“รับน้อง ม.ดัง ให้ดำลงไปในบ่อบำบัดน้ำเสีย นิสิตใหม่จมน้ำ งมหากันสองครั้งถึงเจอร่าง อาการหนักปอดติดเชื้อต้องไว้ไอซียู”
(รายละเอียดที่ http://www.matichon.co.th/news/280795)
เป็นข่าวแทบจะเรียกว่า ‘ชีวิตประจำวัน’ ของสังคมไทยสมัยนี้ สมัยที่อำนาจจากปากกระบอกปืนเป็น ‘คุณธรรม’ น่ารื่นรมย์สมอุรายิ่งกว่าเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมือง (ที่ไม่ยกย่องทหาร)
พูดถึง ‘ทหาร’ มีอีกข่าวมาให้ซึมซับกัน จาก ‘พีเพิลโพล’ (ประเทศไทย) สำรวจความเห็นตัวอย่าง ๑.๑๒๓ ราย ด้วยคำถามง่ายๆ “คิดเห็นอย่างไรกับการนำพลทหาร (‘ไอ้เณร’ ทหารเกณฑ์) ไปเป้นคนรับใช้ในบ้านของพวกนายทหาร”
๕ เปอร์เซ็นต์ครึ่งตอบว่า “เรื่องปกติ ไม่ใช่ปัญหา” ของธรรมดา ส่วนอีก ๑๗ เปอร์เซ็นต์บอกว่าเถอะน่า “ค่อยๆ ปรับแก้” ค่อยเป็นค่อยไปอย่างพวกไทยแท้
แต่ดูเหมือนจะมีคนรุ่นใหม่ (หรืออย่างน้อยมีจิตสำนึกไปทางข้างหน้า) อยู่มากพอประมาณในหมู่ผู้ตอบคำถาม ๗๓ เปอร์เซ็นต์ เห็นว่า “เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน”
(http://www.matichon.co.th/news/280736)
พูดถึง ‘คนรุ่นใหม่’ ในทางสากลและตะวันตก สมัยก่อนเรียก ‘ยัปปี้’ หรือ ‘yuppies’ พวกอายุน้อยและสมัยใหม่ ในความหมายของ modern มากกว่า trendy
สมัยนี้เรียก ‘millennial’ (ไม่ใช่ millennium อย่างที่ หน่วยราชการไทยบางแห่ง สื่อบางรายเคยอ้าง)
หมายถึงคนที่อายุตั้งแต่ ๓๕ ลงมาจนถึงวัยแตกเนื้อหนุ่มสาวและทรานส์ อายุเท่าไรไม่แน่นอน ระหว่าง ๑๔ ถึง ๒๑ อ่อนแก่หนึ่งปียังได้ วัดตรงที่มี puberty แล้ว
ในอเมริกา คนรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นเสียงสวรรค์เสมอไป แต่แน่นอนเป็นความหวังที่คนรุ่นนี้คอยจ้องจะส่งไม้ต่อให้ ไม่เหมือนในเมืองไทย ‘ยิ่งแก่ยิ่งหวงไม้’
ดูได้จากในภาคการเมือง คนรุ่นใหม่ผู้สนับสนุนนายเบอร์นี่ แซนเดอร์ ทำให้พรรคเดโมแครทต้องยอมรับเอาแนวนโยบายของเขาไปบรรจุไว้ในฐานความคิด ‘platforms’ ของพรรค
การกดขี่ข่มเหง ‘เด็ก’ ในบ้านเราแทบจะรายวันดังกล่าวข้างต้น เป็นความไม่เป็นธรรมในสังคมที่เรื้อรังและยังไม่เห็นมีใครที่รับผิดชอบและอยู่ในขอบข่ายอำนาจหน้าที่ เสนอทางแก้ไข หรือแม้แต่มีความคิดริเริ่ม ‘initiative’ ไปทางนั้น
ในอเมริกา หาได้ปราศจากความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างสิ้นเชิงไม่ การข่มเหงกีดกันในระหว่างกลุ่มชนในสังคมมีอยู่ทุกวัน แต่ก็พบกับกระบวนการต่อต้านแก้ไขทันใจเช่นกัน
เชื่อว่าทุกท่านที่อ่านข้อเขียนนี้ออนไลน์หรือทางโซเชียลมีเดีย ย่อมรู้จัก ‘ซิลิคอนแวลเล่ย์’ ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา กันดี เป็นย่านที่ได้ชื่อว่าคือเมืองหลวงของกิจการเทคโนโลยี่ ‘Tech capital of the world’
เป็นเรื่องน่าขันปนเศร้าที่ ที่นั่นมีการเหยียดหยามกีดกันมนุษยชนด้วยกันแบบใหม่ไม่เหมือนที่ไหนๆ คือการ ‘เหยียดอายุ’ ใครที่มีวัยเกิน ๔๐ ปีขึ้นไปจะหางานทำได้ยาก แม้นว่าจะมีความสามารถในสาขาอาชีพยอดเยี่ยมก็ตาม
ทั้งที่หลายต่อหลายคนทั้งหญิงและชายในวัยเกิน ๔๐ จะพยายามปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ ย้อมผม เปลี่ยนทรงทำศัลยกรรมใบหน้า เปลี่ยนไสตล์เสื้อผ้า เปลี่ยนวิธีการพูดเพื่อให้ดูอ่อนวัย
รวมถึงไปเข้าชั้นเรียนรู้วิธีคิดวิธีปฏิบัติแบบคนรุ่นใหม่ กระทั่งฟ้องร้องต่อศาลเพื่อที่จะรักษาตำแหน่งงานที่เคยทำเอาไว้
บทความในเว็บข่าวบลูมเบิร์กธุรกิจเรื่อง ‘It’s tough being over 40 in Silicon Valley’ เผยว่าระหว่างปี ค.ศ. ๒๐๐๘ จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว มีบริษัททางด้านเทคโนโลยี่ ๑๕๐ แห่งถูกฟ้องร้องในข้อหา ‘เหยียดอายุ’ ต่อกระทรวงปกป้องความเป็นธรรมในการจ้างงานและที่อยู่อาศัยของมลรัฐแคลิฟอร์เนียถึง ๒๒๖ ราย
(http://www.bloomberg.com/…/silicon-valley-s-job-hungry-say-…)
แอนเดรีย โรดริเกซ ต้องออกจากงานบริษัทซ้อฟแวร์ในคูเปอร์ติโนเดือนที่แล้วเมื่ออายุเกิน ๕๐ เธอหางานใหม่ในท้องที่ซิลิคอนแวลเล่ย์ตามความชำนาญด้าน ‘เซลส์’ จัดจำหน่ายที่เธอมี ผู้จัดการฝ่ายจัดจ้างแห่งหนึ่งบอกกับเธอว่า บริษัทเขามีพนักงานที่อายุหลากหลายต่างๆ กัน “ตั้งแต่เพิ่งจบคอลเลจออกมาสดๆ ร้อนๆ จนกระทั่งกลุ่มคนแก่ถึง ๔๘ ปี”
แครอล ฮิมโมวิทซ์ ผู้เขียนบทความพบว่า อายุเฉลี่ยของพนักงานทั่วอเมริกาอยู่ที ๔๒ ปี แต่ที่ซิลิคอนแวลเล่ย์ต่ำกว่านั้นมาก คนงานแอปเปิ้ลอายุเฉลี่ย ๓๑ ปี กูเกิ้ลกับเทสลา แค่ ๓๐ เฟชบุ๊คกัลลิ้งด์อิน ต่ำลงไปอีกที่ ๒๙
ม้าร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟชบุ๊คเองเคยพูดไว้ที่สแตนฟอร์ดเมื่อตอนเขาอายุ ๒๒ ปีว่า “คนหนุ่มสาวก็แค่ฉลาดกว่า”
ทนายความที่ชำนาญเรื่องการจ้างงานคนหนึ่งในซิลิคินแวลเล่ย์เผยว่า คนที่พิจารณาจ้างงานที่นี่จะดูเรซูเม่ว่ายาวไหม ถ้ายาวมากละก็เขี่ยทิ้งไปก่อน เพราะถือว่าการทำงานยาวนานในตำแหน่งเดิมนั้นมีแต่ทักษะซ้ำซาก ล้าสมัย
ผู้ประกาศในรายงานข่าวของบลูมเบิร์กชี้ว่า พนักงานในซิลิคอนแวลเล่ย์ที่อายุ ๒๐ กว่าๆ มักหาทางย้ายงาน หรือไปเริ่มบริษัทใหม่ ‘Start-up’ เพราะ “เขาอยู่บริษัทเดิมนานเกินไปแล้วตั้งสองปีครึ่ง”
ถึงกระนั้น การเหยียดอายุคนไม่หนุ่มไม่สาวในซิลิคอนแวลเล่ย์ ก็เป็นผลิตผลจากการแข่งขันทางเศรษฐกิจในตลาดเสรี มากกว่าการเอารัดเอาเปรียบ การดูหมิ่น และการกดขี่เด็กในประเทศไทย ดังเช่นที่ครูบังคับให้นักเรียนหญิงต้องกราบเท้าขอขมาหน้าเสาธง เพียงเพราะแม่หนูอ้างว่าป่วยเพราะอาหารของโรงเรียน
คนวัยเกินสี่สิบในซิลิคอนแวลเล่ย์ที่ยังต้องการทำงานแถวนั้น เพียงต้องดิ้นรนทำตนให้ดูหนุ่มดูสาว กระปรี้กระเปร่า สดใสซาบซ่า อันน่าจะเป้นผลดีแก่ตนเองด้วยซ้ำไป ถึงท้ายที่สุดยังมีกฎหมายเป็นที่พึ่ง สามารถฟ้องร้องเรียกคืนสิทธิและความเสมอภาคได้
แต่ว่าในบ้านเรา กรณีอย่างเช่นนักเรียนหญิงที่สุรินทร์ นักศึกษาใหม่ที่ชลบุรี ทหารเกณฑ์หลายแห่งเกือบทั่วประเทศ ที่ต้องอับอายขายหน้า บาดเจ็บสาหัส กระทั่งเสียชีวิตไปแล้วหลายคน ยังต้องเผชิญกับธรรมเนียมปฏิบัติเผด็จการและมิจฉาทิฏฐิแห่งการกดขี่อยู่ร่ำไป เพราะเป็นวิถีไทยๆ เช่นนั้นหรือ