กล้าคิดและกล้าทำ สร้างสรรค์และมั่นใจ เติบโตสมวัย แกร่งกล้าสดใส
น่าจะเป็นเพลงที่สะท้อนค่านิยมหนึ่งของประเทศเราได้เป็นอย่างดี
ว่า “เด็กไทยต้องเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก”
สังคมมักพูดเรื่องนี้
ผู้ใหญ่พูดเรื่องนี้
กระทรวงศึกษาธิการมักมีโครงการเกี่ยวกับเรื่องนี้
บทความเกี่ยวกับแม่และเด็กก็พูดเรื่องนี้
ทุกคนบอกกับเราว่า “เราต้องสนับสนุนให้ลูกกล้าแสดงออก มีความคิดอันสร้างสรรค์”
ในปี 2519 ภายหลังจาก “ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของเด็ก” หรือหลังวันที่ 14 ตุลาคม 2516
ในปี 2519 ภายหลังจาก “ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของเด็ก” หรือหลังวันที่ 14 ตุลาคม 2516
เด็กในยุคนั้นตื่นตาตื่นใจกับ “อิสระเสรีภาพ”
ในขณะที่สังคมที่ยากจน ก็เรียกร้องหาความเป็นขบถในตัวเด็ก
คนจน กับเยาวชนชาวไทยจำนวนมากออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง
ถามหาความยุติธรรมจากกระบวนการรัฐ
ถามหาความยุติธรรมในราคาข้าว ในราคาน้ำตาล
ถามหาความยุติธรรมทางค่าแรง
ต้องการการเปลี่ยนแปลงเพื่อ”สังคมใหม่ที่ดีกว่า”
เรียกได้ว่า มีการชุมนุมเกิดขึ้นตลอดเวลา
แทบทุกวัน แทบทุกเรื่อง
เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ที่สิ่งเหล่านี้กลายมาเป็น “ความชิงชัง”
สังคมเริ่มชิงชังเด็กเหล่านี้
เริ่มเดือดร้อนรำคาญ
เริ่มเบื่อหน่ายต่อการตั้งคำถาม
ที่จริงแล้ว ดูเหมือนจะไม่ต่างอะไรกับสังคมในปี 2559
เพราะเด็ก ที่ตั้งคำถาม “มากเกินไป” ถูกชิงชัง
เด็ก ที่ “เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง” ถูกต่อว่า
เด็ก ที่ “กล้าวิจารณ์” ถูกมองว่าไม่สมวัย
ไม่มีใครชื่นชมว่าเด็กเหล่านี้กล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก
หลายคนมองว่าน่ารำคาญ ช่างต่อต้าน
หลายคนบอกว่าไม่น่ารัก
ไม่มีความเมตตาเอ็นดูให้เด็กเหล่านี้
เหมือนที่ไม่มีความเมตตาเอ็นดูให้แก่ “เด็ก 6 ตุลา”
สำหรับเราแล้ว เรื่องที่น่าเศร้าที่สุดของบทเรียน 6 ตุลา 2519
คือการที่สังคมไม่ได้บทเรียนอะไรทั้งนั้น
เมื่อเราเข้าไปอ่านความคิดเห็นในเฟซบุ๊คของเพื่อนร่วมสังคมคนอื่น
ความเกลียดชังและความรุนแรงที่สะท้อนออกมาทางตัวอักษรทำให้เรารู้ว่า
เรายังคงมีชีวิตอยู่ในสังคมแบบเดียวกัน
สังคมที่ไม่ปกป้องความคิดเห็นที่แตกต่าง
สังคมที่ไม่ต่อสู้เพื่อเพื่อนมนุษย์คนอื่น
สังคมที่ไม่เรียนรู้ที่จะรัก และเข้าใจว่ามนุษย์ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันเป็นแบบพิมพ์คุกกี้
เราเรียนรู้จิตวิญญาณของสังคมทุกสังคม
ผ่านการมองดูว่าสังคมนั้น “จำ” และ “เรียนรู้” ประวัติศาสตร์แบบไหน
แบบที่สร้างอนุสาวรีย์ หรือแบบที่สร้างความเข้าใจ
แบบเอามันขึ้นหิ้งแตะไม่ได้ หรือแบบที่สามารถอธิบายและนำมาถกเถียง
ให้ความทรงจำมีชีวิตอยู่ผ่านความร่วมสมัย
พวกเรามีความเห็นว่า การพูดเรื่อง 6 ตุลา เป็นเรื่องของคนทุกคน
เป็นเรื่องของผู้รอดชีวิต
เป็นเรื่องของผู้ไม่รอดชีวิต
เป็นเรื่องของเด็ก
เป็นเรื่องของสังคม
เป็นเรื่องของใครก็ตามที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอยู่ในเหตุการณ์
ในวาระ 6 ตุลา 2559 ปีนี้
พวกเรามีความเห็นว่า
“ถึงเวลาแล้ว” ที่พวกจะต้องยกเอาความทรงจำในวันที่ 6 ตุลา 2519
มาปฏิวัติ เป็นความทรงจำใหม่
ที่เป็นความทรงจำร่วมกันของเราทุกคน
ในวาระ 40 ปี 6 ตุลา 2519
เพื่อ “สังคมใหม่ที่ดีกว่า”
ขอให้ทุกคน มาร่วมสร้างความทรงจำเก่าให้ใหม่ไปกับพวกเรา
ด้วยความเคารพต่อสังคมไทย
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง
พวกเราไม่ลืม 6 ตุลา 2519
“เรา-ไม่-ลืม”
6 ตุลา 2519 เราไม่ลืม