ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
updated: 29 ต.ค. 2558
พาณิชย์รับเผือกร้อน 4 ประเทศ "สหรัฐ-อียู-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์" ใช้เวทีทบทวนนโยบายการค้า WTO จี้ไทยแจงกรณีเปลี่ยนฉลากเหล้า-บุหรี่ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทำผู้ผลิตเสียหาย แถมพ่วงข้อกล่าวหาจำนำข้าว ทำราคาตลาดโลกดิ่ง หวั่นถูกฟ้องใน WTO
น.ส.ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในระหว่างวันที่ 24-26 พฤศจิกายนนี้ องค์การการค้าโลก (WTO) จะมีการประชุมเพื่อทบทวนนโยบายการค้า (Trade Policy Review) ในหัวข้อการติดตามตรวจสอบนโยบายและกฎหมายการลงทุนของประเทศสมาชิก สำหรับไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา มีกำหนดทบทวนทุก ๆ 4 ปี ส่วนประเทศพัฒนาแล้วมีกำหนดทบทวนทุก 2 ปี และประเทศด้อยพัฒนามีกำหนดทบทวนทุก ๆ 6 ปี
ในส่วนของประเทศไทยจะมี การจัดทำรายงานนโยบายและกฎหมายการลงทุนออกมา 2 ฉบับ ฉบับแรกจัดทำโดยฝ่ายเลขานุการ WTO กับอีกฉบับจัดทำโดยรัฐบาลไทย รายงานทั้ง 2 ฉบับได้ถูกส่งให้กับประเทศสมาชิก WTO ศึกษา และถามคำถามเกี่ยวกับนโยบาย-การลงทุน-กฎหมาย ที่สมาชิกประเทศอื่น ๆ เห็นว่ายังเป็นอุปสรรค หรือข้อกีดกันทางการค้าอยู่
"ตามหลักแล้ว สมาชิก WTO จะต้องมีนโยบายการค้าเสรีตามความตกลง GATT ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปิดตลาด กฎระเบียบทางการค้าต่าง ๆ รวมถึงการอุดหนุนภาคเกษตร การอุดหนุนส่งออก หากสมาชิก WTO สงสัยว่าการใช้นโยบายการค้าของประเทศใดประเทศหนึ่งอาจขัดต่อหลักการค้าเสรี ของ WTO ประเทศสมาชิกนั้นก็จะมีการสอบถามเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน และเปิดโอกาสให้ประเทศที่ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นกฎเกณฑ์ที่ เกิดขึ้น และอาจจะถูกนำไปสู่กระบวนการร้องเรียนในการระงับข้อพิพาทได้"
นางสาวศิรินารถกล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยปีนี้จะมีการสอบถามหลายประเด็นในเรื่องเกี่ยวกับนโยบาย เศรษฐกิจย้อนหลังไปเมื่อ 4 ปีก่อน โดยประเด็นที่มีสมาชิก WTO ให้ความสำคัญมากที่สุดเป็นกรณีที่ประเทศสมาชิก WTO 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ-สหภาพยุโรป-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ได้ "สอบถาม" ถึงการที่รัฐบาลไทยมีนโยบายให้ปรับเปลี่ยนฉลากบนบรรจุภัณฑ์ ที่รัฐบาลประกาศใช้ใหม่ว่า
1) มีการแจ้งผู้ประกอบการล่วงหน้าอย่างชัดเจนหรือไม่ 2) มีการเว้นระยะเวลาให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวหรือไม่ และ 3) ขอให้ไทยชี้แจงประเด็นที่กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้เผยแพร่ส่วนผสมในสินค้ายา "ทางกรมเจรจาการค้าฯได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมข้อมูลเพื่อนำไปประกอบการชี้แจงเรื่องดังกล่าวแล้ว น่าจะสามารถทำความเข้าใจกับสมาชิก WTO ทั้ง 4 ประเทศได้" น.ส.ศิรินารถกล่าว
นอกจากนี้ประเทศสมาชิก WTO ยังได้แจ้งผ่านคณะกรรมการเกษตร WTO เพื่อสอบถามรัฐบาลไทยในประเด็นการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวของอดีตรัฐบาลยิ่ง ลักษณ์ ชินวัตรด้วย โดยในประเด็นนี้ข้อกังวลของประเทศสมาชิก WTO ก็คือ การรับจำนำข้าวได้ก่อให้เกิดสต๊อกข้าวสารเก่าของรัฐบาลไทยเป็นจำนวนมาก และอาจส่งผลต่อราคาข้าวในตลาดโลก ดังนั้นจะมีคำถามถึงฝ่ายไทยว่า รัฐบาลไทยมีแนวทางดำเนินการอย่างไร โดยฝ่ายไทยต้องชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการสต๊อกข้าว ซึ่งรัฐบาลไทยได้ยืนยันมาโดยตลอดว่า "ไทยไม่มีเจตนาที่จะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวลดลง" เพราะรัฐบาลไทยไม่ได้จะดัมพ์ข้าวออกมา แต่ใช้วิธีการบริหารจัดการสต๊อก แยกข้าวเสียไปใช้ในอุตสาหกรรม "หากไทยบริหารจัดการสต๊อกได้ ไม่กระทบต่อราคาตลาดก็ไม่มีปัญหา"
ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หากจะมีสมาชิก WTO ประเทศใดสอบถามขึ้นมา กรมเจรจาการค้าฯเชื่อว่า คงเน้นไปที่การขอให้ไทยเปิดเสรีมากขึ้น การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น หรือเปิดเสรีในบางสาขา เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศสามารถเข้ามาลงทุนได้ สำหรับประเด็นนี้ไทยได้เตรียมคำตอบไว้ว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ความรอบคอบ เพราะมีทั้งผู้มีส่วนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์
"กระบวนการหลังจากที่ผู้แทนไทยได้ตอบคำถามสมาชิกแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่า ประเทศผู้ร้องเรียน (ผู้ถาม) จะพิจารณาคำตอบของเราอย่างไร ส่วนการยื่นฟ้องต่อ WTO หรือไม่นั้น ถือเป็นสิทธิ์ของประเทศสมาชิก WTO แต่ละประเทศ" น.ส.ศิรินารถกล่าว
มีรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เข้ามาว่า ประเด็นเรื่องการปรับเปลี่ยนฉลากบรรจุภัณฑ์ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ "ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจมากที่สุด"
เพราะสมาชิกทั้ง สหรัฐ-สหภาพยุโรป- ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์กล่าวหาว่า รัฐบาลไทยแจ้งให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนฉลากล่วงหน้าเพียงแค่ 10 กว่าวันก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ และไม่ได้แจ้งชัดเจนว่าต้องระบุข้อมูลอะไรลงไปในฉลากรูปแบบใหม่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน เพราะมีบางรายส่งสินค้าลงเรือมาแล้ว ทำให้เกิดความเสียหายและมีต้นทุนมากขึ้น ซึ่งหากไทยชี้แจงประเด็นนี้ไปแล้ว แต่ประเทศผู้กล่าวหาทั้ง 4 ประเทศยังไม่พอใจ ก็อาจยื่นฟ้องต่อ WTO ได้
ด้านนายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศ สภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการติดฉลากผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ถือเป็นสิทธิ์ที่รัฐบาลไทยสามารถทำได้ เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งประเด็นนี้เอกชนไม่สามารถจะนำมาเป็นเหตุฟ้องรัฐบาลได้ ตามหลักการ Investor State Dispute Settlement (ISDS) ซึ่งเป็นหลักการที่อยู่ภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศหลาย ๆ ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งมีสหรัฐเป็นแกนนำ และน่าจะเป็นบรรทัดฐานของเรื่องนี้ หรือความตกลง FTA ไทย-อียู หรือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน (RCEP) ต่างก็ให้การยอมรับเรื่องของสุขภาพประชาชนเช่นกัน
"คิดว่าประเด็นจำนำข้าวน่ากังวลมากกว่าเรื่องฉลาก เพราะเป็นนโยบายของอดีตรัฐบาล เป็นนโยบายที่ขัดต่อหลักการเรื่องการอุดหนุนใน WTO ซึ่งก่อนหน้านี้สหภาพยุโรปเคยใช้นโยบายลักษณะนี้มาแล้ว และต้องยกเลิกไปในที่สุด" นายบัณฑูรกล่าว