5 June 2015
รูธ เบเนดิกต์ อาจารย์วิชามานุษยวิทยา ได้ศึกษาพฤติกรรมของคนไทย ออกมาเป็นหนังสือชื่อเรื่อง Thai Culture and Behavior ส่วนชื่อหนังสือภาษาไทยคือ “วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย” ที่มองคนไทยมีนิสัยชอบซ้ำเติมคนที่พลาดพลั้งจากการถูกหลอกลวงหรือถูกทำร้าย
รูธ เบเนดิกต์ เป็นปรมาจารย์ของวิชามานุษยวิทยา (Anthropology) ที่จัดว่าเป็นวิชาการสาขาใหม่ที่ศึกษาทำความเข้าใจมนุษย์ เพื่อหาคำตอบให้กับคำถามต่างๆ ในเรื่องของมนุษยชาติในประเด็นของวิวัฒนาการของมนุษย์ และสังคมวัฒนธรรมมนุษย์เริ่มปรากฏตัวบนโลกครั้งแรกเมื่อไหร่ ไปจนถึงประเด็นที่ว่าทำไมมนุษย์ในแต่ละสังคมทั่วโลกจึงแตกต่างกันทั้งทางพัฒนาการและวัฒนธรรม
รูธ เบเนดิกต์ เขียนหนังสือเรื่อง Patterns of Culture (1934) ซึ่งหัวใจของหนังสือเล่มนี้คือ “วัฒนธรรม (วิถีการดำเนินชีวิต-ไม่มีดีไม่มีเลวเช่น คนไทยกินข้าว ฝรั่งกินขนมปัง หรือคนไทยเผาศพ คนจีนฝังศพ เป็นต้น) มีแบบแผนสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคมนั้น” หรือจะเน้นให้ชัดเจนก็คือ “วัฒนธรรมก็คือบุคลิกภาพของคนในสังคมนั่นเอง”
รูธ เบเนดิกต์ เป็นสุภาพสตรีผู้ที่ทำการศึกษาเรื่องลักษณะนิสัยประจำชาติของไทยและของญี่ปุ่น สำหรับกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากทั้งประเทศญี่ปุ่นและไทยนั้นประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา ทางกระทรวงกลาโหมอเมริกันก็เลยอยากรู้จักศัตรูของเขาให้ถ่องแท้ เข้าทำนอง “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะทั้งร้อยครั้ง” นั่นแหละ
ผลงานรูธ เบเนดิกต์ เกี่ยวกับลักษณะนิสัยประจำชาติของญี่ปุ่นนั้นเป็นที่แพร่หลายรู้จักกันดีทั่วโลก โดยถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อเรื่องคือThe Chrysanthemum and the Sword-ดอกเบญจมาศกับดาบซามูไร ซึ่งหนังสือเล่มนี้กองทัพสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของนายพลแมคอาเธอร์ ยึดถือเสมือนคัมภีร์ไบเบิลในการปกครองชาวญี่ปุ่นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถือว่าเป็นการยึดครองประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างวิเศษที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว
ส่วนงานของรูธ เบเนดิกต์ เกี่ยวกับประเทศไทยนั้นไม่ค่อยมีใครรู้จักนัก เพราะไม่ได้ถูกตีพิมพ์เป็นเล่มในภาษาอังกฤษ แต่ทางเมืองไทยได้แปลออกมาพิมพ์เป็นภาษาไทยแล้ว โดยพรรณี ฉัตรพลรักษ์ ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2524 โน่น ยังพอหาอ่านได้ตามห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆชื่อเรื่องคือ Thai Culture and Behavior ส่วนชื่อหนังสือภาษาไทยคือ “วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย” งานวิจัยเกี่ยวกับนิสัยประจำชาติคนไทยนี้ รูธ เบเนดิกต์ทำเสร็จแล้วส่งให้กระทรวงกลาโหมอเมริกันตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2486 เธอเสียชีวิตในวันที่ 17กันยายน พ.ศ.2491 รวมอายุได้ 61 ปี สิ่งที่จะต้องระลึกไว้ตลอดเวลาก็คือองค์ประกอบของเวลา เพราะทั้งคนที่ศึกษาและผู้ที่ถูกศึกษาก็เสียชีวิตหมดแล้ว บริบท (Context-สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศทั้งหมดในขณะหนึ่ง) ของประเทศไทยก็เปลี่ยนไปเยอะแยะ อาทิ เมื่อสมัยก่อน(ช่วงที่รูธ เบเนดิกต์ วิจัยนั่นแหละ) ถือว่าโรงแรมเป็นสถานที่อโคจร ผู้หญิงดีๆ เขาไม่เข้าโรงแรมกัน แต่ปัจจุบันนี้ต้องจัดงานแต่งงานในโรงแรมถึงจะโก้ แม้แต่ในแวดวงการศึกษา เช่น พวกมหาวิทยาลัย ยังนิยมจัดงานประชุมทางวิชาการกันที่โรงแรมเลยครับ
ดังนั้น เรื่องที่ว่ารูธ เบเนดิกต์ ค้นพบความจริงเกี่ยวกับลักษณะนิสัยประจำชาติของคนไทย และสิ่งที่ค้นพบความจริงหรือไม่จริง ถูกหรือไม่ถูก จึงไม่ใช่เรื่องที่จะมาพิจารณากันอย่างจริงจัง
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือความแปลกในการมองและมุมมองสังคมไทยของนักวิชาการตะวันตก และวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่น่าศึกษา พูดง่ายๆ ก็คือเทคนิควิธีการวิจัยของเขาน่าจะมีประโยชน์ในการศึกษาวิจัยของบ้านเราด้วย เพราะปัจจุบันนี้เราเน้นเฉพาะเทคนิควิธีวิจัยเชิงประมาณมากจนเกินไป แทบจะเรียกได้ว่าเอะอะอะไรก็ต้องเป็นเชิงประมาณไปเสียหมด พวกที่วิจัยเชิงคุณภาพกลับถูกมองข้ามไปหมดทีเดียว ที่ว่าน่าสนใจนั้นก็เพราะการมองของนักวิชาการต่างชาติแบบเป็นระบบนั้นได้ให้ข้อคิดที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากรูธ เบเนดิกต์ ตัดเรื่องที่เป็นสากลออกไป เช่นที่ว่าคนไทยเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนในสังคมเกษตรกรรมที่มีความอุดมสมบูรณ์ ที่ไหนๆ ที่เป็นสังคมเกษตรกรรมที่มีความอุดมสมบูรณ์ผู้คนก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันทั้งนั้นแหละ ส่วนเรื่องไม่ตรงต่อเวลาก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะในสังคมเกษตรกรรมมีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะไปเร่งรัดนักก็ไม่ได้ ไม่เหมือนการทำงานในโรงอุตสาหกรรมที่ต้องแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบดังนั้น การตรงต่อเวลาแบบเป๊ะๆ จึงไม่มีความจำเป็นสำหรับสังคมเกษตรกรรม สังคมเกษตรกรรมที่ไหนๆ ในโลกก็ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการตรงต่อเวลาทั้งนั้น
สิ่งที่รูธ เบเนดิกต์มองเห็นและวิเคราะห์สรุปออกมาเป็นลักษณะนิสัยประจำชาตินั้น ต้องเป็นลักษณะที่เด่นและแจ้งชัดจริงๆ แบบไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ไม่ใช่เรื่องสากล
ที่น่าพิศวงที่สุดที่รูธ เบเนดิกต์ สรุปว่าเป็นลักษณะนิสัยประจำชาติของไทยก็คือ “คนไทยมีนิสัยชอบซ้ำเติมคนที่พลาดพลั้งจากการถูกหลอกลวงหรือถูกทำร้าย แต่ไม่ค่อยมีความรู้สึกว่าคนที่หลอกลวงหรือทำร้ายคนอื่นนั้นมีความผิดแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังไม่ค่อยจะเห็นว่าการหลอกลวงหรือการทำร้ายบุคคลอื่นนั้นจะเป็นการกระทำที่เลวร้ายอะไรนัก” ดูเหมือนคำพูดที่ติดปากคนไทยที่ว่า “สมน้ำหน้า” จะเป็นแคปซูลที่บรรจุลักษณะนิสัยประจำชาติของคนไทยเอาไว้ทั้งหมด
ซึ่งตรงข้ามกับพวกฝรั่งที่เขามีความเชื่อและการประพฤติปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานว่าต้องช่วยเหลือผู้ที่ถูกหลอกลวงหรือผู้ที่ถูกทำร้าย เพราะเหยื่อที่ถูกหลอกลวงหรือถูกทำร้ายเป็นผู้ที่ควรแก่ความสงสาร สำหรับผู้ที่หลอกลวงหรือทำร้ายผู้อื่นนั้นเป็นการกระทำที่ชั่วร้าย
สำหรับการมองโลกของไทยนั้น ถ้าหากผู้หญิงถูกข่มขืนก็มักจะถูกคนไทยสมน้ำหน้า โดยถูกหาว่าแต่งตัวไม่เรียบร้อย ยั่วผู้ชาย หรือไม่ก็หาเรื่องใส่ตัวโดยไปในที่ไม่ปลอดภัยเอง สรุปก็คือเป็นความผิดของเหยื่อเองที่โง่ ส่วนผู้ชายที่ข่มขืนผู้หญิงดูจะถูกยกย่องว่าเก่งเสียด้วยซ้ำไป
ส่วนถ้าใครถูกหลอกให้เสียเงินเสียทอง เช่น เรื่องตกทอง (ลูกไม้ของการหลอกลวงที่เก่ากะลาแต่ยังใช้ได้ผลอยู่จนทุกวันนี้ คือนักต้มมนุษย์มักจะหลอกคนที่มีทองคำเป็นเครื่องประดับ ว่าเก็บสร้อยทองคำหนัก 5-10 บาทได้ ให้เอาไปขายเอาเงินมาแบ่งกัน แต่ฝากให้ถือเอาไว้ก่อนจะไปตามเพื่อนอีกคน แต่ขอแหวนทองหรือกำไลทองหรือสร้อยทองของเหยื่อที่หนักสัก 2-3 สลึง หรือ 1-2 บาท ไปเป็นประกันก่อน แล้วก็หายไปเลย ส่วนสร้อยทองที่ให้ถือไว้ก็เป็นของเก๊) หรือเล่นไพ่สามใบ (การหลอกให้เล่นไพ่สามใบนั้นจะมีหน้าม้าเล่นกับเจ้ามือ แล้วก็เล่นได้เอาๆ แบบรวยกันง่ายๆ แล้วจึงชักชวนให้เหยื่อเล่นด้วย ก็หมดเนื้อหมดตัวทุกที) ก็จะถูกสมน้ำหน้าว่าโง่เอง
ดังนั้น คนไทยที่ถูกใครโกงหรือถูกหลอกลวงจะปิดปากตัวเองเงียบเพราะกลัวจะถูกซ้ำเติมแบบว่ากลืนเลือดเงียบๆ นั่นแหละ
ถ้าจะแปลงจากที่รูธ เบเนดิกต์ เขียนมาตรงๆ แบบมีกลิ่นนมกลิ่นเนยแรงหน่อยก็ได้ดังนี้ คือ “พฤติการณ์ที่เป็นการหลอกล่อ อาจนำมาใช้ได้โดยไม่มีข้อตำหนิติเตียน และเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็อาจใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ความไม่รู้ ความละโมบของฝ่ายตรงข้าม เช่นเดียวกับภาษิตของคนไทยที่ว่า หนามยอกให้เอาหนามบ่ง และเข้าเมืองตาหลิ่วให้หลิ่วตาตาม ความสนใจของคนไทยมุ่งไปที่การเยาะเย้ยคนที่ถูกหลอกล่อ ไม่ใช่การตำหนิวิธีการ”
ครับ! พอมาทบทวนงานวิจัยเก่ากะลาของคนที่ตายไปแล้วร่วม 70 ปี ก็เลยไม่มีข้อกังขาอะไรกับการที่คนไทยจำนวนมากแสดงออกถึงความโกรธ เกลียด เคียดแค้นชาวโรฮีนจาอพยพและผู้สื่อข่าวชาวไทยที่รายงานข่าวเรื่องนี้
Source :
หนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน : 3 มิถุนายน 2558