วันพุธ, ตุลาคม 07, 2558

อันเนื่องมาแต่ ‘ธงชัย วินิจจะกุล’ พูดไว้หน้าลาน ๖ ตุลา ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ “สังคมอีท่าไหนให้คนทำผิดไม่ต้องรับผิดแล้วเสวยสุข ผู้คนยกย่องกันทั้งประเทศ”




อันเนื่องมาแต่ ‘ธงชัย วินิจจะกุล’ พูดไว้หน้าลาน ๖ ตุลา ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

“สังคมอีท่าไหนให้คนทำผิดไม่ต้องรับผิดแล้วเสวยสุข ผู้คนยกย่องกันทั้งประเทศ”

ก่อนจะพากันเดินเข้าไปยังสนามหลวง นำผ้าดำพันรอบต้นมะขามที่เคยถูกใช้เป็นที่แขวนคอ วิชิตชัย อมรกุล หนึ่งในนักศึกษาที่ถูกม็อบลูกเสือชาวบ้านฆ่าตาย แล้วผูกคอลากศพเอาไปแขวนไว้กับต้นมะขาม อยู่ทางด้านวัดมหาธาตุ




อีกต้นซึ่งยังไม่สามารถระบุตำแหน่งได้แน่นอน แต่ได้รับการยืนยันว่าอยู่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่แขวนคอศพนายปรีชา แซ่เฮีย (บันทึกบนอนุสรณ์สถานระบุแซ่เตีย ที่ธงชัยว่าน่าจะคลาดคลื่อน) ร่างไร้วิญญานที่ถูกผู้ร่วมม็อบคนหนึ่งใช้เก้าอี้ฟาด ท่ามกลางคนมุงดูยิ้มแย้มเริงร่า

เป็นภาพย้อนแย้งต่อค่านิยม ‘land of smile’ ที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางในรอบยี่สิบสามสิบปีที่ผ่านมา

“ขอแจ้งให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รับทราบว่าปีหน้าเราจะจัดงาน อย่ามาจำกัดจำนวนคนพูด อย่ามาเจรจาต่อรองว่าใช้ไมค์ได้หรือเปล่า ถ้าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาเราก็ต่อรองกัน คุณไม่ต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหรอก คุณทำหน้าที่เป็นตัวแทนของนักศึกษาที่ตายวันนั้นสิ”

ธงชัยกล่าวถึงโอกาสครบรอบ ๔๐ ปี ๖ ตุลา ในปีหน้าซึ่งจะเป็นไฮไล้ท์ของการค้นหาความจริง ดังเขาอ้างถึงไว้ในตอนต้นว่า “มีสาระหลายอย่างที่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการชำระล้าง เยอะมาก”

เขาเปรียบเปรย ๖ ตุลาว่าถึงที่สุด มันคือเรื่องของความคับแคบ คับแคบอย่างมหาศาล คับแคบอย่างเหลือเชื่อ ในปัจจุบันก็ยังคับแคบอยู่ในทุกวงการ




สังคมไทยมีปรากฏการณ์ทางปัญญามากมายที่น่าเอน็จอนาจ นั่นเป็นเพียงแค่ภาพสะท้อนของสังคมโดยรวม โดยกว้าง ซึ่งปัจจุบันย้อนกลับไป ๓๐ ปีโดยไม่มี่อะไรเปลี่ยนแปลง”

(https://www.facebook.com/300084093490011/videos/vb.300084093490011/507701536061598/?type=2&theater)

ประเด็นที่ซึ่ง ‘ใบตองแห้ง’ Atukkit Sawangsuk ทำให้ก้องกังวาลเอาไว้โดยต่างกรรม แต่วาระเดียวกัน

“สติปัญญาสังคมไทย อย่าแปลกใจที่อยู่ใต้เผด็จการ” เขากรีดก่อนกราด

“ได้คุยกันแป๊บๆ ธงชัยเล่าว่ามีสื่อมาสัมภาษณ์ แต่คุยได้ห้านาทีก็บอกว่าไม่เอาดีกว่า เลิกเถอะ เพราะถามเรื่องพื้นๆ เช่น คสช.จะอยู่นานไหม?

คืออย่าถามเลยว่าธงชัยคัดค้านรัฐประหารหรือเปล่า ของมันแหงอยู่แล้ว แต่ธงชัยมองอะไรลึกกว่านั้น จึงย้อนถามนักข่าว คุณให้ผมตั้งคำถามเองดีกว่าไหม ว่าทำไมคนแบบประยุทธ์ถึงปกครองประเทศได้

คือมันเป็นเรื่องน่าสมเพช ว่าทำไมสังคมไทยยังต้องมาถกกันเรื่องรัฐประหาร-ประชาธิปไตย ประเทศนี้แม่-เป็นไรไป ระดับสติปัญญาหายไปไหน ถึงขนาดยอมรับระบอบประยุทธ์ได้...

สรุปสั้นๆ...คือภูมิปัญญาสังคมไทยตกต่ำมาก งานวิชาการก็ตกต่ำ มัวแต่รับใช้การเมืองรับใช้ NGO อาจไม่ใช่แค่รอบสิบปี แต่ย้อนไปหลายสิบปี ธงชัยจึงบอกว่า ‘หอคอยงาช้างอ่อนแอ’...

‘วิชาการบริสุทธิ์’ ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ฯลฯ เป็นภูมิปัญญาที่สังคมจะเก็บเกี่ยวไปใช้ ซึ่งตรงนี้สังคมไทยมืดบอดมากๆ มืดบอดมานาน”

ก่อนหน้านี้ธงชัยไปพูดสัมมนาถึงหนังสือของเขา ‘Siam Mapped’ ว่า

“ขอให้ตระหนักไว้ว่า การครอบงำทางความคิดและความรู้ที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ได้เกิดขึ้นจากชนชั้นนำเท่านั้น เรื่องประวัติศาสตร์และความคิดต่างๆ จริงๆ แล้วเกิดจากการผลิตซ้ำทางความคิดของประชาสังคม หรือคนทั่วไปเอง

ส่วนเรื่องชาตินิยมนั้น ผมไม่ได้บอกว่าผมหลุดจากความเป็นไทย หรือบอกว่าเราสามารถหลุดพ้นจากมันได้ แต่ผมให้ความสำคัญกับความสามารถในการตระหนักรู้ วิพากษ์วิจารณ์ต่อปัญหาชาตินิยมในทางปัญญามากกว่า”

(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1443872074)

อันมีการต่อยอดวิสัชนากันพอควรทางโซเชียลมีเดีย อาทิ Natalie Mandy ชี้ว่า

“แกบอกว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องที่จะบอกว่าการที่สังคมไทยมาถึงขั้นนี้เป็นเพราะชนชั้นนำนำไปจนเลยเถิด มันเปนเพราะชนชั้นอื่นด้วยเท่าๆ กันอะค่ะ (แต่รู้สึกไม่มีใครถามและแกไม่ได้บอกด้วยว่าแล้วชนชั้นอื่นต้องทำยังไงสังคมจึงจะไม่เปนเช่นนี้)




กานดา นาคน้อย อันนี้ก็เห็นด้วยค่ะ ชนชั้นนำอย่างเดียวไปไม่ได้เท่านี้หรอกค่ะ ชนทุกชั้นมีส่วนร่วมด้วย รัฐประหารมีไม่ได้ถ้าไม่แรงสนับสนุนชนชั้นกลางค่ะ ชนชั้นล่างก็มีส่วนร่วมในฐานะฐานสนับสนุนอีกฝ่าย เป็นพลวัตทางสังคม

ไม่มีชนชั้นไหนไม่มีส่วนร่วมหรอกค่ะ เพียงแต่กลไกในการร่วมต่างกัน ส่วนแรงผลักดันก็ต่างกัน ชนชั้นนำทำเพือรักษาอำนาจ ชนชั้นกลางทำเพื่อเพิ่มอำนาจ ส่วนชนชั้นล่างทำเพื่อรักษาสิทธิ”

กานดา นาคน้อย ยังให้แง่คิดอีกว่า

“ฉันคิดว่านักวิชาการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างรวดเร็วไม่ได้ นักกิจกรรมและนักการเมืองเปลี่ยนแปลงสังคมได้เร็วกว่านักวิชาการ

ประโยชน์ของนักวิชาการสายสังคมต่อสังคมมี 3 อย่าง

ก)เป็นคลังข้อมูลตอบคำถามที่นักกิจกรรมและนักการเมืองอยากรู้ ข) สังเกตสังคมระยะยาวอย่างต่อเนื่องแล้ววิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนเมื่อเทียบกับสังคมอื่น ค) จุดประกายให้คนรุ่นหลังจินตนาการสังคมที่ไม่เหมือนปัจจุบัน จินตนาการแล้วจะผลักดันให้ได้ตามจินตนาการไหมก็แล้วแต่เขาเลือกเอง

ถ้านักวิชาการอยากให้สังคมเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว นักวิชาการก็ต้องกลายเป็นนักกิจกรรมหรือนักการเมือง เข้ากระบวนการการเมืองไปเลย”