ที่มา เวปที่นี่และที่นั่น
June 10, 2015
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. ออกมาแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการโยนความผิดให้คนอื่นอีกครั้ง
โดยเฉพาะกรณีที่ คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เตรียมที่จะมีการประชุมพิจารณายกเลิก “ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เท่าเทียมกันทั่วประเทศ” แล้วเตรียมที่จะใช้การลอยตัวค่าแรง โดยกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่จังหวัดแทน
ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ จากปาก “นายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหาร” ได้ระบุในทำนองว่า .. ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ..
แต่ดูเหมือน “คำพูด” นี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร จะ “ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิง” กับ “สถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ รายเดือนสะสม ปี 2558 (มกราคม-เมษายน) ที่บันทึกเอาไว้โดย กองความร่วมมือการลงทุนระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI” ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2558 และมีการเผยแพร่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา และมี ข้อมูลส่วนหนึ่งได้เผยให้เห็นว่า ในปี 2555 และปี 2556 ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดค่าจ้าง ได้มีมติเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท นำร่อง 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี และภูเก็ต ซึ่งให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 และให้มีการปรับขึ้นค่าจ่างขั้นต่ำอีก 70 จังหวัดที่เหลือ ให้ครอบคลุมและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 นั้นกลับมีสถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ สะสมมากที่สุดในรอบ 6 ปี (พ.ศ.2552-2557)
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ในปี 2555 ซึ่งเริ่มมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ใน 7 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ตามมติบอร์ดค่าจ้าง กลับมีสถิติการขอลงทุนจากต่างประเทศ มากกว่า 1,400 โครงการ จำนวนเงินลงทุน 605,000 ล้านบาท
และในปี 2556 ซึ่งมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ทั่วประเทศเท่าเทียมกันนั้น สถิติจากกองความร่วมมือการลงทุนต่างประเทศ BOI กลับชี้ให้เห็นว่า มีการขอลงทุนจากต่างประเทศ อยู่ในจำนวนประมาณ 1,200 โครงการ จำนวนเงินลงทุนใกล้เคียงกับตัวเลขมากถึง 505,000 ล้านบาท
ซึ่งสถิติในปี 2555 และปี 2556 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเริ่มการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ นั้นได้ชี้ให้เห็นว่า มีจำนวนยื่นคำขอการลงทุนจากต่างประเทศ ที่มากกว่าในปี 2552 , 2553 และ 2554 อย่างชัดเจน
ยิ่งไปกว่านั้น แม้ในปี 2557 ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2557 ที่ประเทศไทยยังไม่เกิดการรัฐประหารโดยคณะ คสช.ก็ยังคงมีต่างชาติสนใจลงทุนต่อเนื่อง โดยสถิติจาก BOI ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า เฉพาะในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2557 ก็ยังคงมีจำนวนการลงทุนที่มากกว่า 264 โครงการ และจำนวนเงินลงทุนที่มากกว่า 219,932 ล้านบาท
แต่กลับกันเมื่อเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับพบว่า ช่วงเดือน มกราคม-เมษายน 2558 สถิติจากข้อมูลของ กองความร่วมมือการลงทุนระหว่างประเทศ สำนักงาน BOI กลับชี้ให้เห็นว่ามีจำนวนการลงทุนเพียง 112 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนเพียง 7,375 ล้านบาท ซึ่งถือว่า จำนวนโครงการลดลงมากถึงร้อยละ 57.5 และมูลค่าเงินลงทุนลดลงถึงร้อยละ 96.6 ตามลำดับ