เอ็นเกจ (ENGAGE) ชื่อนี้เป็นที่คุ้นหูอย่างดีในหมู่คนไทยในสหรัฐที่เห็นด้วยกับการไม่ยอมรับรัฐประหารในประเทศไทย
และต่อต้านรัฐบาลของคณะทหาร คสช. ที่โค่นรัฐบาลเลือกตั้งแล้วตั้งตัวเป็นผู้ปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ
(มาตรา ๔๔ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ๒๕๕๗) มาเป็นเวลาปีกว่า
และจะอยู่ยาวเช่นนี้ต่อไปถึงกลางปี ๒๕๖๐ เป็นอย่างเร็ว
โดยไม่มีหลักประกันหรือทีท่าว่าจะยุติเมื่อไรในอนาคต
เอ็นเกจเกิดมาจากกลุ่มนักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวอเมริกันที่ไปใช้ชีวิตคลุกคลีกับชาวบ้านภาคอีสาน
ร่วมกิจกรรมปกป้องสภาพแวดล้อมชนบทไทยจากการบ่อนทำลายโดยกิจการเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดเลย
มีความใกล้ชิดทั้งในความสัมพันธ์ฉันเพื่อน ญาติพี่น้อง
และในทางอุดมการณ์แห่งสิทธิเสมอภาคของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
กับกลุ่มนักศึกษาดาวดินแห่งจังหวัดขอนแก่น และศูนย์กฏหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
กลุ่มเอ็นเกจนี้นับว่าเป็นผู้จุดประกายให้แก่ชุมชนไทยผู้รักประชาธิปไตยในมลรัฐแคลิฟอร์เนียทั้งภาคเหนือและใต้
แล้วขยายไปยังนครนิวยอร์ค และพอร์ตแลนด์ ออเรกอน
ด้วยการออกไปทำการประท้วงรัฐบาลทหารไทย (ฮุนต้า) และยื่นจดหมายร้องเรียนต่อสถานกงสุลไทย
ณ นครลอส แองเจลีส ให้ปล่อยตัวนักศึกษาและยุติการใช้อำนาจ ม.๔๔ เมื่อมีการจับกุมควบคุมตัวกลุ่มนักศึกษาดาวดินในประเทศไทย
เอ็นเกจยังได้จัดให้มีการชุมนุมด้วยวิธีการสงบและแยบยล เพื่อทวงถามคำตอบจากสถานกงสุลไทยอีกหลายครั้ง
ซึ่งครั้งหลังๆ
มีกลุ่มคนไทยที่เห็นคล้อยกับการเรียกร้องและจุดยืนของเอ็นเกจเข้าร่วมสนับสนุนมากบ้างน้อยบ้าง
จนกล่าวได้ว่ากลุ่มนักศึกษาอเมริกันเอ็นเกจมีความผูกพันแน่นเหนียวกับชุมชนไทยที่ปฏิเสธรัฐประหารและต้องการให้บ้านเกิดกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างรวดเร็ว
ด้วยพลวัตของการดำเนินกิจกรรมเพื่อต่อสู้กับอำนาจอธรรม ที่กดขี่ทำร้ายชาวบ้านรากหญ้าผู้ด้อยโอกาสและถูกกีดกันหยามเหยียด
ซึ่งกลุ่มเอ็นเกจเคยเข้าไปมีส่วนร่วมรณรงค์ในภาคอีสานของไทย แม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้ยึดครองอำนาจหันมาใส่ใจกับภาวะที่ถูกกดขี่เบียดเบียนของชาวบ้านได้
บัดนี้พวกเขาได้นำการต่อสู้ของชาวบ้านไทยไปร่วมผนึกกำลังกับชาวพื้นเมืองของชุมชนนานาชาติ
อันไม่เพียงแต่ประกาศการหาญสู้ให้โลกรู้เท่านั้น
หากแต่ยกระดับการเรียกร้องความเสมอภาคและเป็นธรรมของชาวบ้านไทยไปสู่การรณรงค์ในทางสากลด้วย
ไมเคิล อะกิลาร์ ที่หน้าสถานกงสุลไทย ลอส แองเจลีส |
ตัวแทนชาวบ้านเหล่านี้จะไปพบกันที่ Oaxaca,
México ซึ่งชนพื้นบ้านเชื้อสาย ‘ซาโปเท็ค’ ได้รับภัยคุกคามต่อสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่จากเหมืองแร่สามแห่ง
อย่างหนักหน่วงยิ่งเสียกว่าชาวบ้านนาหนองบง จังหวัดเลย ได้รับจากเหมืองทองของบริษัททุ่งคำ
ชาวบ้านต้านเหมืองในเม็กซิโก |
อีกทั้งประกาศจัดตั้งขบวนการรณรงค์ระดับนานาชาติ ให้สัตย์ปฏิญานความร่วมมือร่วมใจแห่งภราดรภาพชนพื้นบ้าน
ภายใต้การรณรงค์ชื่อว่า ‘Yes to Life and Mother Earth, No to Mining’
อย่างไรก็ดี โดยเหตุที่ ‘เอ็นเกจ’ เป็นกลุ่มนักศึกษาล้วนๆ แม้ว่าจะได้มีการจดทะเบียนเป็นองค์กรไม่ค้ากำไร
(ตามระเบียบกฏหมายมาตรา ๕๐๑ (ซี) ๓ ของสหรัฐ) รณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมไว้ตั้งแต่ปี
ค.ศ. ๒๐๐๑ ก็ไม่มีรายได้หลักเป็นประจำสำหรับดำเนินงานแต่อย่างใด
การรณรงค์แต่ละครั้งจะได้รับการบริจาคจากผู้สนับสนุนเฉพาะคราว
เช่นเดียวกับครั้งนี้
ดังนั้น บนหน้าเว็บ indiegogo.com ซึ่งเป็นสื่อสำหรับกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ
เพื่อชุมชน ได้มีบทความเรื่องราวการประชุมสมัชชาชาวบ้านนานาชาติที่ได้รับผลกระทบจากกิจการเหมืองครั้งนี้
พร้อมทั้งรายละเอียดขอรับการบริจาค โดยตั้งเป้าค่าใช้จ่ายการจัดงานทั้งหมดไว้ที่
๕,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขณะเขียนบทความนี้ ปรากฏว่ามีผู้บริจาคไว้แล้ว ๑,๕๐๕
ดอลลาร์
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะช่วยค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมครั้งนี้
สามารถเข้าไปบริจาคเพิ่มเติมได้ที่ https://www.indiegogo.com/projects/yes-to-life-and-mother-earth-no-to-mining#/