วันพุธ, สิงหาคม 20, 2557

ชวนต่างชาติมาลงทุนภายใต้รัฐบาลทหาร “ประจิน” พูดอะไร ?


ที่มา สื่อไร้เซนเซอร์ : Reporters Without Censors

“ประจิน” พูดอะไร ชวนต่างชาติมาลงทุนภายใต้รัฐบาลทหาร?
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

“ในอดีต เราเคยรบบนหลังช้าง แม้แต่หลังควาย ใช้ดาบใช้หอก วันนี้ไทยเราต้องเรียนรู้ว่าจะรบอย่างไรในสนามเศรษฐกิจ เรารบคนเดียวไม่ได้ ถ้ามีนักลงทุนมาช่วย ทุกอย่างจะเป็นไปได้เร็วขึ้น”

นี่คือคำพูดจากปากของพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ที่ James Hookway นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal สื่อด้านเศรษฐกิจและการเมืองชื่อดัง ของสหรัฐฯ ใช้ปิดท้ายรายงานข่าวที่ชื่อ “Thai Military Man Woos Investors in New Role: Prajin Dons a New Uniform as Economics Czar” ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ทหารไทยในบทบาทใหม่ เอาใจนักลงทุน: ประจินสวมยูนิฟอร์มใหม่รับบทพระเจ้าซาร์เศรษฐกิจ” (อ่านบทความฉบับเต็มได้จาก http://online.wsj.com/articles/thai-military-man-woos-investors-in-new-role-after-may-coup-1408342104 )

การเลือกเอาวาทะที่ พล.อ.อ.ประจิน ทหารอากาศผู้ผันตัวเองมาเป็นเจ้าพ่อคุมเศรษฐกิจไทยใช้การรบบนหลังช้างมาเปรียบกับการรบในสนามเศรษฐกิจ เป็นประโยคปิดท้ายข่าว คงไม่ได้มาจากความประทับใจที่นักข่าว Wall Street Journal ผู้คร่ำหวอดในวงการเศรษฐกิจมีต่อนายทหารผู้นี้ แต่เป็นเพราะนี่คือประโยคที่สะท้อนว่าผู้ที่กำลังวางโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสนับสนุนการลงทุนของไทย คือทหาร ที่คิดอะไรอยู่ในกรอบแคบๆของการสู้รบ แถมยังเป็นการสู้รบแบบโบราณเสียด้วย

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พล.อ.อ.ประจินในชุดสูทหรูเนี้ยบ ได้เปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชน และบรรยายสรุปให้กับบรรดานักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการเงิน ภายใต้บรรยากาศหรูหราของโรงแรมโอเรียนเต็ล และในวันเสาร์ ก็ได้พาบรรดานักลงทุนเหล่านี้เข้าพบพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร เพื่อพยายามเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาช่วยเติมเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจไทยที่กำลังง่อนแง่น

แต่จากรายงานของ Wall Street Journal ก็พอจะมองเห็นได้ว่าความพยายามครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ไม่ว่าจะเป็นการที่พลเอกประยุทธถูกซักถามเกี่ยวกับการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่ไม่ยกเลิกเสียที จนกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนไม่สามารถกำจัดออกไปจากการคำนวณบริหารความเสี่ยงในการลงทุนในไทยได้ หรือการที่ พล.อ.อ.ประจินเอาแต่พูดเรื่องเมืองไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ว่าไทยเคยเป็นผู้นำของภูมิภาคในทุกๆด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว เป็นสยามเมืองยิ้ม และเป็นแหล่งลงทุนใหญ่ของต่างชาติ

Wall Street Journal ตบท้ายความฝันของประจินอย่างเจ็บแสบด้วยการบอกว่า จะทำให้ไทยกลับมาอยู่ในสถานะเดิมได้ คงต้องใช้มากกว่าการจัดทัวร์แถลงข่าวสร้างภาพและการทำมาเป็นญาติดีเกินเหตุกับนักลงทุนอย่างนี้

ไทยเพิ่งจะสูญเสียตำแหน่งฮับด้านอุตสาหกรรมในภูมิภาคให้กับเวียดนามและอินโดนีเซีย เมื่อนักลงทุนรายใหญ่ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ต่างทยอยย้ายฐานการผลิตไปตั้งแต่ช่วงรัฐประหารครั้งที่แล้ว ตอนนั้นทหารให้คำมั่นว่าจะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก แต่ระยะหลายปีหลังจากนั้น ประเทศก็เต็มไปด้วยความวุ่นวาย การประท้วง ตามมาด้วยการรัฐประหารครั้งที่สองในรอบ 8 ปี ซึ่งถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับนักลงทุนผู้ต้องการการเมืองที่มีเสถียรภาพ

พล.อ.อ.ประจินแบไต๋ยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจฉบับกองทัพอากาศ ว่ารัฐบาลจะใช้ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตกทอดมาจากยุคของตระกูลชินวัตร ผสมกับการบริหารงานแบบเทคโนแครต แบบเดียวกับยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยบูมอย่างมากมาแล้วในช่วงทศวรรษที่ 1980-1990

จนถึงขณะนี้ ยุทธศาสตร์แบบที่ว่า ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินให้ชาวนาในโครงการจำนำข้าว หรือการออกนโยบายมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท พัฒนารถไฟรางคู่และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งพล.อ.อ.ประจินโฆษณาว่าจะเป็นการเปิดตลาดภาคเหนือและอีสานให้กว้างขึ้น สร้างงานสร้างรายได้ ลดการอพยพมาทำงานในเมืองหลวงอันแออัดอย่างกรุงเทพฯ

ฝันของ พล.อ.อ.ประจินจะเป็นจริงแค่ไหน และจะซื้อใจชาวอีสานและเหนือ ฐานเสียงอันแข็งแกร่งของตระกูลชินวัตรได้หรือไม่ คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความช่วยเหลือจากนักลงทุนต่างชาติอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับว่าทหารอากาศผู้นี้ จะนำพาเศรษฐกิจอันป่วยไข้ของไทยภายใต้รัฐบาลทหารไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่มากกว่า