วันพุธ, ตุลาคม 07, 2558

ศาลยุติธรรมอียูตัดสินให้บริษัทไอทีคุ้มครองข้อมูลผู้ใช้ในยุโรปไม่ให้ถูกสอดแนม


ที่มาของภาพประกอบ: System Lock, Yuri Samoilov, 22 March 2014 (CC BY 2.0)/Flickr.com

ที่มา ประชาไท
Wed, 2015-10-07

หลังจากที่มีการเปิดโปงเรื่องโครงการสอดแนมโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน นักกิจกรรมรายหนึ่งก็ฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมยุโรปว่าการที่บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องละเมิดความเป็นส่วนตัว โดยผลตัดสินของศาลระบุให้บริษัทไอทีต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการข้อมูลเพื่อคุ้มครองข้อมูลผู้ใช้ให้ปลอดภัยจากการสอดแนมมากขึ้น

7 ต.ค. 2558 ศาลยุติธรรมยุโรป (European Court of Justice หรือ ECJ) ตัดสินให้การคุ้มครองตัวกลางในแง่สิทธิความเป็นส่วนตัวแบบเดิมไม่ได้ผล โดยถือเป็นการ "ละเมิดหลักการสำคัญในสิทธิขั้นพื้นฐานของการเคารพต่อชีวิตความเป็นส่วนตัว" ซึ่งเป็นสิทธิที่มีการรับรองในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป หมายความว่าเว็บไซต์ต่างๆ ต้องหาวิธีการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ในยุโรปไม่ให้ถูกสอดแนมโดยหน่วยงานอย่างสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) หรือหน่วยงานอื่นๆ

การคุ้มครองตัวกลางดังกล่าวคือการอนุญาตให้บริษัทในสหรัฐฯ "ให้การรับรองตัวเอง" ว่าพวกเขาทำการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ในเวลาที่ต้องดึงข้อมูลจากเซอร์เวอร์ในยุโรป แต่หลังจากมีการเปิดโปงเรื่องการสอดแนมข้อมูลโดยหน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐฯ ทำให้ข้อมูลของชาวยุโรปส่วนหนึ่งอาจจะตกไปอยู่ในมือของบุคคลที่พวกเขาไม่ยินยอมได้ จึงมีผู้มองว่าเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว

คดีนี้เริ่มต้นจากการที่ แม็กซ์ เชร็มส์ นักกิจกรรมด้านสิทธิความเป็นส่วนตัวฟ้องร้องว่าโครงการสอดแนมหลายปฏิบัติการของสหรัฐฯ อย่างเช่นโครงการ 'ปริซึม' (PRISM) ที่ถูกเปิดโปงโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ตั้งแต่ปี 2556 ทำให้การคุ้มครองตัวกลางในแง่การรักษาสิทธิความเป็นส่วนตัวใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป เชร็มส์ร้องเรียนในเรื่องที่เฟซบุ๊คส่งข้อมูลจากสำนักงานในสาขาไอร์แลนด์ที่มีข้อมูลของผู้ใช้อยู่ร้อยละ 83 ให้กับสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ และหน่วยงานข่าวกรองอื่นๆ ของสหรัฐฯ

คำตัดสินของศาลยุติธรรมยุโรปส่งผลให้บริษัทไอทีทั้งในสหรัฐฯ และในประเทศสหภาพยุโรปราว 4,000 บริษัท รวมบริษัทใหญ่ๆ อย่างเฟซบุ๊กและกูเกิลต้องหาวิธีการแบบใหม่ในการส่งผ่านข้อมูลของผู้ใช้

มีหลายคนแสดงความยินดีจากคำตัดสินของศาลยุติธรรมยุโรปหนึ่งในนั้นคือเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ที่ส่งข้อความแสดงความยินดีกับเชร็มส์ผ่านทวิตเตอร์โดยบอกว่าเชร็มส์ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงให้โลกน่าอยู่ขึ้น และคดีนี้แสดงให้เห็นว่าการดักสอดแนมข้อมูลการสื่อสารของผู้คนแบบเหมารวมไม่แยกแยะถือเป็นการละเมิดสิทธิ

เจนส์ เฮนริคเจปเปเซน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการยุโรปของศูนย์เพื่อประชาธิปไตยและเทคโนโลยี (CDT) กล่าวว่าการตัดสินของศาลยุติธรรมยุโรปแสดงให้เห็นว่าควรจะมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการสอดแนมของรัฐบาล แลกบอกอีกว่าการปรับตัวของบริษัทไอทีจะส่งผลกระทบต่อปฏิบัติการสอดแนมอย่างแน่นอน

ศาลยุติธรรมยุโรปยังกล่าวอีกว่าทางการสหรัฐฯ ไม่ให้การช่วยเหลือทางกฎหมายมากพอกับประชาชนชาวยุโรปที่ต้องการเรียกร้องชดเชยทางกฎหมายในกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว ซึ่งถือเป็นการ "ละเมิดหลักการสำคัญในสิทธิขั้นพื้นฐานของการได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย"

ทางด้านเชร็มส์กล่าวว่าการตัดสินในครั้งนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการสอดแนมประชาชนถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานจึงควรมีการเรียกร้องชดเชยตากกฎหมายได้ แต่เชร็มส์ก้ยังคงมองว่าแม้สหรัฐฯ อาจจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อปรับตัวในจุดนี้แต่การที่พวกเขาจะทำตามคำตัดสินและหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเต็มที่คงเป็นไปได้ยาก แม้คดีนี้จะส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ให้บริการเอกชนแต่เชร็มส์ก็กล่าวว่าการคุ้มครองข้อมูลของผู้ใช้ให้ดีขึ้นและพิจารณาการส่งผ่านข้อมูลอย่างถี่ถ้วนขึ้นไม่น่าจะเป็นการขัดขวางใดๆ ต่อผู้บริโภคและผู้ให้บริการ

แดนนี่ โอเบรียน ผู้อำนวยการนานาชาติของมูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Frontier Foundation) กล่าวว่าคดีนี้แสดงให้เห็นว่าโครงการสอดแนมประชาชนของสหรัฐฯ ไปกันไม่ได้กับหลักการคุ้มครองข้อมูลของยุโรป ทำให้ต้องมีการคิดใหม่และจัดการแบบใหม่ในการเก็บข้อมูลจากผู้ใช้ ซึ่งการพิจารณาการส่งผ่านข้อมูลที่ดีขึ้นจะช่วยได้

โอเบรียนบอกว่า "การเก็บข้อมูลในคลังในเชิงภูมิศาสตร์" มีโอกาสถูกสอดแนมหมู่ได้ง่าย ทำให้ตกเป็นเป้าพวกหน่วยข่าวกรองจองรัฐบาลในการมาล้วงข้อมูลผู้ใช้งานไป

ผู้แสดงความยินดีต่อคำตัดสินในครั้งนี้อีกแห่งหนึ่งคือ เรนาตา อวิลา ผู้จัดการโครงการรณรงค์ระดับนานาชาติขององค์กรมูลนิธิเวิร์ลไวด์เว็บ ที่บอกว่าคำตัดสินของศาลเป็นการคำนึงถึงสิทธิพื้นฐานของประชาชนมาก่อนผลกำไร

"ถ้าหากไม่มีการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวที่ใช้การได้ ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ก็อาจจะโรยราและดับสูญไป" อวิลากล่าว "พื้นที่ที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวคือพื้นที่ที่ผู้คนสามารถริเริ่มธุรกิจ ใช้ศึกษาวิจัยข้อมูลในประเด็นที่เป็นความลับทางราชการ หรือใช้พูดคุยสื่อสารกับเพื่อนได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะตกเป็นเป้าการแอบส่องดูอย่างไม่มีหมายค้นจากรัฐบาล"

เรียบเรียงจาก

With Trust Destroyed by Mass Spying, Top EU Court Asserts Need for Privacy Reform, CommonDreams, 06-10-2015 http://www.commondreams.org/news/2015/10/06/trust-destroyed-mass-spying-top-eu-court-asserts-need-privacy-reform