วันศุกร์, สิงหาคม 29, 2557

“ทหารนำการเมือง” ยุทธศาสตร์ความมั่นคงยุค “ตู่1”


ที่มา Insight Foundation

ทันทีที่ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แน่นอนว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ย่อมตกอยู่ท่ามกลางความคาดหวังของสังคม โดยเฉพาะผู้คนจำนวนมากหวังจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นทั้งหัวหน้าคสช.และผบ.ทบ.เข้ามาดูแลงานด้านความมั่นคงเป็นพิเศษ ซึ่งก็ถือว่าเป็นงานถนัดของทหารและเมื่อย้อนดูประสบการณ์ชีวิตของ พล.อ.ประยุทธ์ แล้วยิ่งน่าสนใจเพราะเมื่อครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ครองตำแหน่งเสนาธิการทหาร ท่านเคยลงทุนทำวิจัยด้วยตัวเองเรื่อง กองทัพไทยกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ (Non-Traditional Threats)

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่น 20 ปีการศึกษา 2550-2551 จากการศึกษาครั้งนั้นพอจะมองเห็นว่าในมิติด้านความมั่นคงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ มีแนวคิด(concept) อย่างไร ซึ่งอาจจะสะท้อนออกมาเป็นนโยบายของรัฐบาล “ตู่ 1” ก็เป็นไปได้

เมื่อเปิดแฟ้มงานวิจัยชิ้นนี้ พบว่าเริ่มต้นท้าวความถึงแนวคิด “ความมั่นคง” ยุคเก่า คือหลังสงครามเย็น ส่วนใหญ่จะเป็นภัยคุกคามตามแบบ (Conventional threats) ที่กระทำโดยรัฐต่อรัฐ ต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของรัฐ ซึ่งเป็นภัยคุกคามทางทหาร (Miliary threats) นั้นได้ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ภัยคุกคามรูปแบบอื่นที่มิใช่ภัยคุกคามทางทหาร (Non-Traditional Threats) กลับมาปรากฏขึ้นให้เห็นโดยทั่วไปและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขยายวงกว้างไปทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดๆที่ได้ให้คำนิยามแบ่งประเภทของภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ชัดเจน จนกระทั่งประมาณต้นปี 2550 หน่วยงานด้านความมั่นคงได้มีการตื่นตัวอย่างสูงในความพยายามที่จะกำหนดกรอบแนวคิดเรื่องภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ดังนั้นสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)จึงกำหนดประเภทของภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไทย 9 ประการคือ

1. ความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคม

2. ความไม่เชื่อมั่นต่อระบบและสถาบันการเมือง

3. การขาดการสมดุลของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

4. ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและโรคระบาด

5. ความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

6. การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ

7. แรงงานต่างด้าวและผู้หลบหนีเข้าเมือง

8. ยาเสพติด

9. ความยากจน

จะเห็นได้ว่าภัยคุกคามรูปแบบใหม่นี้มีความมุ่งหมายที่แคบลงและเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยมากกว่าตะวันตก

นอกจากนี้ในงานวิจัยของ พล.อ.ประยุทธ์ มีการสรุปเอาไว้ด้วยว่าปัญหาความยากจนจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ โดยเห็นว่าปัญหาความยากจนจะกระทบโดยตรงต่อสังคม ทำให้สังคมอ่อนแอ เพราะยากจนและด้อยโอกาสในสังคมมักจะไม่ได้รับความยุติธรรมและขาดโอกาส โดยเห็นว่าความยากจนสามารถแก้ไขด้วยการให้โอกาสและการปลดปล่อยศักยภาพของตน ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขอย่างยั่งยืนและประชาชนสามารถช่วยตนเองได้

น่าสังเกตว่างานวิจัยดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้เสนอให้กองทัพเข้ามามีบทบาทในการดูแลปัญหาสังคมมากขึ้น โดยอ้างบทบาทของสหรัฐฯว่ากองทัพสหรัฐฯมีส่วนอย่างยิ่งในการป้องกันภัยความมั่นคงที่คุกคามสหรัฐฯหลังสงครามเย็น

“สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีการบริหารจัดการงานความมั่นคงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในเรื่องความมั่นคงภายในที่สำคัญคือกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ และกระทรวงยุติธรรม โดยมีกองทัพให้การสนับสนุนตามที่หน่วงงานที่รับผิดชอบร้องขอรูปแบบการช่วยเหลือจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและผลกระทบของภัยคุกคาม ครอบคลุม โดยกองทัพสหรัฐฯจะให้น้ำหนักกับการก่อการร้าย และอาวุธทำลายล้างสูง”

พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยกตัวอย่างบทบาททางการทหารของสหรัฐฯในการรักษาความมั่นคงในชาติ เช่นเหตุการณ์จราจลในลอสแองเจอลิส ปี 1992 การรักษาความสงบเรียบร้อยหลังพายุเฮอริเคนแคททาลินาถล่มเมืองหลุยเซียน่า ซึ่งมาจากการที่สหรัฐฯกำหนดบทบาทให้กองทัพอย่างชัดเจนและมีกฎหมายรองรับปฎิบัติการที่ไม่ใช่สงคราม

นอกจากนี้งานวิจัย ยังเสนอให้กองทัพจัดฝึกศึกษาและจัดทำหลักสูตรภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เชิงบูรณาการ ทั้งด้านบุคลากร สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในกองทัพ

จะเห็นว่าจากวันนั้นถึงวันนี้ จากวันที่ยังเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ จนก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ มักจะคิดและวางแผนระยะยาวในการทำงาน โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง งานวิจัยชิ้นนี้ตอกย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จับตามองความเป็นไปของบ้านเมืองมาตลอดอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มทำงานวิจัย จากนั้นเป็นต้นมา พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมักจะถูกวางตัวให้เป็นขุนพลในการรับมือกับสถานการณ์ความรุนแรงต่างๆในบ้านเมือง



การที่ พล.อ.ประยุทธ์ โดดขึ้นไปยืนบนเวทีการเมือง คงจะมีคนสงสัยว่าคนที่เป็นทหารมาตลอดชีวิตจะบริหารชาติบ้านเมืองได้หรือไม่

ถ้าย้อนดูผลงานวิจัยที่ทำขึ้นมาจะเห็นว่า “กองทัพ” โดยเฉพาะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในหรือกอ.รมน. จะเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการป้องกันภัยคุกคามความมั่นคงของชาติบ้านเมือง

ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดจากภารกิจต่างๆของคสช.ทั้งการปราบปรามผู้มีอิทธิพล กวาดล้างมาเฟีย จัดระเบียบสังคม จัดการพวกตัดไม้ทำลายป่า กระทั่งถึงภารกิจในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในบ้านเมือง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้กอ.รมน.เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนแทบทั้งสิ้น

ฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ คิดเอาไว้ในใจนานแล้วว่าวันหนึ่งต้องทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง หยุดยั้งการเมืองน้ำเน่าที่รังแต่จะพาประชาธิปไตยลงเหว และถ้าอ่านจากงานวิจัยก็จะพบว่า พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้วว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง เมื่อการเมืองในระบบไม่มีทางออก กองทัพจะก้าวเข้ามาล้างบาง และกองทัพจะยังคงเล่นบท “พี่เลี้ยง” ไปจนกว่าการเมืองในระบบจะกลับเข้าสู่ลู่ทางที่ควรจะเป็น ถือว่าบ้านเราอยู่ในยุค “ทหาร” นำ “การเมือง” ไปก่อน ส่วนจะนานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์