เรื่อง กรุงเทพธุรกิจ
กระทรวงคลังเปิดผลศึกษาแผนขึ้นเงินเดือนข้าราชการพนักงานราชการ ลูกจ้าง และผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เผยใช้งบเกือบ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี จากจำนวนผู้ที่เข้าข่ายได้เฮ 2.7 ล้านคน เตรียมเสนอนายกฯคนใหม่เคาะสรุปอัตราการปรับระหว่าง 7% หรือ 8% คลังหวั่นแหล่งที่มาของเงิน เหตุยังจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าแสนล้าน
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนข้าราชการว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้จัดทำข้อสรุปเกี่ยวกับวงเงินที่จะใช้สำหรับการปรับขึ้นเงินเดือนตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากนี้คงต้องรอนโยบายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ว่าจะประกาศให้ขึ้นเงินเดือนอัตราใด และคงต้องติดตามดูว่าจะเป็นเมื่อใด
ทั้งนี้ การขึ้นเงินเดือนนั้นจะมีอยู่ 3 ส่วน คือ 1.ปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำชั้นผู้น้อย 2.ปรับเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพให้แก่ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ และ 3.ปรับเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 หน่วยงานที่ร่วมหารือเรื่องนี้ ได้เสนอให้ปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนในปีงบประมาณ 2558 ในอัตรา 8% โดยเทียบเคียงจากดัชนีราคาผู้บริโภคปีปัจจุบันที่อยู่ระดับ 7.2%
แหล่งข่าวเผยต่อว่า การปรับขึ้นเงินเดือนครั้งนี้มีกลุ่มข้าราชการ ลูกจ้าง และข้าราชการเกษียณอายุ ได้รับประโยชน์รวม 2.7 ล้านคนประกอบด้วย ข้าราชการ 1.7 ล้านคน ลูกจ้างประจำ 1.61 แสนคน พนักงานราชการ 2.19 แสนคน ข้าราชการเกษียณที่รับเบี้ยหวัดบำนาญอีก 6.12แสนคน
ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางประเมินงบประมาณที่จะใช้เปรียบเทียบกัน โดยหากปรับเงินเดือนกลุ่มดังกล่าวทั้งหมดในอัตรา 7% ต้องใช้งบเดือนละประมาณ 4,000 ล้านบาท และหากปรับขึ้น 8% จะใช้งบเดือนละ 4,700 ล้านบาท ปัจจุบันค่าใช้จ่ายเงินเดือนอยู่ที่เดือนละ 58,500 ล้านบาท
"ถ้าปรับเพิ่ม 7% จะใช้งบปีละ 48,000 ล้านบาท หากกำหนดปรับขึ้นเดือน เม.ย.ใช้เงินปีแรก 24,000 ล้านบาท หากปรับขึ้น 8% ใช้เงินปีละ 56,400 ล้านบาท ถ้าขึ้นช่วง เม.ย.ใช้เงิน 28,200 ล้านบาท" แหล่งข่าวระบุ
สำหรับแนวทางการปรับเพิ่มค่าครองชีพนั้น แหล่งข่าวบอกว่า คสช.ต้องการให้ปรับเพิ่มสำหรับข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวทหารกองประจำการที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 9,000-12,285 บาทต่อเดือน เพิ่มค่าครองชีพให้เป็น 2,000 บาท จาก 1,500 บาท หากใครที่มีเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่ถึง 10,000 บาท (เดิม 9,000 บาท) ให้เพิ่มค่าครองชีพขึ้นจนถึง 10,000 บาท
ตามแนวทางดังกล่าว มีกลุ่มข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และทหารกองประจำการอยู่ในข่ายที่จะได้รับค่าครองชีพนี้ประมาณ 3.7 แสนรายแบ่งเป็น กลุ่มข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร ลูกจ้างประจำที่จะได้รับค่าครองชีพเพิ่มจำนวน 1.2 แสนคน ทหารกองประจำการ 2.49 แสนคน ซึ่งคาดว่าใช้งบประมาณปีละกว่า 2,370 ล้านบาท หากไม่สามารถปรับขึ้นได้ทันทีในเดือน ต.ค.นี้ โดยไปปรับในเดือน เม.ย.ปีหน้า จะใช้งบประมาณ1,180 ล้านบาท
"คงต้องอยู่ที่นโยบายของว่าที่นายกรัฐมนตรีว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร รวมถึงการพิจารณาเพิ่มเงินเดือนข้าราชการที่รับเบี้ยหวัดบำนาญถ้าไม่ขึ้นในกลุ่มนี้จะลดงบประมาณปีละ 8,000 ล้านบาท ซึ่งการปรับขึ้นเงินเดือนค่าครองชีพทั้งหมดใช้เงินเกือบ 6 หมื่นล้านบาท ต้องดูว่าจะนำเงินจากส่วนไหนมาจ่าย เพราะขณะนี้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลยังต่ำกว่าเป้าหมายกว่า 1 แสนล้านบาท" แหล่งข่าวระบุ
ooo
"เราไม่อยากให้ท่านต้องเสียเวลาเดินทางมา และไม่ได้อะไรกลับไป เพราะเรายังไม่มีเงินให้ท่าน"