อ่า พวกนักประชาธิปไตยที่เรียกหาประชามติน่ะ เดี๋ยวได้
แต่ไม่ใช่ประชามติเพื่อไม่เอาร่าง รธน. ฉบับ ‘กูรูปื๊ด’ ของขึ้น คนที่บอกว่าบ้านเมืองยังขัดแย้งเพราะผู้นำการเมืองรุ่น ๑๔ ตุลาฯ หรอกนะ
(http://www.dailynews.co.th/politics/326404)
แต่จะเป็นประชามติถามประชาชน ว่ายืดเวลาปฏิรูปก่อนเลือกตั้งออกไปอีกสองปีดีไหม
ตามคำอธิบายของวันชัย (สอนศิริ) ทนายนักปฏิรูป (ต้อง) ก่อนเลือกตั้ง คนดังว่า “เกิดจากสปช.ไปรับฟังความคิดเห็นการปฏิรูปประเทศและการร่างรัฐธรรมนูญของ ประชาชนทั่วประเทศ มีเสียงสะท้อนส่วนใหญ่ว่าไม่จำเป็นต้องรีบเลือกตั้ง ให้ปฏิรูปเสร็จก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง”
ฉะนั้น วันชัยบอกว่า “การเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าวต้องมาจากภาคประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศต้องแสดงออกมา โดยการล่ารายชื่อหรือใช้วิธีใดๆ เพื่อเป็นเสียงสะท้อนว่า คนส่วนใหญ่ต้องการให้นายกฯอยู่ต่ออีก ๒ ปี”
เห็นมั้ย มันเชื่อมโยงกันอยู่ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ กับ ‘นายกฯ อยู่ต่อ’ ซึ่งไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. ตัวเก่ง คนที่ไม่อยาก ‘ชง’ เรื่องนี้จนเนื้อเต้น ก็เห็นด้วยว่า ‘ประชาชน’ ต้องทำกันเอง ตนแค่ยินดีเป็นไปรษณีย์ให้ ด้วยนัยยะว่า หามาให้ครบสามหมื่นละกัน
ครั้นเมื่อถามทั่นรองฯ วิษณุ (เครืองาม) ว่ายืดดีไม่ยืดดี ทั่นบอกว่าช้าก่อนไม่อยากถูกโยงกับ สปช.ไพบูลย์ แต่ “เรื่องการต่ออายุของรัฐบาลเพื่อทำการปฏิรูปนั้นสามารถทำได้ แต่สมควรหรือไม่ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาไตร่ตรองในขณะนี้ จะได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่ ต้องมาคิดกันอีกที”
(http://www.thairath.co.th/content/503509)
เหตุนี้จึงมีแคมเปญกันคักคลั่กตามสื่อโซเชียลสองสามแห่ง อย่างเช่นที่ให้ ‘ลงชื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำงานต่ออีก ๔ ปี’ กับที่บอกว่า ‘สนับสนุนลุงตู่ให้อยู่ต่อ’
(http://www.isranews.org/isra…/…/39082-bigtu_8dfd8328_01.html )
หนุนด้วยโพลคนเน็ต อย่าง kapook.com จัดการสำรวจคนเข้าใช้กว่าสี่พัน ถามว่าให้บิ๊กตู่อยู่ต่ออีกสองปีดี หรือว่าให้อยู่แค่โร้ดแม็พหนึ่งปี ปรากฏว่าตั้ง ๘๗ เปอร์เซ็นต์บอกอยากได้สองปี
กับอีกโพลมาเร็วทันท่วงที ‘ดุสิตโพล’ เจ้าประจำออกผล (ผลิดอกมานานแล้ว) ว่าประชาชนที่ถูกสำรวจ ๗๗ เปอร์เซ็นต์เห็นชอบยืดเวลาปฏิรูปไปจนเสร็จก่อนมีเลือกตั้ง “คาดว่าจะใช้เวลาสองปี” พอดีกัน
(http://www.thairath.co.th/content/503544)
ตอนนี้เลยมีข้อถกเถียง ‘สองปีดีไม่ดี’ กันเปรอะ พวกเห็นดีบอกว่า “ดีคะ ปท. เงียบสงบดี ไม่มีค่อยมีคนกล้าแหกกฎ เศรษฐกิจก็ปล่อยไปตามกลไก ตอนนี้ก็แย่หน่อยตกกันไปทุกที่ ไม่ใช่เฉพาะไทย...ขออีก ๒ ปี” (เก็บมาจากเว็บ ขอไม่เจาะจงตัวผู้เขียน)
มิใย คสช. เริ่มเอาใจนายทุน กระทรวงแรงงานแถลงว่าปีหน้าจะกลับไปใช้อัตราค่าแรงตามสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพตามเดิม ก็คือยกเลิกอัตราค่าแรงขั้นต่ำวันละ ๓๐๐ บาทนั่นละ
ถ้าถาม กานดา นาคน้อย นักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐท่านหนึ่ง เธอเห็นว่า “ฉันคิดว่าค่าแรงไทยขั้นต่ำควรปรับให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ คนรายได้ต่ำมีอัตราการออมต่ำกว่าคนรายได้สูง การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะยกระดับกำลังซื้อในประเทศ และจะช่วยลดการพึ่งพิงภาคส่งออกในอนาคต
การยกเลิกค่าแรงขั้นต่ำ ๓๐๐ บาทเป็นนโยบายที่เอาเปรียบแรงงานและส่งเสริมให้ผู้ส่งออกไม่พยายามยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพสินค้า นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ตลาดทุนได้ส่วนแบ่งจากการผลิตในระดับสูงต่อไป”
อย่างนี้ดูเหมือนจะไม่เพียงเศรษฐกิจปล่อยไปตามกลไกซะแล้ว แต่ปล่อยตามใจผู้ยึดอำนาจน่ะใช่กว่า
ส่วนที่ว่า ‘ประเทศสงบดี’ นั่นคงมายาคติสินะ สงบด้วยอำนาจกดขี่อาจดีสำหรับคนที่ยอมหงอ แต่สำหรับคนที่รับไม่ได้ ไม่สงบแน่
ดูแต่คำปรารภของประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทย (FCCT) โจนาธาน เฮ้ด ให้สัมภาษณ์ iLaw เนื้อหาสะท้อนอารมณ์หดหู่สิ้นดี
“คสช. อาจจะสั่งปิด FCCT พรุ่งนี้เลยก็ได้ ผมก็คาดเดาไม่ได้เหมือนกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราไม่ได้อยากเซ็นเซอร์ตัวเองเลย แต่ก็มีหลายเรื่องในประเทศนี้ที่เราต่างก็รู้ว่าเราไม่สามารถพูดถึงได้ ทุกคนในประเทศไทยต่างต้องเซ็นเซอร์ตัวเองทั้งนั้น นี่ไม่ใช่ประเทศที่มีเสรีภาพในการพูด”
หรือว่าจะดูภาพข้อความของประวิตร โรจนพฤกษ์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโสเครือเนชั่นก็ได้
“ส่วนใครไม่ต้องการ และแสดงออกในที่สาธารณะ ก็ถูกจับ”