วันจันทร์, กันยายน 12, 2559

ธงชัย วินิจจะกูล : ‘ตามหาลูก’ จดจำและหวังด้วยความเงียบ (4)





โดย ธงชัย วินิจจะกูล
มติชนสุดสัปดาห์
วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ.2559

อ่านย้อนหลัง ตอน 1 ตอน 2 ตอน 3

เสียชีวิตแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่

จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เสียชีวิตเมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลา 2519 แต่กลับไม่กระจ่างว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา

และการตายของเขาไม่มีการยืนยันแม้เวลาผ่านไปถึงสองทศวรรษหลังจากเหตุการณ์ก็ตาม เพราะไม่มีใครพบร่างของเขา

หรือกล่าวให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือไม่มีใครสามารถระบุว่าศพหนึ่งที่ตำรวจเก็บมาจากธรรมศาสตร์ในวันนั้นคือจารุพงษ์

จนกระทั่ง พ.ศ.2540 เศษ กระทั่งปี 2539 ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าร่างไร้ชีวิตของเขาหายไปไหน

จินดาและลิ้มจึงมีความหวังต่อมานานว่าลูกชายจะกลับมา (9)

มีเพียงไม่กี่คนที่อ้างว่าได้รู้เห็นเหตุการณ์ว่าจารุพงษ์เสียชีวิตอย่างไรในสถานการณ์สับสนชุลมุนเช้าวันนั้น

กล่าวกันว่า จารุพงษ์ตรวจตราจนแน่ใจว่าทุกคนหนีออกจากตึกที่ทำการองค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ไปหมดแล้ว เขาจึงเป็นคนสุดท้ายที่พยายามออกมาจากตึกนั้นในเวลาเดียวกับที่ตำรวจบุกเข้าไปพอดี

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเขาตายเพราะอะไร

โดนกระสุน โดนระเบิด หรือโดนลากคอจนเสียชีวิต

การปราบปรามทางการเมืองอย่างหนักหลังเหตุการณ์ รวมถึงการควบคุมสื่อมวลชนอย่างเข้มงวด และการที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ถูกปิดหมดนานนับเดือน

รวมทั้งธรรมศาสตร์ซึ่งปิดถึงสามเดือนหลังเหตุการณ์

ทำให้ข่าวสารเกี่ยวกับจารุพงษ์สับสนคล้ายข่าวเล่าลือ ไม่ชัดเจนและไม่อาจยืนยันได้ แม้ว่าการตายของเขาจะเล่าลือไปจนถึงในคุกที่ผมกับเพื่อนๆ ถูกขังอยู่ในขณะนั้น

จนถึงทุกวันนี้ ชื่อของจารุพงษ์ยังไม่ปรากฏในรายชื่อผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519 ของทางการเลย แน่นอนว่าชื่อเขาไม่ปรากฏในบรรดาคนที่ถูกจับหรือคนที่บาดเจ็บอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ แต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้จินดาจึงไม่พบชื่อของลูกเมื่อไปตามดูที่สถานีตำรวจ

ปริศนาน่าสับสนงุนงงเข้าไปอีกเมื่อทางการประกาศชื่อของจารุพงษ์เป็นหนึ่งในบรรดาผู้นำนักศึกษาที่ยังหลบหนีอยู่เพราะเขาเป็นกรรมการบริหารของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

นี่เป็นข้อยืนยันว่าทางการก็ไม่รู้เช่นกันว่าจารุพงษ์เสียชีวิตแล้ว

ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดปริศนาสับสนว่าเขาตายแล้วจริงหรือ หรือว่ายังมีชีวิตอยู่ และอยู่ที่ไหน

ปริศนานี้เป็นเงื่อนไขให้เกิดข่าวลือมากมาย

รวมทั้งข่าวที่ว่าจารุพงษ์ยังมีชีวิตอยู่และเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์

ข่าวและข่าวลือว่าทหารคอมมิวนิสต์บุกโจมตีทหารฝ่ายรัฐบาลกลับช่วยหล่อเลี้ยงความหวังของจินดาและลิ้มให้คงอยู่หลายปีต่อมานับจากวันที่บันทึกหยุดเงียบไปเฉยๆ

ในช่วงหลายปีที่จินดาและลิ้มเฝ้าคอยลูกชายกลับบ้าน เพื่อนๆ อดีตนักศึกษาฝ่ายซ้ายของจารุพงษ์มิได้ส่งข่าวให้จินดาและลิ้มแต่อย่างใด

หลังการสังหารหมู่ พวกเขาก็ไม่ทราบหรือไม่แน่ใจเช่นกันว่าจารุพงษ์ตายแล้วจริงหรือ

ถ้าจริง ศพของเขาหายไปไหน

ไม่นานหลังเหตุการณ์ รูปภาพของนักศึกษาชายคนหนึ่งถูกลากไปตามสนามฟุตบอลด้วยผ้าผืนหนึ่งก็เผยแพร่ไปทั่วโลก

จนแทบจะเป็นภาพตัวแทนความโหดเหี้ยมทารุณของเช้าวันนั้นพอๆ กับภาพการแขวนคอที่สนามหลวง

แต่ในประเทศไทยหลายเดือนต่อมาภาพดังกล่าวจึงได้รับการเผยแพร่อย่างลับๆ ในวงจำกัด มิได้แพร่หลายกว้างขวาง เพราะการเซ็นเซอร์สื่อปกปิดปราบปรามข่าวสารข้อมูลเริ่มต้นพร้อมๆ กับที่การสังหารหมู่เริ่มขึ้น

ข่าวและภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นอันตรายต้องห้ามเผยแพร่พูดถึงอีกหลายปีต่อมา

ในบรรดาเพื่อนๆ ของจารุพงษ์ที่มีโอกาสเห็นภาพดังกล่าว บางคนก็มั่นใจว่าร่างนั้นเป็นของจารุพงษ์แน่ๆ

แต่ส่วนมากไม่แน่ใจ ไม่กล้าลงความเห็นเจาะจงว่าเป็นจารุพงษ์

ไม่มีใครสักคนที่รู้ว่าชายผู้นั้นถูกลากคอจนตาย หรือว่าร่างที่ถูกลากนั้นเสียชีวิตไปแล้ว

ผมได้เห็นรูปนั้นในปี 2521 ไม่นานนักหลังออกจากคุก

ยังจำได้ดีว่าผมกับเพื่อนอีกสามสี่คนเคยนั่งถกเถียงกันที่ตึก อ.ม.ธ. ว่าชายในภาพนั้นใช่จารุพงษ์หรือไม่

ไม่มีใครสักคนที่แน่ใจ แถมสิ่งที่ช่วยให้เราคิดว่าน่าจะเป็นจารุพงษ์กลับไม่ใช่หน้าตารูปร่างซึ่งไม่ชัดเจนพอ

แต่กลับเป็นเสื้อผ้าของชายที่ถูกลากคอซึ่งเหมือนกับของจารุพงษ์ที่เราคุ้นเคย

อย่างไรก็ตาม พวกเรามิได้ตระหนักแต่อย่างใดว่าพ่อแม่ของจารุพงษ์ยังไม่เคยได้รับข่าวคราว ไม่เคยมีใครบอกท่านเลยว่าลูกชายท่านเสียชีวิตแล้ว

พวกเราไม่รู้เลยว่าท่านยังคงพยายามตามหาลูกชายอยู่

หลายปีผ่านไป อดีตนักศึกษาฝ่ายซ้ายเหล่านั้นล้วนแต่มีเรื่องอื่นๆ มากมายในชีวิตไปคนละทิศคนละทาง

บางคนทำงานใต้ดินหลัง 6 ตุลา จนกระทั่งขบวนปฏิวัติแตกกระเจิง

จำนวนมากต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อกลับคืนสู่ชีวิตปกติหลังป่าแตก ใช้เวลานับสิบปีกว่าจะพอตั้งตัวกันได้

แม้ว่าพวกเราไม่เคยลืมจารุพงษ์

แต่การตายของเขาก็กลับไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนสำคัญอันดับต้นๆ สำหรับชีวิตของเราทั้งหลาย

การตามหาลูกชายและความหวังค้างเติ่งของจินดาและลิ้มจึงไม่ใช่เรื่องที่พวกเรารับรู้ให้ความสนใจเพียงพอ

จนกระทั่งการรำลึก 20 ปี 6 ตุลาเมื่อปี 2539

การรำลึก 20 ปี 6 ตุลา กลายเป็นกิจกรรมเคลื่อนไหวตลอดปีของบรรดาเหยื่อที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์และต้องการหลุดออกจากความเงียบเสียที

สิ่งที่พวกเขาต้องการทำอันดับต้นๆ คือการเชิดชูผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เมื่อปี 2519

ดังนั้น กรณีของจารุพงษ์จึงได้รับความสนใจอย่างมากจากเพื่อนเก่าของเขาที่ธรรมศาสตร์

ในเวลานั้นพวกเราส่วนมากผ่านช่วงระยะการปรับตัวเข้ากับสังคม ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานมากน้อยต่างๆ กัน

แต่ครั้นเมื่อรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อรำลึกถึงจารุพงษ์ เราทำกันอย่างเต็มที่

เราจึงเพิ่งตระหนักว่าในระหว่าง 20 ปีหลัง 6 ตุลา ยังไม่มีใครไปหาพ่อแม่ของจารุพงษ์เพื่อบอกท่านว่าลูกชายของท่านเสียชีวิตไปตั้งแต่ 20 ปีก่อนหน้านั้น

พวกเรารู้สึกผิด พูดไม่ออก

เรามองข้ามเรื่องแบบนี้ไปอย่างไร้หัวใจ ไร้ความรับผิดชอบสิ้นดี

ต้องขอบคุณความพยายามของ สินิทธ์ สิทธิรักษ์ เพื่อนของจารุพงษ์ซึ่งมาจากสุราษฎร์ธานีเช่นกัน

สินิทธ์มีบทบาทแข็งขันในการรำลึก 6 ตุลาครั้งนั้นและในการติดต่อเพื่อบอกกับพ่อแม่ของจารุพงษ์

เธอบันทึกไว้ว่า การค้นหาติดต่อพ่อแม่จารุพงษ์ไม่ใช่เรื่องยาก

สิ่งที่ยากเย็นแสนเข็ญกว่าคือการบอกข่าวแก่จินดาและลิ้มว่าเกิดอะไรขึ้นกับจารุพงษ์

คำพูดคำแรกของจินดาและลิ้มทางโทรศัพท์เมื่อติดต่อกันได้ก็คือ “แล้วจารุพงษ์อยู่ที่ไหนล่ะลูก” (จินดา) “แล้วจารุพงษ์อยู่ไหนล่ะลูก หนูบอกแม่สิ จารุพงษ์เขาอยู่ไหน” (ลิ้ม) (10)

ด้วยความช่วยเหลือของน้องชายของจารุพงษ์และนายแพทย์ท้องถิ่นผู้เคยเป็นนักศึกษาฝ่ายซ้ายมาก่อน สินิทธ์และเพื่อนรวมสี่คนก็เดินทางไปหาจินดาและลิ้มถึงบ้านที่พระแสง สุราษฎร์ธานี

พวกเราใช้เวลา 20 ปีเพื่อบอกจินดาและลิ้มว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกของเขา

ในที่สุดข่าวสารที่พอเชื่อถือได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับจารุพงษ์ก็ส่งถึงพ่อแม่ของเขาเสียที

ความจริงเป็นสิ่งปวดร้าวใจ ผู้มาเยือนสังเกตได้ชัดเจนว่าจินดากับลิ้มพอจะรู้อยู่แล้วว่าจารุพงษ์คงจะไม่กลับมาอีก (11) แต่ทั้งคู่ไม่ทิ้งความหวังตราบเท่าที่ไม่มีข้อมูลแน่นอนยืนยันและตราบเท่าที่ยังไม่มีใครพบศพของจารุพงษ์

นักศึกษาคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตในขณะนั้นว่า จินดาและลิ้มไม่เคยใช้คำใดๆ เลยที่มีความหมายว่าลูกชายของเขาตายแล้ว

สินิทธ์ก็เช่นกัน เธอย้ำข้อนี้ว่า แม้แต่เธอเองก็ไม่เคยกล่าวอย่างชัดๆ กับจินดาและลิ้มว่าจารุพงษ์เสียชีวิตแล้ว (12)

ไม่นานนักหลังเพื่อนของจารุพงษ์ไปพบ เรื่องราวของจินดาและลิ้มก็กลายเป็นที่รับรู้ผ่านสื่อมวลชน

เพื่อนๆ ของจารุพงษ์ช่วยกันระดมทุนจัดสร้างอนุสรณ์ถึงเขาโดยปรับปรุงห้องประชุมสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสียใหม่ แล้วให้ชื่อห้องนั้นว่า ห้องจารุพงษ์ ทองสินธุ์

ในพิธีเปิดห้องจารุพงษ์ อ.นรนิติ เศรษฐบุตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้นกล่าวตอนหนึ่งว่า ห้องจารุพงษ์เป็นห้องแรกในธรรมศาสตร์ที่ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติและเพื่อระลึกถึงนักศึกษาคนหนึ่ง แต่เขาหวังว่านี่จะเป็นห้องสุดท้าย

พ่อแม่พี่น้องของผู้เสียชีวิตเมื่อ 6 ตุลาส่วนใหญ่ยังลังเลไม่อยากเผยตัวจนทุกวันนี้ มิต้องกล่าวถึงการได้รับความเคารพอย่างสมเกียรติ หรือความภาคภูมิใจอย่างเปิดเผย ซึ่งเขาควรได้รับตอบแทนกับการเสียสละของลูกหลานพี่น้องของเขา

ทั้งนี้เพราะความหมายของ 6 ตุลายังคลุมเครือในความรับรู้ของคนไทย จินดาเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ยินดีเปิดเผยเต็มใจ แต่เขาเคยต้องเก็บซ่อนความทุกข์ระทมอย่างมากใน 2 ปีแรก13 และใช้เวลา 20 ปีกว่าที่สังคมไทยจะได้รับรู้เรื่องราวการรอคอยและความหวังของจินดาและลิ้ม

ในเวลาต่อมาจินดาเป็นตัวแทนของครอบครัวของผู้เสียชีวิตเพื่อประกอบพิธีรำลึกเมื่อเดือนตุลา 2539 และทุกๆ ปีหลังจากนั้น

สำหรับเพื่อนๆ ของจารุพงษ์รวมทั้งผมด้วย เราได้ประกอบภารกิจที่สำคัญและมีความหมายมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของพวกเรา

นั่นคือ เราได้บอกพ่อกับแม่ของเพื่อนเราและได้บอกอำลาเพื่อนรักของเราอย่างเต็มปากเต็มคำและอย่างเปิดเผยเสียที แม้จะช้าไป 20 ปีก็ตาม

เชิงอรรถ

(9) วันดี 2539 : 140 เขียนว่า “20 ปีที่ผ่านไป ยังไม่มีใครรู้ว่าร่างของจารุพงษ์อยู่ ณ แห่งหนใด…”
(10) ดูข้อเขียนของ ศรีกัญญา ใน กุลวดี และ สุธาชัย 2539 : 5-6
(11) จินดากล่าวเช่นนั้นใน “Silenced Memories” (2014) นาที 21:24
(12) ศรีกัญญา ใน กุลวดี และ สุธาชัย 2539 : 10
(13) เขาบอกเล่าไว้ในภาพยนตร์ “Silenced Memories” (2014), ดูนาทีที่ 12:25