วันเสาร์, มิถุนายน 06, 2558

คสช.จะอยู่ยาว? เผย “ดัชนีส่งออก” ก.พาณิชย์ เมษา’58 ตกฮวบ ทั้ง ข้าว-ยาง-อาหารทะเล หดตัวหนัก



ทีมา เวปที่นี่และที่นั่น
June 5, 2015

การเปิดเผยข้อมูลล่าสุด ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558 ได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2558 โดยพบว่า ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 75.6 ซึ่งเป็นการลดลงจากเดือนเมษายนที่ระดับ 77.6 รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจ,โอกาสการหางานทำ ,ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ปรับตัวลดลงทุกดัชนีโดยเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และเป็นความเชื่อมั่นที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 11 เดือน

นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง มีสาเหตุมาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพี ในปี 2558 เหลือร้อยละ 3-4 จากเดิมร้อยละ 3.5-4.5 สะท้อนว่าผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้า รวมทั้งราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นขณะเดียวกันราคาสินค้าเกษตรกลับยังอยู่ในระดับต่ำ

ซึ่งสอดคล้องอย่างยิ่งกับ รายงาน “ดัชนีชี้ทิศทางเศรษฐกิจ” ที่ กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ได้มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 และ รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไตรมาสที่ 1 ปี 2558 (เดือนมกราคม – มีนาคม 2558) ที่เผยแพร่โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งชี้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทั้งผู้บริโภค นักธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม “ขาดความเชื่อมั่น” จนกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

ล่าสุด “กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์” ได้จัดทำ “รายงานวิเคราะห์ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของไทย เดือนเมษายน 2558” ซึ่งได้มีการสรุปผลและเผยแพร่เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ระบุว่า ดัชนีชี้วัดภาวะการส่งออก-นำเข้าของไทยในเดือนเมษายน 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตัวเลขดัชนีราคาส่งออกของไทยในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวลดลง จากการลดลงของทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมและหมวดสินค้า อุตสาหกรรมการเกษตร

สำหรับ “ตัวเลขมูลค่าการส่งออกของไทยในภาพรวม” เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนยังคงปรับตัวลดลง โดยเป็นผลมาจากการหดตัวของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร ได้แก่ ยางพารา ข้าว และอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก น้ำมัน สำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และรถยนต์นั่ง

โดย “ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนเมษายน 2558” เท่ากับ 97.0 (เดือนมีนาคม 2558 เท่ากับ 97.0) ดัชนีไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยหมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 0.8 (ข้าว ยางพารา ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง กุ้ง ไก่) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลงร้อยละ 0.5 (น้ำตาลทราย น้ำผลไม้ เนื้อสัตว์และของปรุงแต่งที่ทำจากเนื้อสัตว์) และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 0.1 (น้ำมันสำเร็จรูป)

ซึ่ง “ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนเมษายน 2558 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน” ลดลงร้อยละ 1.9 (เดือนมีนาคม 2558 ลดลงร้อยละ 1.9) จากการลดลงของดัชนีราคาส่งออกทุกหมวดสินค้า โดยหมวดสินค้าแร่และ เชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 9.9 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 5.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลง ร้อยละ 1.3 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.9

ในส่วนของดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนเมษายน 2558 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ1.9 จากการลดลงของทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 9.9 (น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซปิโตรเลียมเหลว) หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 5.3 (ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กุ้ง) โดยราคา ยางพาราที่ลดลง เนื่องมาจากความต้องการซื้อในตลาดปัจจุบันชะลอตัว โดยเฉพาะการชะลอการนำเข้าจากประเทศจีนตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ขณะที่ปริมาณสต๊อกยางพารายังมีเหลือเพียงพอ หมวดสินค้า อุตสาหกรรมการเกษตร ลดลงร้อยละ 1.3 (น้ำตาลทราย ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์) และหมวดสินค้า อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.9 (เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ทองคำ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า) มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนเมษายน 2558 มีมูลค่า 548,460.9 ล้านบาท หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.5 และการส่งออกในรูปเงินเหรียญสหรัฐ มีมูลค่า 16,900.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 1.7 ปัจจัยหลักเป็นผลมาจากการหดตัวของหมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 3.9 สินค้าที่การส่งออกหดตัว ได้แก่ ยางพารา ขณะที่อุปสงค์ยางพารา ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร รวมทั้งการส่งออกข้าวและอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปยังคงมีการหดตัวเช่นเดียวกัน