วันเสาร์, สิงหาคม 02, 2557

ปิยบุตร แสงกนกกุล: รูปแบบของการเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย


ที่มา ประชาไท Blogazine

ใน "La transition constitutionnelle en Grèce et en Espagne" (การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญในกรีซและสเปน) วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ Georges Kaminis เสนอต่อมหาวิทยาลัย Paris I เมื่อปี 1989 ได้สรุปและเสนอรูปแบบการเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญไว้ 3 รูปแบบ ดังนี้

1. การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญโดยความยินยอมของเผด็จการ

เช่น ความพยายามของปาปาโดปูลอสในปี 1973 ในกรีซ แต่ไม่สำเร็จ, กษัตริย์ฆวน คาร์ลอส ของสเปนริเริ่มการยกเลิกระบอบฟรังโก้และเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตยในปี 1976, เผด็จการทหารของตุรกี ทำรัฐธรรมนูญ 1982

2. การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญโดยการทำลายรัฐธรรมนูญเผด็จการแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยปริยาย

แบ่งเป็น

2.1. การทำลายรัฐธรรมนูญเผด็จการผ่านการใช้และการตีความของศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่พยายามใช้และตีความให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเผด็จการสิ้นผลไปโดยปริยาย ทีละเรื่อง ทีละมาตรา

2.2. การทำลายรัฐธรรมนูญเผด็จการผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเผด็จการ โดยเข้าไปแก้บทบัญญัติสำคัญอันเป็น "แก่น" หรือ "หัวใจ" ของรัฐธรรมนูญเผด็จการ อาจเรียกได้ว่า แก้รัฐธรรมนูญที่ส่งผลทำลายรัฐธรรมนูญ

เช่น กฎหมายปฏิรูปการเมืองของสเปนในปี 1977 เปิดทางให้มีการทำรัฐธรรมนูญใหม่

3. การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญโดยทำลายรัฐธรรมนูญเผด็จการแบบเปิดเผยแจ้งชัด

แบ่งเป็น

3.1. การประกาศทำลายรัฐธรรมนูญเผด็จการ โดยให้มีผลสิ้นสุดลงนับแต่ประกาศ

เช่น การปฏิวัติคาร์เนชันโปรตุเกส ในปี 1974 ประกาศให้ระบอบซาลาซาร์สิ้นสุดลง

3.2. การประกาศทำลายรัฐธรรมนูญเผด็จการ โดยให้มีผลย้อนหลังกลับไปเสมือนว่ารัฐธรรมนูญเผด็จการและระบอบเผด็จการไม่เคยปรากฏขึ้นในระบบกฎหมายมาก่อน

เช่น ฝรั่งเศส ในปี 1944 ประกาศลบล้างระบอบวิชี่, อิตาลีในปี 1945 ประกาศลบล้างสาธารณรัฐสังคมอิตาลีที่เกิดขึ้นปี 1943-1945, กรีซ ในปี 1974 ประกาศลบล้างระบอบเผด็จการทหาร

(รูปแบบที่ 3.2. นี้ คณะนิติราษฎร์นำมาเป็นต้นแบบการลบล้างผลพวงรัฐประหาร และเห็นว่าเหมาะสมกับการทำลายระบอบเผด็จการมากที่สุด)

...

การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญทั้ง 3 รูปแบบ เป็นการวิเคราะห์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ส่วนเหตุปัจจัยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ ปัจจัยบังคับให้สังคมยอมรับว่าต้องมีการเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องทางการเมือง

ปัจจัยเหล่านั้น ก็เช่น การลุกขึ้นสู้ของประชาชน, ความขัดแย้งภายในของเผด็จการ, เผด็จการปรับตัวไม่ได้จนต้องตายไป, สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ, แรงกดดันจากประชาคมโลก, สงครามกลางเมือง, การตายของผู้เผด็จการ ฯลฯ

...

สำหรับการเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญในประเทศไทยนั้น ไม่มีการเปลี่ยนผ่านจากรัฐธรรมนูญเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์ อาจมีใกล้เคียงอยู่บ้างในหลัง 14 ตุลาคม 2516 นำไปสู่รัฐธรรมนูญ 2517 แต่แล้วก็ถูกเอากลับคืนไปอีก

การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญในไทย เป็นการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการไปเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบบ้าง ไปเป็นเผด็จการซ่อนรูปในประชาธิปไตยบ้าง

การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2557 2558 2559 ก็ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการไปสู่ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสมกับสภาพสังคมของไทย" (ถ้อยคำตามมาตรา 35)

แล้วการเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญจากเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตยในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้เมื่อใด มีเหตุปัจจัยใดบังคับให้ต้องมีการเปลี่ยนผ่าน และจะใช้การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญในรูปแบบใด

ต้องติดตามต่อไปในอนาคต และหวังว่าช่วงชีวิตของเราคงจะทันได้เห็น