วันศุกร์, กันยายน 16, 2559

กกต. อินเดียไม่ได้มีคนเดียว :ชำนาญ จันทร์เรือง

กกต.อินเดีย
ชำนาญ จันทร์เรือง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการพูดถึงกกต.อินเดียกันอย่างมากมาย ซึ่งผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนที่พูดคนแรกว่า กกต.อินเดียมีคนเดียว แล้วระบาดไปทั่ว แม้แต่รองนายกฯ หรือนักวิชาการทั้งหลายก็เป็นไปด้วย โดยไม่หาข้อมูลที่แท้จริงเสียก่อน

เพราะจริงๆ แล้ว กกต.อินเดียมีสามคนไม่ได้มีคนเดียวตามที่เข้าใจและถกเถียงกันแต่อย่างใด

ประเด็นที่ผมจะเขียนถึงคงมิใช่เพียงเรื่องกกต.อินเดียมีคนเดียวหรือสามคน แต่เป็นประเด็นที่กกต.อินเดียเขาทำงานกันอย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมถึงสามารถจัดการการเลือกตั้งในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีประชากรถึง 1,200 กว่าล้านคน ในพื้นที่ 3,287,590 ตารางกิโลเมตร ล่าสุด ปี 57 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 814 ล้านคน (อายุ 18 ปีขึ้นไป) มาใช้สิทธิถึง 541 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 67 มีเขตเลือกตั้ง 543 เขต จาก ส.ส. 543 คน (เขตเดียว คนเดียว) มีคูหาเลือกตั้ง 930,000 คูหา โดยการเดินทางไปเลือกตั้งของประชาชนในบางแห่งต้องเดินเท้าถึง 22 กิโลเมตรเลยทีเดียว

ความเป็นมา

เริ่มจากการที่รัฐธรรมนูญอินเดียได้ร่างเสร็จเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2493 ซึ่งเป็นวันที่ถือว่าเป็นวันชาติของอินเดียด้วย โดยมี Sukumar Sen เป็นกกต.คนแรกคนเดียวดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 21 มีนาคม 2493 ถึง 19 ธันวาคม 2501 แต่ต่อมาภายหลังตั้งแต่ 2536 จึงมีสามคนจวบจนปัจจุบัน

กกต.อินเดียแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีโดยการเสนอแนะจากรัฐบาลอินเดีย เพราะการปกครองของอินเดียใช้ระบบรัฐสภา (parliamentary system) ซึ่งประธานาธิบดีเป็นเพียงประมุขมิใช่หัวหน้าฝ่ายบริหารดังเช่นประธานาธิบดีในระบบประธานาธิบดี (presidential system) อย่างสหรัฐอเมริกา

การถอดถอน (impeachment) ประธานกกต.นั้นต้องทำโดยสภาฯ ด้วยเสียง 2 ใน 3 เท่านั้น แต่การปลดกกต.อื่นนั้นทำโดยการเสนอจากประธานกกต.เสนอให้ประธานาธิบดีเป็นผู้ปลด (ถ้าจะเปรียบเทียบบ้านเราก็คือการรับสนองพระบรมราชโองการหรือหาผู้รับผิดชอบนั่นแหล่ะครับ)

โดยผู้ที่จะเป็นกกต.นั้นอายุต้องไม่เกิน 65 ปี และมีวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 6 ปีเท่านั้น แล้วแต่ว่าอันไหนถึงก่อน การลงมติหรือการตัดสินใจใดๆ ประธานและกรรมการมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากัน โดยใช้เสียงข้างมากตัดสิน

อำนาจหน้าที่

กกต.อินเดียมีอำนาจหน้าที่จัดการเลือกตั้งทั่วไปทั้งในระดับชาติและมลรัฐเท่านั้น ไม่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น กกต.อินเดียมีหน้าที่รับและตรวจสอบการจดทะเบียนของพรรคการเมืองเช่นเดียวกับของเรา

แต่สิ่งที่หน้าทึ่งก็คือวิสัยทัศน์อันก้าวไกลของกกต.คนแรกคือ Sukumar Sen ที่เชื่อว่าการมอบสิทธิทางการเมืองให้กับประชาชนที่แม้ว่าจะไม่รู้หนังสือนั้นนับได้ว่าเป็นการทดลองทางประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดทางประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ โดยในตอนแรกๆ เขาถูกโจมตีอย่างหนักว่าน่าจะเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงที่ทำเช่นนั้น เพราะคนที่โจมตีเขาเชื่อว่าหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถอ่านออกเขียนได้แล้วผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหล่านั้นน่าจะถูกหลอกด้วยข้อมูลที่ผิดๆ แต่ปรากฏว่า Sukumar Sen คิดถูก กอปรกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาโดยลำดับทำให้ข้อกล่าวหาเหล่านั้นตกไป

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ต่างจากบ้านเราก็คือนักบวชทุกศาสนาในอินเดียมีสิทธิเลือกตั้งเหมือนกันหมด เพราะเขาถือว่าศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคล การเลือกตั้งไม่มีเรื่องศาสนา ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะไม่เอาเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง

ตัวอย่างของการใช้อำนาจหน้าที่ของกกต.อินเดียที่ได้รับการชื่นชมก็คือ เมื่อก่อนมีการลงคะแนนในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดียได้บังคับให้ถอนสิทธิ์ผู้สมัครเลือกตั้ง 2 ราย ที่กล่าวคำพูดที่ยุยงก่อให้เกิดความเกลียดชังและแตกแยก แตกสามัคคีของคนในชาติ ในระหว่างการกล่าวปราศรัยหาเสียงของพวกเขา อันมีผลกระทบต่อความสามัคคีและก่อให้เกิดความเกลียดชังกันของคนในชาติที่ต่างแนวความคิด แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วอำนาจหน้าที่ในการให้ใบแดงเป็นของศาล

วิธีการจัดการเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะเป็นสภาอยู่ครบวาระหรือถูกยุบก็ตาม กกต.อินเดียจะใช้เวลาเตรียมการเพื่อจัดการเลือกตั้งประมาณ 6 เดือน โดย กกต.อินเดียมีอำนาจเด็ดขาดในการกำหนดวันเลือกตั้ง การประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ รวมถึงการประกาศข้อห้ามต่างๆ เช่น การใช้พื้นที่สาธารณะ การย้ายข้าราชการ ฯลฯ โดยการกำหนดวันเลือกตั้งจะดูความพร้อมของสภาพดินฟ้าอากาศ ฤดูกาลทางการเกษตร เทศกาลและวันสำคัญต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นวันหยุดราชการ

ที่สำคัญก็คือไม่จำเป็นต้องเลือกตั้งพร้อมกันภายในวันเดียว ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 5 สัปดาห์ กว่าจะเลือกตั้งเสร็จทั้งประเทศและพอเลือกตั้งเสร็จกกต.อินเดียก็ยังมีเวลาอีก 4 วันให้นับคะแนน ทั้งนี้ เพราะเขาเชื่อมั่นในการทำงานของกกต.นั่นเอง

กกต.อินเดียสามารถสั่งให้เจ้าหน้าที่พลเรือนมาช่วยการเลือกตั้งได้ถึง 4 ล้านคน เมื่อรวมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารที่มาช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยอีก 2 ล้านกว่าคน ก็หมายความว่า กกต.อินเดียมีบุคลากรทำงานถึง 6 ล้านกว่าคน มีเครื่องนับคะแนนอีเล็กโทรนิกส์ (e-voting machine) อีก 1.1 ล้านเครื่อง 

ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะให้ผู้ออกเสียงเลือกตั้งกดปุ่มเลือกผู้สมัครจากจอภาพที่ปรากฏใบหน้าและชื่อผู้สมัคร โดยที่ผู้ที่อ่านหนังสือไม่ออกสามารถรู้จักพรรคการเมืองผ่านตราสัญลักษณ์ของพรรคนั้นๆ ราคาของเครื่องก็พอๆ กับโน้ตบุ๊กธรรมดาๆ นี่เอง และสามารถใช้สะแกนลายนิ้วมือแทนการตรวจบัตรได้ด้วย

มองเขา มองเรา แล้วเลือกเอาสิ่งดีๆ มาใช้ น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าการที่จะมานั่งถกเถียงกันว่ากกต.จะมีกี่คน จะเอามหาดไทยมาจัดการเลือกตั้งอีกดีไหม ฯลฯ ที่สำคัญที่สุดก็คือกกต.ไทยเองต้องเข้าใจบทบาทและอำนาจหน้าที่ของตนตามรัฐธรรมนูญว่าคืออะไร แล้วกกต.ไทยก็จะได้รับความเชื่อถือจากทุกฝ่ายเหมือนกับกกต.อินเดีย ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง

-----------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 14 กันยายน 2559