมงาน น้อยกว่า 5,000 คน อาจมีส่วนในการตัดสินใจให้ นรม.ใช้ ม.44 ในการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงต่อไป





จากนั้นเป็นการแถลงข่าว โดย ดร.ชยันต์, ศ.ดร.อรรถจักร์ และ รศ.สมชาย ว่า ในนามนักวิชาการไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านในพื้นที่มีส่วนร่วม นอกจากนี้รัฐบาลควรใช้กระบวนการความรู้ในการตัดสินใจ ในโครงการที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการยอมรับฟังข้อมูลจากส่วนต่างๆ การระเบิดแก่งแม่น้ำโขงจะทำลายระบบนิเวศทั้งหมด พร้อมเรียกร้องให้ชนชั้นกลางมาสนใจปัญหานี้มากขึ้นและอย่ามองเป็นเรื่องไกลตัว และขอให้มองเป็นเรื่องสิทธิเขตแดนของชาติ พร้อมหวังว่าพลังของสังคมไทยที่เคยเข้มแข็ง จะออกมาเคลื่อนไหวรักษาสิ่งแวดล้อม.