ooo
บทสรรเสริญศาลไทย
-----------------------
ชีวิตไทยคล้ายสัตว์รัฐสั่งฆ่า
ดังหมูหมากลางพาราประชาเห็น
เหี้ยสั่งฆ่าห่าสั่งฟัดชัดประเด็น
ศาลจึงเป็นเช่นห่าเหี้ยเขี่ยคดี
____กวีศรีมหาชน____
28สิงหา57
*แต่งในโอกาสทีศาลไทยสั่งจำหน่ายคดีที่อภิสิทธิ์กับสุเทพสั่งทหารให้ฆ่าประชาชนในเหตุการพฤษภาเลือด2553และหนึ่งในผู้ร่วมลงมือคือหัวหน้าคสช.
ooo
สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน: ไม่มีคดี 99 ศพ
ที่มา มติชนออนไลน์
บางคนอาจจะได้คำตอบแล้วว่า ทำไม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งขณะนี้ห่มเหลืองเป็นพระสุเทพ รวมไปถึงคนแวดล้อมในสังกัดประชาธิปัตย์ จึงพูดมาตลอดว่า ไม่ขอรับการนิรโทษกรรมในคดีที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะคดี 99 ศพ
คนเหล่านี้ยืนยันตลอดว่า พร้อมจะต่อสู้คดี ถ้าผิดจริงก็พร้อมจะติดคุก
เช้าวันที่ 28 สิงหาคม คงมีคำตอบแล้วว่า ทำไมเขาจึงกล้าพูด
เช้าวันที่ 28 สิงหาคม เป็นวันที่อภิสิทธิ์และพระสุเทพ รวมทั้งทีมกฎหมายของประชาธิปัตย์ มีความสุขที่สุด
เพราะศาลอาญา มีคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ นายอภิสิทธิ์และพระสุเทพเป็นจำเลย
ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุม นปช.เมื่อปี 2553
หรือที่เรียกกันว่าคดี 99 ศพ
โดยคำพิพากษาศาลอาญาระบุว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 2 ที่ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริง ทำให้มีผู้เสียชีวิต เป็นการออกคำสั่งในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ
แต่การปฏิบัติต้องทำไปตามที่กฎหมายบัญญัติและไม่เกินกว่าเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะไม่ใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนปืนจริง การใช้อำนาจของจำเลยทั้ง 2 จึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ และผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่
ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์จึงพิพากษายกฟ้อง
ฟังคำพิพากษาจบ คนกลุ่มหนึ่งรู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอก
แต่ญาติมิตรของประชาชนผู้ร่วมชุมนุมที่ล้มตายหลายสิบศพ ย่อมรู้สึกตรงกันข้าม
ผลจากคำพิพากษานี้ เท่ากับว่า คดี 99 ศพในส่วนที่เป็นคดีอาญา ข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
จะตกไปทันที
ดังนั้นที่ต้องรอดูต่อไปก็คือ สำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งเป็นโจทก์ ต้องดำเนินการยื่นอุทธรณ์ เพื่อยืนยันว่าเป็นคดีความผิดทางอาญา ไม่ใช่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
พร้อมๆ กับญาติพี่น้องของผู้ตายส่วนหนึ่งที่ยื่นขอเป็นโจทก์ร่วม คงยื่นอุทธรณ์เช่นกัน
แต่หากการอุทธรณ์ไม่เป็นผล
คดีจะต้องส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช.เพื่อดำเนินการสอบสวนต่อไป
รับแล้วจะรวดเร็วเหมือนคดีที่ฟากของพวกยิ่งลักษณ์หรือไม่ ยังไม่รู้
หรือจะเหมือนคดีอื่นของคนชื่ออภิสิทธิ์ที่อยู่ในมือ ป.ป.ช. ก็คือติดน้ำท่วมไม่เลิกหรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป
อีกทั้งสุดท้าย ถ้า ป.ป.ช.ชี้ว่าไม่มีมูล ก็เป็นอันจบ คนที่ตายไป 99 ศพก็จบชีวิตไปโดยไม่มีใครต้องรับโทษ
หรือถ้า ป.ป.ช.ชี้ว่ามีมูลความผิด ก็ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง
แต่จะเป็นการฟ้องตามมาตรา 157 คือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อหาเปลี่ยน โทษเปลี่ยน
แต่ที่สำคัญคือ จะไม่มีคดีฆาตกรรม 99 ศพ มีแค่คดีผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
(มติชนรายวัน 29 สิงหาคม 2557)
ooo