วันเสาร์, ตุลาคม 31, 2558

รีวิว 10 ข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ (หลุมดำที่ สปช.ไม่เสนอ)




ที่มา ประชาไท
Fri, 2015-10-30 17:26

กว่า 1 ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งได้ข้อเสนอสำหรับการปฏิรูปประเทศไทย 505 ข้อ โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และส่งงานไปยังสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สิ่งที่น่าสังเกต สปท. ไม่พูดถึงการปฏิรูปกองทัพเลย ตามที่ iLaw เรียกว่า “หลุมดำ” ทั้งที่กองทัพไทยทั้งขนาด กำลังพล และแสนยานุภาพถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก ผลสำรวจ “Global Firepower 2014” ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการประเมินศักยภาพและแสนยานุภาพทางทหารของ 106 ประเทศทั่วโลก ซึ่ง ASTVผู้จัดการออนไลน์ นำมาเผยแพร่เมื่อ พ.ค.57 ระบุว่า กองทัพไทย อยู่อันดับ 24 ของโลก

และหากย้อนกลับไปเมื่อปี 54 ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหม[1] ได้ดำเนินการจัดทำร่าง "แผนพัฒนาขีดความสามารถกระทรวงกลาโหม ปี 2554-2563" (Modernization Plan : Vision 2020) ซึ่งได้กำหนดความต้องการโครงการพัฒนา และจัดหายุทโธปกรณ์หลักของกระทรวงกลาโหม แบ่งเป็นความต้องการระดับสูงสุด 332 โครงการ วงเงิน 1,307,731.413 ล้านบาทและความต้องการระดับต่ำสุด 301 โครงการ วงเงิน 770,392.413 ล้านบาท ด้วย จึงยิ่งเห็นความสำคัญขององค์กรที่มีบทบาทและใหญ่ที่สุดในสังคมไทยอย่างกองทัพ

ในโอกาสนี้ประชาไทได้รวบรวมข้อเสนอการปฏิรูปกองทัพที่กลุ่มและบุคคลเคยเสนอมาก่อนหน้านี้ 10 ข้อ ที่น่าสนใจดังนี้
1. อยู่ใต้อำนาจของพลเรือน ที่เป็นรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย

ข้อเสนอของ ภัควดี วีระภาสพงษ์ ที่เผยแพร่เมื่อ 26 พ.ค.58 ในบทความ ‘ถ้าข้าพเจ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ข้าพเจ้าจะปฏิรูปกองทัพ’[2] ภัควดี อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า การอยู่ใต้อำนาจพลเรือนไม่ใช่การเสื่อมเกียรติ แต่เป็นการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ประชาชนจะไว้วางใจทหารที่ถืออาวุธได้อย่างไรหากไม่มั่นใจว่าทหารจะยึดโยงกับประชาชนเสมอ? กองทัพไม่ควรหวาดระแวงหรือดูหมิ่นว่าพลเรือนไม่รู้เรื่องการทหาร การอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนเป็นเพียงแค่การยอมรับอำนาจชี้นำของประชาชนเกี่ยวกับทิศทางของประเทศในภาพกว้างเท่านั้น ถึงอย่างไรกองทัพก็ยังเป็นผู้รู้ดีที่สุดเกี่ยวกับการสงครามและการจัดกำลังพล พลเรือนย่อมเคารพกองทัพในแง่นี้ กองทัพก็ควรเคารพประชาชนในแง่ของการบริหารประเทศเช่นกัน

ซึ่งประเด็นนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์[3] ก็กล่าวไว้ เช่นกัน ว่า ที่ขาดไม่ได้ในการปฏิรูปกองทัพก็คือ ความมีอำนาจสูงสุดของพลเรือนเหนือกองทัพ เรื่องนี้สำคัญกว่ายุบหรือไม่ยุบ บก.สส., เกณฑ์ทหารอย่างไร หรือเลิกการเกณฑ์ทหาร, ขั้นตอนการเลื่อนยศเลื่อนขั้น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์ทั้งนั้น แต่เป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่หลักการ สำคัญสุดคือการมีอำนาจสูงสุดของพลเรือนเหนือกองทัพ

กฎหมายสภากลาโหม ถือเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ โดยประเด็นนี้ สุรชาติ บำรุงสุข[4] ได้เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทเมื่อ ก.ค.58 ถึงกฎหมายดังกล่าว ด้วยว่า กฎหมายดังกล่าว ออกหลังรัฐประหารปี 2549 เพราะห่วงว่าฝ่ายการเมืองจะเข้าไปจัดการแทรกแซงกิจการทหาร คนก็ตีความว่านายกฯ มารอบนี้(รัฐบาลยิ่งลักษณ์ปี 56)จะมีล้มกฎหมายนี้ ถามว่ากฎหมายสภากลาโหมที่เป็นกฎกระทรวงที่ออกโดยสภากลาโหม กับกฎหมายที่เป็นระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ศักดิ์ใครสูงกว่า ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมีศักดิ์สูงที่สุดในระบบการบริหารราชการไทย ถ้าเรายอมรับเงื่อนไขทางกฎหมายแบบนี้ นายกฯ เท่ากับมีอำนาจโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงกฎกระทรวงก็ได้ กฎตรงนั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถ้าจำเป็นต้องทำให้ความสัมพันธ์กับรัฐบาลไม่กลายเป็นวิกฤตก็อาจไม่เข้าไปแตะต้อง ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ทำอย่างนั้นมาตั้งแต่ทำหน้าที่ ถามว่าหากอยากไปล้มไปอะไร เอาเข้าจริงทำได้ไหม ตนว่าก็ทำไม่ได้ แต่ถ้าคิดในประเด็นทางกฎหมายก็อย่างที่กล่าวไป ไม่ต้องไปล้ม อยู่ที่ว่านายกฯ กล้าใช้อำนาจไหม ตนเข้าใจว่าโดยบุคลิกและท่าทีรัฐบาลก็คงไม่อยากมีประเด็นที่ต้องชนกับทหาร จะเห็นชัดว่ารัฐบาลไม่ชนกับทหารเรื่องสภากลาโหม ไม่ชนกับทหารเรื่องคดีเสื้อแดงที่เรียกร้องให้จัดการผู้นำทหารที่เกี่ยวข้องกับการล้อมปราบ
2. ลดจำนวนนายพลว่างงาน ลดกำลังพลให้เหมาะสมกับจำนวนประชากร เพราะไทยไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม

จากข้อเสนอของ กานดา นาคน้อย เมื่อ 19 ต.ค. 57 ในบทความชื่อ นายพลว่างงาน[5] ซึ่งเสนอให้ลดจำนวนนายพลและลดกำลังพลให้เหมาะสมกับจำนวนประชากร การเข้าร่วมประชาคมอาเซียนไม่ใช่การเข้าทำสงคราม แต่เป็นการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรบุคคล ถึงเวลาแล้วที่นายพลที่ว่างงานควรโดนปลดประจำการเพื่อคืนทรัพยากรให้ส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นงบรถยนต์ประจำตำแหน่ง งบค่าน้ำมันฟรี งบตั๋วเครื่องบินฟรี ฯลฯ เพื่อให้งบประมาณโดนจัดสรรเพื่อการวิจัยและพัฒนาให้ทัดเทียมกับประเทศในกลุ่มอาเซียน

โดย กานดา ระบุว่า ปัจจุบันกองทัพไทยมีนายพลประมาณ 1,400 คน[6] ส่วนสหรัฐฯซึ่งเป็นมหาอำนาจทางการทหารมีฐานทัพหลายแห่งทั่วโลกกลับมีนายพลทุกเหล่าทัพรวมกันไม่ถึง 1,000 คน[7] เทียบแล้วสหรัฐฯมีจำนวนนายพลเพียง 2 ใน 3 ของจำนวนนายพลไทย สหรัฐฯ มีกำลังพลประมาณ 3 เท่าของกำลังพลของกองทัพไทย เมื่อเปรียบเทียบด้วยจำนวนประชากรแล้ว สหรัฐฯมีประชากรประมาณ 5 เท่าของไทย ดังนั้นสัดส่วนกำลังพลของกองทัพไทยต่อประชากรจึงสูงกว่าสัดส่วนกำลังพลของกองทัพสหรัฐฯเสียอีก
3. ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นใช้วิธีสมัครใจ

ในวงประกายไฟเสวนาหัวข้อ "กระชับพื้นที่กองทัพ ขอคืนพื้นที่ประชาชน" เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 54 จิตรา คชเดช[8] เสนอว่าควรยกเลิก การบังคับชายไทยอายุ 21 ปี เข้าเกณฑ์ทหาร แต่ให้เปลี่ยนเป็นวิธีสมัครใจแทน

เช่นเดียวกับ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล[9] ที่มองว่า การเกณฑ์ทหารเป็นเรื่องที่ล้าสมัย หลายประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปแล้ว หรือมีการเปลี่ยนแปลงระบบการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ พวกเขาได้เรียนรู้ว่าความเต็มใจที่จะเป็นทหารนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าการบังคับ
4. ลดงบประมาณของกองทัพ เอาไปสร้าง 'ความมั่นคงของประชาชน' อย่างสวัสดิการแทน

เมื่อ 28 ก.ย.51 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล และกลุ่มประกายไฟ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมถึงข้อเสนอการเมืองใหม่[10] ขณะนั้น โดยมีข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปกองทัพตอนหนึ่งว่า ควรลดงบประมาณของกองทัพ เพราะประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสภาวะสงคราม ดังนั้นไม่จำเป็นต้องนำงบประมาณจำนวนมากไปใช้สำหรับการส่งเสริมแสนยานุภาพของกองทัพ
5. ย้ายค่ายทหารออกจากเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ไปเป็นรั้วของชาติ

ในแถลงการณ์ร่วมถึงข้อเสนอการเมืองใหม่ข้องต้นยังมีข้อเสนอให้ย้ายค่ายทหารออกจากเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อใช้พื้นที่ดังกล่าวสำหรับสร้างสวนสาธารณะ และศูนย์ฝึกอาชีพให้แก่คนจน
6. ยกสนามกอล์ฟ สนามม้าของกองทัพบก ให้ชุมชนใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะ

จากบทความทุนกองทัพไทย (3) : ที่ดินกองทัพบก ของ กานดา[11] เมื่อวันที่ 1 มิ.ย 58 เสนอว่าสนามกอล์ฟและสนามม้าของกองทัพบกก็ควรยกกรรมสิทธิ์ให้ชุมชนใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะ เช่น ปรับพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะ เพราะการพัฒนาที่ดินไม่ควรเป็นงานของกองทัพโรงเรียนนายร้อยจปร.ไม่ใช่โรงเรียนผลิตนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แต่เป็นโรงเรียนผลิตทหารที่มีหน้าที่ป้องกันประเทศ นอกจากนี้ยุคนี้ไม่มีชาติไหนขี่ม้ารบกันแล้ว ไม่ใช่ยุคอัศวินมีไพร่ในสังกัดไม่ใช่ยุคอัศวินใส่ชุดเกราะขี่ม้ารบกัน ดังนั้นกองทัพบกก็ไม่จำเป็นต้องมีสนามม้าอีกต่อไป
7. ปฏิรูปกระบวนการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์โดยมียุทธศาสตร์ที่แท้จริงรองรับ

สุรชาติ บำรุงสุข เขียนไว้ในบทความ ‘การปฏิรูปกองทัพ : ปัญหาการจัดหายุทโธปกรณ์’[12] เสนอว่าปฏิรูปกระบวนการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์โดยมียุทธศาสตร์ที่แท้จริงรองรับ และขณะเดียวกัน การซื้อก็เกิดจากความต้องการทางยุทธศาสตร์เพื่อตอบสนองต่อโจทย์ความมั่นคงของประเทศในอนาคต ไม่ใช่สนองกระเป๋าของใครในปัจจุบัน
8. ลดภาระงานที่กองทัพทำซ้ำซ้อน เช่น งานบรรเทาสาธารณภัย ควรให้ ปภ. ทำ

เมื่อปี 54 สำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหม ก็ได้ดำเนินการจัดทำร่าง "แผนพัฒนาขีดความสามารถกระทรวงกลาโหม ปี 2554-2563"[13] ซึ่งมีการตั้งงบประมาณในภารกิจช่วยเหลือ และบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นงานที่ซ้ำซ้อนกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งไม่ควรซ้ำซ้อนทั้งภาระงาน งบประมาณและกำลังพล
9. เป็น ‘ทหารอาชีพ’

ก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย.49 มีการพูดถึงความเป็นทหารอาชีพของทหาร ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือ อย่างที่นักวิชาการรัฐศาสตร์ชาวอเมริกาคนสำคัญอย่าง ฮันติงตั้น (Samuel Phillips Huntington) เขียนไว้ใน The Soldier and the State: The Theory and Politics pf Civil-Military Relations. Cambridge: Harvard University Press. ปี 1957 ซึ่งอ้างถึงในบทความ “ว่าด้วยการแทรกแซงการเมืองของ "ชายบนหลังม้า" ที่เขียนโดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เมื่อปลายปี 49 โดยฮันติงตั้น มองว่า "ความเป็นทหารอาชีพ จะไม่ทำให้ทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะทหารในสังคมสมัยใหม่นั้นเป็นนักเทคนิคในการบริหารจัดการความรุนแรงของรัฐ ซึ่งต่างจากทหารเมื่อสองร้อยปีที่แล้วที่เป็นนักรบรับจ้าง หรือทหารของพระราชา.."

ในขณะที่พิชญ์ เองกลับมองว่า "วิธีคิดของฮันติงตั้นวางอยู่บนความเชื่อที่ว่า "ความเป็นทหารอาชีพ" นั้นมีอยู่แบบเดียวคือต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือเป็นกลางทางการเมืองทั้งที่บ่อยครั้งความเป็นทหารอาชีพต่างหากที่ผลักดันให้ทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะเขาจะเชื่อว่าเขาเป็นข้าฯรับใช้ประเทศชาติและองค์อธิปัตย์มากกว่ารัฐบาลที่ปกครองประเทศอยู่" (ดูเพิ่มเติม : 9 สะดุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตอน 2 : ความสัมพันธ์กับกองทัพ[14])
10. ยุบ บก.สส. และกองกำลังส่วนหน้า

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา กษิต ภิรมย์[15] อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้เสนอให้ปฏิรูปกองทัพด้วย โดยยุบกองบัญชาการทหารสูงสุด (บก.สส.) และกองกำลังส่วนหน้า เพราะเกินความจำเป็นและเป็นไปไม่ได้ที่ทั้งสองส่วนนี้จะใหญ่กว่า 3 เหล่าทัพ ส่วนเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน คิดว่าจะพูดถึงแค่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นนั้นไม่พอ การกระจายอำนาจต้องรวมถึงภาคเอกชน ภาคชุมชนและภาคประชาสังคมด้วย

เหล่านี้เป็นเพียงการรวบรวมข้อเสนอการปฏิรุปกองทัพที่สามารถค้นได้ในอิเตอร์เน็ตทั่วไป แต่อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า สปช. กลับไม่มีข้อเสนอการปฏิรูปกองทัพ ซึ่ง iLaw มองว่า ทั้งๆ ที่เรื่องการปฏิรูปกองทัพ เคยปรากฏอยู่ในข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป ชุดของอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งในรายงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ระบุว่า คณะกรรมการยังมิได้ศึกษาจนชัดเจน แต่มีหลักการเบื้องต้น 3 ประการ[16] ได้แก่

1. ทหารต้องยอมรับอำนาจสูงสุดในการกำหนดนโยบายแห่งชาติจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

2. ลดภารกิจที่ไม่ใช่กิจการโดยตรงของกองทัพ โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาททางการเมือง

3. ปรับลดขนาด ตำแหน่ง และยุทโธปกรณ์ ที่ไม่จำเป็น แล้วนำทรัพยากรไปทุ่มเทให้กับเพื่อให้กับภารกิจหน้าที่หลักของกองทัพ



[1] เปิดแผน 10 ปีกองทัพผูกพัน "ล้านล้าน" ชงซื้ออาวุธอื้อ http://www.prachatai.com/node/32916/talk

[2] ภัควดี วีระภาสพงษ์, ถ้าข้าพเจ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ข้าพเจ้าจะปฏิรูปกองทัพ http://www.prachatai.com/journal/2015/05/59480

[3] นิธิ เอียวศรีวงศ์, ปฏิรูปกองทัพ คือสถาปนาอำนาจสูงสุดของพลเรือน http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1424680999

[4] คุยกับสุรชาติ บำรุงสุข : 10 โจทย์ใหญ่กว่า ‘โผทหาร’ สำหรับรมว.กลาโหมใหม่ http://www.prachatai.com/journal/2013/07/47604

[5] กานดา นาคน้อย: นายพลว่างงาน http://www.prachatai.com/journal/2014/10/56086

[6] http://www.freedomhouse.org/report/countries-crossroads/2011/thailand#.VEIKUPldWQw

[7] http://truth-out.org/index.php?option=com_k2&view=item&id=5920%3Athe-pentagons-biggest-overrun-way-too-many-generals

[8] เสนอออกกม.ลงโทษผู้ยึดอำนาจรัฐที่มาจากปชช. http://news.voicetv.co.th/thailand/17650.html

[9] เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, แถลงการณ์ปฏิเสธเกณฑ์ทหาร http://prachatai.org/journal/2015/10/62157

[10] นักศึกษา-แรงงาน เสนอการเมืองใหม่ที่เป็นอิสระจาก "พันธมิตร" ปฏิรูปเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ http://www.prachatai.com/journal/2008/09/18350

[11] กานดา นาคน้อย ทุนกองทัพไทย (3) : ที่ดินกองทัพบก http://www.prachatai.com/journal/2015/06/59565

[12] สุรชาติ บำรุงสุข, การปฏิรูปกองทัพ : ปัญหาการจัดหายุทโธปกรณ์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1437283112

[13] เปิดแผน 10 ปีกองทัพผูกพัน "ล้านล้าน" ชงซื้ออาวุธอื้อ http://www.prachatai.com/node/32916/talk

[14] 9 สะดุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตอน 2 : ความสัมพันธ์กับกองทัพ http://prachatai3.com/journal/2013/07/47880

[15] "กษิต ภิรมย์" มาเเรง จี้ เร่งปฏิรูปกองทัพ แนะยุบทิ้ง บก.สส.-กองกำลังส่วนหน้า http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1423966926

[16] รายงาน: บทเรียนการปฏิรูปความมั่นคงข้อที่สอง ทั่วโลกกำลังปฏิรูปภาคความมั่นคง http://v-reform.org/v-report/security-reform-lesson-2/