วันจันทร์, กันยายน 19, 2559

"40 ปีหกตุลาแล้ว ยังไม่เคยมีการตอบสนองใดๆ จากฝ่ายรัฐ" ฟัง 'วิภา ดาวมณี' พูด "การค้นหาความจริงกรณีการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ" ในงานสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กรณีความรุนแรงโดยรัฐที่กระทำต่อการเรียกร้องประชาธิปไตย



18 ก.ย. 2559 ในการเสวนา "การค้นหาความจริงกรณีการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ" วิภา ดาวมณี หนึ่งในคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงเพิ่งมีการค้นหาความจริงเกี่ยวกับกรณีเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เมื่อปี 2542 ในนามคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ทั้งที่เหตุการณ์ผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว
วิภา กล่าวว่า ช่วงเวลาที่หายไปทั้งหมด มีเรื่องราวแอบซ่อนอยู่ โดยหลังเหตุการณ์หกตุลา สามเดือนแรกของปี 2520 มีเหตุการณ์รุนแรง โดยนักศึกษาที่หนีภัยการเมืองเข้าร่วมกับ พคท. สู้รบกับทหารตำรวจไทยในขณะนั้น ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดี มธ. ให้การว่า สามเดือนแรกของ 2520 มีผู้เสียชีวิตอีก 550 กว่าคน และจากการสืบพยานจากปากคำของคนที่รอดพ้นออกมาหลังนิรโทษกรรมตาม นโยบาย 66/2523 ของรัฐบาล คนสุดท้ายที่กลับออกมาคือเมื่อปี 2533 จากเขตป่าเขาฝั่งตะวันตก ใกล้ชายแดนพม่า

วิภา มองว่า เหตุการณ์สำคัญหนึ่งคือ งาน 20 ปี 6 ตุลา เมื่อปี 2539 ที่ มธ. อันเป็นผลจากการต่อสู้ของเหตุการณ์ พ.ค. 35 กับรัฐบาลสุจินดา ซึ่งมีการปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้ขบวนการคนรุ่นตุลาเข้ามามีส่วนร่วมและรวมตัวกันอีกครั้ง โดยมีการผลักดันประชาธิปไตยสีเขียวหรือแบบมีส่วนร่วม จนเกิดเป็นรัฐธรรมนูญ 2540

องค์กรต่างๆ ที่เคยหลบซ่อนตัวอยู่ ไม่กล้าบอกว่าตัวเองเป็นคนรุ่นหกตุลา กล้าออกมาและมารวมตัวกัน รื้อฟื้นที่ยืนให้กับตัวเอง โดยพยายามบอกว่าคนที่ตายและถูกฆ่าในวันที่หกตุลา ล้วนเป็นผู้รักความเป็นธรรม มอตโต้ในงาน 20 ปีหกตุลา คือ "หกตุลา เพื่อสังคมที่ดีงาม" พูดมากกว่านี้ไม่ได้ จะบอกว่าเคยเป็นคอมมิวนิสต์ นักสังคมนิยม หรือเชื่อมาร์กซิสม์ไม่ได้ ได้แค่ "เพื่อความป็นธรรม เพื่อสังคมที่ดีงาม" เท่านั้น

ดังนั้น 6 ตุลา 2539 จึงเป็นเหตุพลิกผันครั้งใหญ่ของคนเดือนตุลา ทั้ง 14 ตุลาและ 6 ตุลา ในปีนั้น มธ. โดยสภามธ. ยินดีให้จัดสร้างอนุสรณ์สถานรำลึก 6 ตุลา ข้างหอประชุมใหญ่ มีแค่คำว่า "6 ตุลา 2519"

"เราไม่สามารถสร้างอนุสาวรีย์หกตุลาไว้ในที่สาธารณะของประเทศนี้ได้ เราต้องอาศัยพื้นที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีความฝันเรื่องประชาธิปไตยหลายเรื่อง" วิภากล่าว

วิภา เล่าว่า สืบเนื่องจากแนวคิดจะสร้างอนุสรณ์สถานวีรชน 6 ตุลา มธ.เสนอให้สร้าง 11 เหตุการณ์ของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย ในชื่อ "กำแพงประวัติศาสตร์" ขณะที่ ใจ อึ๊งภากรณ์ เสนอตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงขึ้น มีการยื่นหนังสือข้อเสนอต่อทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ในขณะนั้นเมื่อ 14 ต.ค. 2545 แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าในรัฐบาลชุดไหน

ข้อเรียกร้องของคณะกรรมการฯ คือ ขอให้ยอมรับความจริงอย่างเปิดเผยและปรับปรุงมาตรฐานวัฒนธรรมการเมืองในสังคมไทย โดยประณามผู้เข่นฆ่าประชาชนด้วยอาวุธและ จัดการผู้กระทำความผิดในทางกฎหมาย

ขณะที่รูปธรรม คือ ขอให้พิจารณาอดีตและเลือกทางแก้ปัญหาเยียวผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต จัดการบาดแผลหกตุลา โดยเผชิญหน้ากับความเป็นจริง ไม่ว่าจะมีใครเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ก็ไม่ควรถูกฆ่า นอกจากนี้ ยังเสนอว่า การยกโทษและให้ลืม กลายเป็นบาดแผลสำคัญของสังคมไทย รวมถึงแก้ไขบาดแผลด้วยการชดเชยต่อผู้สูญเสียและคำขอโทษจากรัฐ ทั้งนี้มากกว่าคำว่าขอโทษ ต้องทำความเข้าใจในสังคมว่ารัฐไทยได้ทำผิดอย่างไร ต้องมีบันทึกเรื่องหกตุลาในตำราเรียน และเปิดเผยข้อมูลเพิ่มขึ้น โดยต้องการทราบว่าใครบ้างในองค์กรรัฐที่สั่งการในการดำเนินการดังกล่าวอย่างไร

"มาวันนี้ 40 ปีหกตุลาแล้ว ยังไม่เคยมีการตอบสนองใดๆ จากฝ่ายรัฐ" วิภากล่าว




ooo

คลิปเกี่ยวข้อง...

"การค้นหาความจริงกรณีการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ"



https://www.youtube.com/watch?v=Fj9adkI7srg

IHRP MU

Streamed live 15 hours ago

โครงการสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กรณีความรุนแรงโดยรัฐที่กระทำต่อการเรียกร้องประชาธิปไตย

หัวข้อ : การค้นหาความจริงกรณีการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ

ร่วมเสวนาโดย

วิภา ดาวมณี
ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ
นพพล อาชามาศ
พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ : ดำเนินรายการ

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน 2559
ห้อง ร102 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)